GISTDA เปิดตัว แอปพลิเคชันเช็คน้ำ นวัตกรรมเตือนภัยทางน้ำจากเทคโนโลยีอวกาศ รู้ทุกเรื่องน้ำได้ในแอปเดียว

Share

Loading

จากความสำเร็จของ แอปพลิเคชั่นเช็คฝุ่น กับ แอปพลิเคชั่นเช็คแล้ง ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีอวกาศ และประโยชน์จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการคาดการณ์และเตือนภัยธรรมชาติ ที่เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของนักวิจัยไทย มาในวันนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เปิดตัว แอปพลิเคชันเช็คน้ำ อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพี่น้องชาวไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำ

เพราะแอปพลิเคชั่นเช็คน้ำ สามารถให้ข้อมูลระดับน้ำ พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง โดยอ้างอิงข้อมูลทั้งจากอวกาศและภาคพื้นดินที่นำมาวิเคราะห์ร่วมกัน อีกทั้งยังมีข้อมูลกลุ่มเมฆฝน และพื้นที่น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ซึ่งพัฒนาโดยเจ้าหน้าที่ GISTDA ทั้งโมเดลการวิเคราะห์ข้อมูล ระบบหน้าบ้านและหลังบ้าน

โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนา แอปพลิเคชันเช็คน้ำ ก็เพื่อลดความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมให้กับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำหรือในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมเป็นประจำได้รับรู้ถึงมวลน้ำที่กำลังจะมาถึง

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำ หรือในกรณีที่มีความเสี่ยงที่น้ำจะล้นตลิ่ง แอปพลิเคชันก็จะมีการคาดการณ์พื้นที่น้ำที่จะท่วมให้ประชาชนได้เฝ้าระวังและเตรียมตัวได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากแอปพลิเคชันจะแสดงตำแหน่งของผู้ใช้งานเทียบกับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันเช็คน้ำ เปิดให้ดาวน์โหลดแล้วทั้งระบบ iOS และ Android การเริ่มต้นใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน แต่จำเป็นต้องเปิดให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้งาน เพื่อที่เราจะได้รับรู้ถึงระดับความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ที่เรากำลังอยู่และเพื่อการรับมือได้อย่างทันการณ์ ซึ่งบทความนี้เราจะมาให้รายละเอียดข้อมูลที่แสดงในแต่ละเมนูที่ปรากฏในแอปพลิเคชันกัน

รีวิวเมนูใน แอปพลิเคชันเช็คน้ำ รู้ทันเรื่องน้ำในทุกมิติ

เมนู HOME

เมื่อเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมาข้อมูลแรกที่ปรากฏบนแผนที่นอกเหนือจากตำแหน่งของเราที่แสดงเป็นจุดสีฟ้าก็คือ ตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำ หรือที่เรียกว่า “สถานีระดับน้ำในลำน้ำ” ที่ติดตั้งตามริมแม่น้ำกระจายทั่วประเทศ แสดงเป็น 3 สีแบ่งตามสถานะระดับน้ำ ได้แก่ “สีเขียว” คือระดับน้ำปกติ “สีเหลือง” คือระดับน้ำสูงหรือแจ้งเตือน และ “สีแดง” น้ำล้นตลิ่งหรืออันตราย ทั้งนี้เมื่อเราแตะเหนือตำแหน่งเหล่านี้ จะมีป๊อปอัพแสดงเปอร์เซ็นต์ของระดับน้ำตามด้วยชื่อสถานีตรวจวัดระดับน้ำแต่ละสถานี เช่น 95.83% องครักษ์ เป็นต้น

ข้อมูลตำแหน่งและระดับน้ำในแม่น้ำจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่ปรากฏในแอปพลิเคชันเช็คน้ำนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากหลากหลายหน่วยงานที่มีส่วนช่วยกันสร้างและบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดฯเหล่านี้ เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

โดยข้อมูลระดับน้ำในแม่น้ำจากแต่ละสถานีจะถูกส่งมาที่ฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันเช็คน้ำทุกๆ 10 นาที ดังนั้นข้อมูลระดับน้ำในแอปพลิเคชันเช็คน้ำจะมีการอัพเดททุกๆ 10 นาทีเช่นกัน และระบบยังคำนวณหาอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำของแต่ละสถานี จากข้อมูลระดับน้ำต่างช่วงเวลากันของแต่ละสถานีได้อีกด้วย

