ปัจจัยพื้นฐานด้าน Digital ที่รัฐต้องปลดล็อก คือ 5G ที่เราควรได้ใช้ประโยชน์สูงสุด

Share

Loading

โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่พร้อมจะก้าวสู่ความล้ำหน้า เช่น เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เป็นเขตอุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำในอนาคต หรือเป็นสมาร์ทซิตี้ แน่นอนว่าต้องมี Digital Infrastructure ที่พร้อมใช้งานเป็นปัจจัยพื้นฐาน

ในขณะที่เราเผชิญวิกฤตการระบาดของโรคอุบัติใหม่ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมาคือ การเชื่อมต่อทางดิจิทัล

โดยเฉพาะ 5G เทคโนโลยีชั้นนำที่สามารถพัฒนาร่วมกับคลื่นความถี่หลักที่ใช้กันทั่วโลกได้ และจากการเปิดตัวให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ครั้งแรกของโลกที่ประเทศเกาหลีใต้ ยิ่งทำให้เห็นถึง ‘ขีดความสามารถ’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเทคโนโลยีที่สามารถพลิกรูปแบบการใช้งานได้อย่างหลากหลายและทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

5G กุญแจที่ปลดล็อกประเทศไปสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

สำหรับประเทศไทย ก้าวแรกของการใช้งาน 5G คือการนำคลื่น 2600 MHz มาใช้งานในภารกิจสำคัญของประเทศ ซึ่งถือเป็นใบเบิกทางที่ดี

แต่หากพิจารณาถึงความสำคัญของการใช้งาน 5G อย่างจริงจัง ต้องมีคลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นหลัก จึงจะสามารถใช้งานเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แต่การปลดล็อกเพื่อใช้งาน 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพราะภาพรวมของ 5G ทั้งคุณภาพการใช้งานและความเร็ว ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลที่จะนำคลื่นความถี่หลักของ 5G มาจัดสรรภายในเวลาที่กำหนดและอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมได้อย่างไร

ทั้งนี้ ปริมาณคลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรและการกำหนดราคา จะมีผลโดยตรงต่อการส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสามารถเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้งานต้องการคลื่นถึง 3 ช่วงความถี่

  • คลื่นความถี่ต่ำ (Sub-1 GHz)
  • คลื่นความถี่กลาง (คลื่นย่าน 2600 MHz และ 3500 MHz)
  • คลื่นความถี่สูง (mmWaves)

คลื่นความถี่สำคัญที่ถูกกำหนดให้เป็นคลื่นแรกสำหรับการให้บริการพื้นฐาน 5G ทั่วโลก คือ คลื่น 3500 MHz

กล่าวคือ คลื่นในช่วงความถี่ 3300-4200 MHz และต้องมีปริมาณความกว้างต่อเนื่องจำนวน 80-100 MHz สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมแต่ละราย จึงจะสามารถนำมาใช้งาน 5G ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับการลงทุนเพื่อให้บริการในระยะแรก

คลื่นความถี่กลาง เป็นคลื่นแรกที่ถูกเลือกมาใช้งาน 5G พร้อมทั้งเป็นกุญแจสำคัญสู่การปลดล็อกในระยะยาวของผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพราะเป็นคลื่นที่มีจุดเด่นทั้งความครอบคลุมพื้นที่ใช้งานและความจุของโครงข่าย จึงเหมาะสมที่จะนำมาเปิดให้บริการ 5G ได้เร็วที่สุด

ส่วนความต้องการคลื่นของผู้ให้บริการที่มากกว่าปริมาณ 80-100 MHz จะเพิ่มตามความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น โดย ประเทศเกาหลีใต้ ผู้บุกเบิกการให้บริการ 5G และเป็นผู้ให้บริการ 5G ที่มีความเร็วมากที่สุดในโลกก็กำลังเตรียมความพร้อมในประเด็นนี้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีของเกาหลีใต้ตัดสินใจที่จะนำคลื่นย่าน 3700-4000 MHz มาใช้งาน 5G เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันคลื่นดังกล่าวได้ใช้งานด้านการสื่อสารดาวเทียม โดยกระทรวงฯ กำลังพิจารณาในการนำคลื่นย่านดังกล่าวมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการให้บริการสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่

การนำคลื่น 3500 MHz มาใช้งาน 5G ในภูมิภาคต่างๆ

  • ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จัดสรรคลื่นย่าน 3500 MHz
  • สิงคโปร์ นำคลื่นย่าน 3500 MHz ในช่วงต้นของย่านความถี่มาจัดสรร
  • มาเลเซีย กำหนดคลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นหลักในการให้บริการ 5G และกำลังวางแผนด้านเทคนิคเพื่อที่จะจัดสรรย่านต้นแบนด์ของคลื่น 3500 MHz มาใช้งาน
  • เวียดนาม กำลังปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมในการใช้งานคลื่น 3500 MHz จำนวนความกว้าง 400 MHz เพื่อกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล
  • ไทย นับเป็นก้าวแรกที่ดีในการนำคลื่น 2600 MHz มาจัดสรร แต่ยังไม่เพียงพอในเชิงการแข่งขันของ 5G ในภูมิภาคอาเซียน ถ้านำคลื่น 3500 MHz มาวางแผนใช้งาน 5G จะช่วยให้ก้าวทันกับนวัตกรรมและสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้

สำหรับประเทศไทย ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี 5G จะมีทั้งการแพทย์ทางไกล การศึกษาทางไกล ระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ฯลฯ ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดก็ทำงานกับรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลมาอย่างยาวนาน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

จอห์น กิอุสติ หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายกำกับดูแลสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA)

“สำนักงาน กสทช. และรัฐบาลไทยควรทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการเร่งสู่ความพร้อมจัดสรรคลื่น 3500 MHz ที่มีความกว้าง 80-100 MHz ต่อผู้ให้บริการแต่ละราย เพื่อประโยชน์สูงสุดที่ประเทศไทยจะก้าวไปพร้อมกับทั่วโลกด้านการใช้งานระบบนิเวศ 5G พร้อมทั้งปลดล็อกสู่การใช้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยี 5G อย่างเต็มที่ในการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กร และ Business to Business (B2B)” จอห์น กิอุสติ หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายกำกับดูแลสมาคมจีเอสเอ็มเอ (GSMA) กล่าว

ยกตัวอย่างการทำธุรกิจแบบ B2B ที่จอห์นกล่าวถึง

  • ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม (industrial automation)
  • อากาศยานไร้คนขับ (autonomous drones)
  • อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things)
  • การใช้งานเครือข่าย 5G แบบแยกส่วน (5G network slicing) ซึ่งคลื่น 3500 MHz จะเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อสู่บริการเฉพาะได้อย่างเต็มที่

สรุปแล้ว เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี 5G ให้ทุกคนนึกถึงความสามารถด้านการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น บริการโทรทัศน์และดาวเทียม แต่ก่อนที่จะนำเสนอบริการและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีที่สุดให้แก่คนในประเทศ รัฐต้องปลดล็อกและลดอุปสรรคที่จะทำให้การใช้งาน 5G ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไปไม่ถึงฝั่งฝันนั่นเอง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/08/11/thailand-5g-digital-infrastructure/