EV conversion ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว

Share

Loading

EV conversion หรือ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เป็นการนำรถเก่าที่ใช้น้ำมัน มาเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่ เพื่อเปลี่ยนจากการเติมน้ำมันมาเป็นระบบไฟฟ้า 100%

ทำไมเราต้องทำ EV conversion ในเมื่อที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนค่ายรถยนต์ให้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปแบบเดิม และค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็เริ่มลดจำนวนการผลิตรถยนต์แบบเดิม หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 เราจะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งอยู่บนถนนไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

สิ่งที่เราเริ่มเห็นมากขึ้นในเวลานี้คือ การขยายจุดชาร์จไฟฟ้าไปตามสถานที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในปั๊มน้ำมันที่เริ่มมีการติดตั้งตู้เติมอีวีมากขึ้น ในห้างสรรพสินค้า ดิสเคาน์สโตร์ แม้กระทั่งออฟฟิศขนาดใหญ่หรือคอนโดมิเนียม  เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีที่ชาร์จไฟ  ในขณะที่ผู้ผลิตแบตเตอรี่ก็เริ่มเดินสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมอย่างจริงจัง

แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคารถยนต์ไฟฟ้ายังค่อนข้างสูง ราคาเริ่มต้นต่อคันแตะหลักล้าน แม้รัฐบาลจะสนับสนุนส่วนลดให้คันละ 1.7 แสนบาท แต่ส่วนที่ต้องจ่ายก็ยังค่อนข้างสูงอยู่ดี คนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ขาย คนขับรถบริการ คงหมดปัญญาจะหาซื้อมาใช้ นอกจากปัญหาราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังค่อนข้างแพงแล้ว ในประเทศไทยยังมีรถแบบเติมน้ำมันสูงถึง 40 ล้านคัน ทำให้อุตสาหกรรม EV conversion ถูกหยิบยกมาพูดถึงเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

“แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศแรกที่สร้างอุตสาหกรรม EV conversion แต่ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่บรรจุนโยบายการพัฒนา EV conversion ไว้ในแผนระดับชาติ ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์” ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากร และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวถึงนโยบายอุตสาหกรรม EV conversion พร้อมกับขยายความต่อว่า

“ประเทศไทยมีรถที่สัญจรในปัจจุบัน 40 ล้านคัน มีปัญหามาก เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน มีแบตเตอรี่ลิเทียมเข้ามาแล้ว เป็นอีวีแล้ว แต่ที่หนักหนาสาหัสคือรถยนต์สันดาปซึ่งเป็นตัวปล่อยคาร์บอนจะทำยังไง ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ นโยบายลดการปล่อยคาร์บอนภายใน 10 ปีก็เป็นไปไม่ได้ ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาแพง ชาวบ้านหรือคนทำมาหากินไม่สามารถซื้อได้ เราจึงต้องมาดูว่าทำอย่างไรจึงจะยิงนกหลายตัวด้วยกระสุนนัดเดียว นั่นก็คือการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV conversion หรือ รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ด้วยการนำรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นระบบไฟฟ้า นอกจากจะช่วยให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ถูก ช่วยกลุ่มคนทำมาหากินอย่างรถแท็กซี่ให้มีรายได้มากขึ้นเพราะต้นทุนการใช้พลังงานถูกลง ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากทำให้อู่ซ่อมรถยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายเล็กๆ ที่ยังไม่พร้อมก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หันมาให้บริการติดตั้งเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง”

ปริพัตร บูรณสิน ที่ปรึกษาสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรม (Institue for Electric Vehicle Innovation) และ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นอีกคนที่ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV conversion นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงแล้ว ยังเป็นการช่วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้มีเวลาปรับตัว ก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว

เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ ยังมีขีดจำกัดในการปรับตัวไปผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากการขาดเทคโนโลยีที่จำเป็น การต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรการผลิต ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ทำให้ระยะเวลาสร้างผลตอบแทนการลงทุนสั้นกว่าธุรกิจเดิมมาก ถึงแม้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะตระหนักและเข้าใจว่า โอกาสในการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงในการเข้าสู่ธุรกิจอีวีได้ การมีอุตสาหกรรม EV conversion จะสร้างความต้องการชิ้นส่วนเพื่อให้รถที่จะนำมาดัดแปลงมีสภาพปลอดภัย ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนจึงมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการปรับตัว

“ปัจจุบันเรามีบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ในระบบประมาณ 1,667 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับจ้างผลิตภายใต้คำสั่งซื้อของบริษัทผลิตรถยนต์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนพวกนี้มีขีดจำกัดในการเปลี่ยนผ่าน เพราะที่ผ่านมาเขาผลิตภายใต้คำสั่งซื้อหรือการออกแบบมาจากบริษัทต่างประเทศ ไม่ได้ทำอาร์แอนด์ดีเอง ไม่ได้ออกแบบเอง ผลิตให้มีคุณภาพดี ข้อเสียน้อย เร็ว ถูก ถ้าเราจะบอกให้บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนไปผลิตอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นไฮเทค เขาไม่พร้อม นอกจากนั้นรถยนต์น้ำมันในอดีตมีชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้น ส่วนที่มีชิ้นส่วนมากที่สุดคือระบบเครื่อง ซึ่งพอเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ จาก 30,000 ชิ้นเหลือ 3,000 ชิ้น ชิ้นส่วนที่หายไปมากที่สุดคือชิ้นส่วนในระบบเครื่อง คำถามคือเมื่อชิ้นส่วนหายไปมาก ผู้ประกอบการชิ้นส่วนจะปรับตัวอย่างไร” คุณปริพัตร กล่าว

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในบ้านเราแต่ละปีมีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท เราจะรักษาไว้อย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนทันที แต่ถ้าทำเป็นยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน โดยนำรถเก่าที่มีมาดัดแปลง ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยังมีเวลาปรับตัว เพราะว่าบอดี้ยังเป็นบอดี้เดิม อุปกรณ์ต่างๆ ยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเรายืดอายุผู้ประกอบการชิ้นส่วนออกไปได้ ทำให้เขามีเวลาเพียงพอในการปรับตัว

ขณะที่ผู้ประกอบการอู่ซ่อมต่างๆ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่มีระบบที่ต่างไปจากเดิมมาก ผู้ประกอบการอู่ซ่อมยังไม่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ทัน ถ้าจำนวนรถยนต์ใช้น้ำมันลดลงและรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะสูญเสียอาชีพ เรามีอู่ทั่วประเทศที่จดทะเบียนในระบบของกระทรวงพาณิชย์ประมาณเกือบ 20,000 อู่ แต่ถ้ารวมอู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน อู่เล็กอู่น้อยอีกหลายหมื่นอู่ ซึ่งอู่พวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่างหม้อน้ำ ช่างไดนาโม ช่างแอร์ ฯลฯ ถ้าเราเปลี่ยนระบบแบบทันทีทันใด จากรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า พวกเขาซ่อมไม่ได้ เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีอีกแบบ ถ้าเราเปลี่ยนผ่านแบบไม่มีการจัดการ หรือไม่คิดให้รอบคอบ จะมีกลุ่มบุคคลที่สูญเสียอาชีพถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก ดังนั้น การนำรถเก่ามาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เรายังรักษาอาชีพคนอยู่ได้จำนวนมาก เพราะระบบของรถ โช๊ค หม้อน้ำ คลัทช์ เกียร์ ฯลฯ ยังเป็นแบบเดิม นอกจากจะลดภาระฝั่งผู้บริโภคแล้ว ยังรักษาอาชีพ ยืดระยะเวลาของหลายอาชีพออกไปได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาสังคมด้วย

“จาก pain point ดังกล่าว ทำให้เรามองว่าแทนที่จะสนับสนุนให้คนไปซื้อรถใหม่อย่างเดียว นำรถเก่าซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดีกว่าไหม ลดภาระ ลดหนี้ครัวเรือน อาจยังมีภาระทางการเงินอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับการซื้อรถใหม่ถือว่าถูกกว่ามาก” คุณปริพัตร สรุปความสำคัญของอุตสาหกรรม EV conversion

จะกล่าวว่าอุตสาหกรรม EV conversion เปรียบเสมือนการยิงปืนด้วยกระสุนนัดเดียวแต่ได้นกหลายตัวก็ไม่น่าจะผิด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/03/13/ev-conversion-new-thailand-ev-industry/