ข้อมูลอัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำถูกนำมาใช้ในการแบ่งประเภทของความอันตรายของระดับน้ำในแต่ละสถานี โดยจะทำการเปลี่ยนสถานะจากระดับปกติหรือสีเขียวเป็นระดับแจ้งเตือนหรือสามเหลี่ยมสีเหลือง ในกรณีที่ค่าต่างๆบ่งชี้ว่าน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะล้นตลิ่งภายใน 4 ชั่วโมงข้างหน้า เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม แต่ทว่าความเป็นจริงบางครั้งน้ำอาจจะไม่ท่วมจริง ทั้งนี้เนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยในโลกภายนอกที่นอกเหนือการควบคุมและไม่สามารถแปลงค่าเข้าสู่โมเดลการวิเคราะห์ของแอปพลิเคชันเช็คน้ำได้

เมนูน้ำท่วม

เมนูน้ำท่วม เป็นเมนูแรกสุดทางด้านซ้ายมือบนแถบเมนูที่อยู่ด้านล่างจน แน่นอนว่าก็จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับพื้นที่น้ำท่วม ณ เวลาใกล้เคียงปัจจุบัน แสดงเป็นพื้นที่สีฟ้า สกัดมาจากข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-1 โดยการวิเคราะห์ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีรอบในการอัพเดทข้อมูลประมาณ 5 วันตามลักษณะวงโคจรของดาวเทียม

นอกจากนั้นยังมีการซ้อนทับด้วยข้อมูลตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำพร้อมสถานะของระดับน้ำแสดงเป็น 3 สีเช่นเดียวกัน ส่วนชั้นข้อมูลสภาพจราจรบนถนนสายหลักๆ ทั่วทั้งประเทศ เพื่อไว้สำหรับเป็นข้อมูลให้คนขับรถไว้ตรวจสอบ หากถนนบางจุดมีน้ำท่วมถนนขังจนไม่สามารถผ่านไปได้ก็จะปรากฏเป็นแถบสีแดง นับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับการวางแผนเดินทางกันล่วงหน้าในช่วงหน้าฝนนี้

เมนูกลุ่มฝน

จะให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเมฆฝน ณ เวลาใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อมูลจากดาวเทียม Global Satellite Mapping of Precipitation (GSMaP) ดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่น โดยมีรอบอัพเดทประมาณทุกๆ 30-45 นาที พร้อมการนำเสนอด้วยเฉดสีที่หลากหลาย แบ่งตามปริมาณฝนที่ตกในหน่วยมิลลิเมตรต่อชั่วโมง แสดงควบคู่กับข้อมูลตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำพร้อมสถานะของระดับน้ำแสดงเป็น 3 สี ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าระวังเหตุการน้ำท่วมฉับพลัน

เมนูคาดการณ์

ในเมนูคาดการณ์ การแสดงผลทุกอย่างแทบจะเหมือนกับเมนู HOME คือมีข้อมูลตำแหน่งสถานีตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำพร้อมสถานะของระดับน้ำแสดงเป็น 3 สีปรากฏให้เห็นเด่นชัด แต่ถ้าหากลองซูมไปที่บริเวณตำแหน่งของสถานีวัดระดับน้ำที่อยู่ในสถานะแจ้งเตือน (สามเหลี่ยมสีเหลือง) หรือสถานะอันตราย (จุดสีแดงกระพริบ) จะปรากฏพื้นที่สีแดงส้มอยู่รอบๆ ตัวตำแหน่งสถานีฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหากเกิดเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งขึ้นมา และถ้าตำแหน่งของเราตกไปอยู่ในพื้นที่สีแดงเหล่านี้ ก็ให้เตรียมตัวรับมือได้ทันที

ข้อมูลพื้นที่คาดการณ์ที่จะได้รับได้ผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งนี้ ระบบได้วิเคราะห์จากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมย้อนหลังและข้อมูลน้ำล้นตลิ่งย้อนหลัง 10 ปี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความสูงของน้ำจากตลิ่งและพื้นที่น้ำท่วมที่ไหลบ่าออกไปจากแนวแม่น้ำ จากนั้นจึงนำมาเป็นเปรียบเทียบใช้กับข้อมูลระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำในปัจจุบัน ก็จะได้พื้นที่คาดการณ์ที่น้ำจะไหลไปท่วมหากเกิดล้นตลิ่ง ณ ความสูงของน้ำในปัจจุบันนั่นเอง

