รถไฟฟ้าสื่อสารกับศูนย์ควบคุมการเดินรถได้อย่างไร?

Share

Loading

ในอดีตระบบสื่อสารที่ใช้สำหรับการบริหารจัดการการเดินรถไฟเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในช่วงต้นปี ค.ศ. 1840 ที่ประเทศอังกฤษ โดยระบบที่ใช้งาน คือ ระบบโทรเลข (Telegraph) ซึ่งในศตวรรษที่ 19 ระบบโทรเลขได้มีบทบาทเป็นอย่างมากในการใช้งานสื่อสารในระบบรถไฟ โดยใช้สายนำสัญญาณโทรเลขซึ่งติดตั้งตลอดแนวรางรถไฟ ทำให้ศูนย์ควบคุมการเดินรถสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลตารางการเดินรถ รวมถึงการประสานงาน และใช้สำหรับอำนวยการด้านความปลอดภัย

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ระบบโทรศัพท์เริ่มเข้ามามีบทบาท และถูกใช้งานทดแทนระบบโทรเลข จนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 ระบบโทรศัพท์ที่ใช้สำหรับการสื่อสารข้อมูลเพื่อใช้บริหารการเดินรถไฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อดีของระบบโทรศัพท์ คือ สามารถที่จะติดต่อสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและท้นเวลามากขึ้น

ระบบอาณัติสัญญาณ ได้เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการการเดินรถไฟและเริ่มมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่ยุคของ Modern Signalling System เช่น CBTC (Communication-Based Train Control) และ PTC (Positive Train Control) เป็นต้น

MODERN SIGNALLING SYSTEM

Modern Signalling System ทำให้ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หรือเรียกว่า Central Control Center สามารถติดต่อสื่อสารกับตัวรถไฟ หรือรถไฟฟ้าได้ ทำให้สะดวกต่อบริหารจัดการการเดินรถไฟ

โดยระหว่างศูนย์ควบคุมการเดินรถ และรถไฟฟ้าสื่อสารกันได้ผ่านช่องทางการสื่อสารไร้สาย หรือเรียกว่า Broadband Wireless ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีอัตราการรับส่งข้อมูลขั้นต่ำเริ่มตั้งแต่ 768 kbps เป็นต้นไป เช่น GSM-R (Global System for Mobile Communications-Railway), LTE-R (Long-Term Evolution for Railway), FRMCS (Future Railway Mobile Communication System) และ Wi-Fi เป็นต้น

ในการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าในเมือง มีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ โดยมาตรฐานที่นิยมนำมาใช้งานสื่อสารระหว่างตัวรถไฟฟ้ากับศูนย์ควบคุมการเดินรถ คือ Wi-Fiย่านความถี่ 2.4 GHz และ 5 GHz ซึ่งสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้าและสามารถทะลุสิ่งกีดขวางได้ดี ในขณะที่การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองหรือรถไฟฟ้าระหว่างเมืองสามารถใช้ช่องทางการสื่อสารผ่าน GSM-R, LTE-R หรือ FRMCS เป็นต้น

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะทาง อัตราการรับ-ส่งข้อมูลที่ต้องการ ปัจจัยเหล่านี้จะสัมพันธ์กับ Application ที่ใช้งาน เช่น จำนวนกล้องโทรทัศน์วงจรปิดซึ่งทำให้ศูนย์ควบคุมสามารถรับชมภาพเหตุการณ์สดที่เกิดขึ้นบนขบวนรถไฟฟ้าได้ เป็นต้น

โดย Application ที่ใช้งานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ  คือ ส่วนที่ใช้สำหรับบริหารจัดการการเดินรถหรือระบบอาณัติสัญญาณ (Signalling System) และส่วนที่ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารกับระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในขบวนรถ เช่น ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ระบบประกาศข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ระบบโทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งสามารถรองรับการให้บริการ Wi-Fi สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บริการขณะเดินทางอยู่บนขบวนรถไฟฟ้าได้

รถไฟฟ้าสื่อสารกับศูนย์ควบคุมได้อย่างไร?

ระบบรถไฟฟ้าในเมืองส่วนใหญ่นิยมใช้การสื่อสารผ่านระบบแลนไร้สาย (Wi-Fi) โดยรถไฟฟ้าจะรับ-ส่งสัญญาณระหว่างขบวนรถกับเสาสัญญาณข้างทาง และเมื่อรถไฟฟ้ามีการเคลื่อนที่จะเปลี่ยนการเชื่อมต่อไปยังเสาถัดไป เพื่อทำให้การสื่อสารกับศูนย์ควบคุมการเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์ควบคุมการเดินรถทำหน้าที่บริหารจัดการเดินรถทั้งหมดในโครงข่ายให้มีความปลอดภัย ตรงเวลา สามารถบริหารการเดินรถทั้งโครงข่ายได้อย่างสมบูรณ์

เรื่องโดย Dr.RailThink

ขอบคุณ
กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
อาคาร ณ ถลาง ชั้น 4 – 5 เลขที่ 514/1 ถนนหลานหลวง
แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต  โทร 02 164 2626
admin@drt.go.th   drt.go.th