เมนู ปี 2554

สุดท้ายเมนู ปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่หลายคนจำได้ไม่มีวันลืมถึงวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะตอนกลางของประเทศ และข้อมูลที่แสดงในเมนูนี้นอกเหนือจากตำแหน่งของสถานีวัดระดับน้ำก็คือ พื้นที่น้ำท่วมสะสมตลอดทั้งปี 2554 ตั้งแต่มกราคมจนถึงธันวาคมครอบคลุมทั้งประเทศ แสดงเป็นพื้นที่สีฟ้าขนาดใหญ่บนแผนที่ เพื่อไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงในกรณีที่น้ำมีปริมาณมากหรือมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2554 เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือคอยเฝ้าระวังได้รู้ทันล่วงหน้าถึงทิศทางของน้ำที่จะไหลไปสร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนในทิศทางไหนบ้าง

สรุป 5 ข้อดีแอปพลิเคชันเช็คน้ำ รู้เร็ว รู้ทันภัยน้ำ ด้วยเทคโนโลยีจากอวกาศ

ต่อมา GISTDA ได้สรุปจุดเด่นของแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” โดยจะบอกเล่าในมุมของการนำไปประยุกต์ใช้งานจริง ดังต่อไปนี้

รวมข้อมูลที่จำเป็นครอบคลุมทั้งประเทศมาไว้ในแหล่งเดียว

แอปพลิเคชั่น “เช็คน้ำ” ได้ปรับโฉมการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องการให้เกิดคุณค่ากับผู้ใช้งานได้มากและรวดเร็วที่สุด ระบบได้เชื่อมต่อและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายแหล่ง ส่วนหนึ่งจัดแสดงบนแอปพลิเคชันและอีกส่วนเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้การวิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่น้ำท่วมด้วยระบบหลังบ้าน เช่น ข้อมูลกลุ่มเมฆฝน ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมทั้งประเทศทั้งแบบปัจจุบันและย้อนหลังไป 10 ปี ข้อมูลความสูงระดับน้ำ ณ ปัจจุบันจากสถานีตรวจวัดระดับน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้รับผลการวิเคราะห์พื้นเสี่ยงภัยน้ำท่วมแบบเรียลไทม์แค่เพียงปลายนิ้วคลิกที่เมนูคาดการณ์ในแอปพลิเคชั่น

ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องและใกล้เคียงเวลาจริง

นับว่าเป็นความสามารถที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ใช้งาน ด้วยการออกแบบระบบของแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” ที่ใช้ข้อมูลที่ใกล้เคียงเวลาจริง (Near-Realtime) มาวิเคราะห์และเชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูลทำให้ข้อมูลฟีดเข้าสู่โมเดลการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง เช่น สถานะของระดับน้ำของน้ำในแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสถานีตรวจวัดระดับน้ำจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยมีรอบการอัพเดททุกๆ 10 นาที ข้อมูลกลุ่มเมฆฝน เชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูลดาวเทียม GSMap ดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่น ที่อัพเดททุกๆ 30-45 นาที เป็นต้น

ขณะที่ ข้อมูลอัพเดทที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์หาพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอุทกภัยได้ทันเวลา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติและปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องด้วย

ข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้ทำให้เข้าใจผลการวิเคราะห์ง่ายขึ้น

เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติมาแล้วมากมาย แต่ทว่าบางคนก็ไม่ถนัดการอ่านแผนที่ บางคนไปเจอแผนที่ที่ไม่อัพเดทมาเป็นเวลานาน และส่วนมากไม่สามารถระบุตำแหน่งของตนเองบนแผนที่ได้จึงไม่รู้ว่าพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่หรือบ้านเรือนของตนเองนั้นเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้คืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เหล่านี้มีการใช้งานในวงจำกัดมาตลอด

แต่ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” สามารถระบุตำแหน่งของมือถือของผู้ใช้งานได้อย่างง่ายดาย แสดงด้วยสัญลักษณ์เป็นจุดสีฟ้าบนแผนที่ในแอปพลิเคชัน ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีความสำคัญอย่างมากในเชิงการสร้างการรับรู้ถึงผลกระทบที่จะมาถึงจากน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อจุดสีฟ้าหรือตำแหน่งของผู้ใช้ปรากฏอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ผู้ใช้จะทำความเข้าใจได้ไม่ยากและจะเกิดการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถตรวจสอบได้ที่เมนูคาดการณ์

เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้ที่หลากหลาย

ในแต่ละเมนูของแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” จะให้ข้อมูลที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละเมนูก็จะมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ใช้งานที่แตกต่างกันด้วย นี่เป็นสิ่งที่นักพัฒนาได้ออกแบบและตั้งใจไว้เพื่อให้แอปพลิเคชันเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยจะสามารถแบ่งกลุ่มผู้ใช้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป : กลุ่มนี้ถือเป็นผู้ใช้งานหลัก มีความต้องการข้อมูลที่พร้อมใช้ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป มีคำถามก่อนการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน อาทิ ปัจจุบันน้ำท่วมพื้นที่ไหน  ฝนตกกำลังตกหนักที่ไหนบ้าง พื้นที่ไหนควรต้องระวังเรื่องน้ำล้นตลิ่ง ถนนเส้นไหนกำลังถูกน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งสามารถหาคำตอบได้จากเมนูดังต่อไปนี้ “เมนูน้ำท่วม” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่น้ำท่วมปัจจุบัน พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง พื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม และข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์

ต่อไป “เมนูกลุ่มฝน” ให้ข้อมูลพื้นที่ที่กำลังเกิดฝนตก และสุดท้าย “เมนูคาดการณ์” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมแบบเรียลไทม์ เมนูเหล่านี้เป็นเมนูที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ใช้กลุ่มนี้ที่ให้ข้อมูลแบบตรงไปตรงมา

กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในพื้นที่ : กลุ่มนี้จะมีหน้าที่เฉพาะด้านคือการเฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินจากน้ำท่วม ซึ่งมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ดีระดับหนึ่ง นอกเหนือจากจะใช้ประโยชน์จากเมนูทั้ง 3 เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแล้ว โดยเฉพาะ “เมนูคาดการณ์” ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมแบบเรียลไทม์นั้น เมื่อผสมผสานกับความคุ้นเคยพื้นที่ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้มีการแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงทีและเข้าถึงกลุ่มคนในพื้นที่ได้มากและรวดเร็ว

อีกทั้ง “เมนู 2554” ที่ผู้ใช้ต้องอาศัยทักษะการตีความแผนที่เพื่อให้ทราบถึงความเป็นไปได้ของขอบเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ หากปริมาณน้ำท่วมสะสมบนผิวดินนั้นมากถึงขั้นใกล้เคียงกับปริมาณน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมสะสมตลอดปี 2554 นี้จะช่วยเป็นข้อมูลอ้างอิงได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีโอกาสน้ำท่วม

ลดความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

การลดความเสียหายหรือความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วมนั้น คือหัวใจหรือวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” เพื่อประชาชนคนไทย เพราะสำหรับผู้คนที่ปลูกบ้านสร้างเรือนในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี จะรู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในแต่ละปีเราก็มักจะได้ยินเสียงจากชาวบ้านบอกว่าหากมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าสักหน่อยก็จะสามารถเก็บข้าวของหนีน้ำได้ทัน จนกลายเป็นเรื่องที่เราคุ้นหูกันในแต่ละปี

ขณะที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมจะยังดำเนินต่อไป แม้ในบางพื้นที่อาจจะไม่สามารถแก้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่เราสามารถช่วยกันป้องกันหรือลดความสูญเสียได้ด้วยการแจ้งเตือนล่วงหน้าจากแอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” ที่นำข้อมูลจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ประกอบกับการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีอวกาศหรือภาพถ่ายดาวเทียม และเซนเซอร์ตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำจากหน่วยงานต่างๆ

อีกทั้งยังมีการเปรียบเทียบกับค่าสถิติในอดีต เช่น ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมและข้อมูลน้ำล้นตลิ่งย้อนหลัง 10 ปี เป็นต้น ทำให้แอปพลิเคชัน “เช็คน้ำ” สามารถช่วยสนับสนุนในส่วนการเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสียหายของพี่น้องประชาชน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/11/12/gistda-water-risk-forecast-innovation/