วิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องตกอยู่ท่ามกลางเหตุจลาจล

Share

Loading

เหตุการณ์ก่อจลาจลนั้นคือรูปแบบปฏิกิริยามวลชนอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการพฤติกรรมของกลุ่มคนซึ่งมีเป้าหมายหรือความรู้สึกบางอย่างร่วมกันจึงทำให้เกิดการรวมตัวชุมนุมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนในตอนแรก และไม่สามารถจัดระเบียบและควบคุมได้ในท้ายที่สุด

สำหรับในประเทศไทยเราค่อนข้างจะคุ้นเคยกับคำว่า “ม็อบ” กันเป็นอย่างดี ซึ่งคนไทยเรามักจะเข้าใจว่า คำนี้หมายถึงการรวมตัวกันประท้วงเพื่อเรียกร้องถึงบางสิ่งบางอย่าง แต่จริง ๆ แล้วคำนี้เดิมทีมาจากภาษาลาติน ว่า “mobile vulgus” ซึ่งหมายถึง “ฝูงชนวุ่นวาย” อันเป็นคำที่แสดงถึงพฤติกรรมมวลรวมของกลุ่มคนซึ่งมักมีพื้นฐานมาจากความคับแค้นใจ ซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวายจนไม่สามารถจัดระเบียบและควบคุมได้ ซึ่งจะกลายเป็นเหตุจลาจลในที่สุด

การจลาจลนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุปัจจัย เช่น เป็นการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับภาครัฐ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเชื้อชาติ ความขัดแย้งทางศาสนา การขาดแคลนอาหาร ผลพวงจากการเชียร์กีฬา เป็นต้น

การก่อจลาจลนั้นมักจะประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่อารมณ์ร้อน มีความรู้สึกเก็บกดโมโห และต้องการระบายออกผ่านการใช้ความรุนแรง ซึ่งมักจะมีการทำลายทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานของรัฐ สำนักงานธุรกิจเอกชน ศาสนสถาน บ้านพักของผู้นำประเทศ และทรัพย์สินของประชาชน เช่น รถยนต์ และบ้านเรือน ซึ่งบางครั้งก็อาจบานปลายถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันจนเสียชีวิต

ถ้าหากการก่อจลาจลนั้นไม่สามารถควบคุมให้สงบลงได้โดยสันติ ก็มักจะจบลงด้วยการที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม ตามยุทธวิธีอันเป็นหลักปฏิบัติตามหลักการสากล โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของระดับความรุนแรง และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

จะทำอย่างไรเมื่อตกอยู่ในเหตุจลาจล

กฎพื้นฐานด้านความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด คือการไม่นำตัวเองไปสู่สถานการณ์อันตราย ดังนั้นหากไม่มีเหตุจำเป็น เราไม่ควรที่จะเป็นไทยมุง ไม่ควรจะเข้าไปใกล้กับบริเวณที่มีการชุมนุมประท้วงซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดเหตุจลาจลได้

แต่ถึงกระนั้นก็ตามหากว่าเราได้พลัดหลงเข้าไปอยู่ท่ามกลางเหตุจลาจลแล้ว เราก็ควรที่จะปฏิบัติตัว เพื่อความปลอดภัย ดังนี้

1. ตั้งสติให้มั่น

พยายามควบคุมสติให้ดี อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป ในเบื้องต้นควรทำตัวนิ่ง ๆ ให้ดูกลมกลืนไปกับสถานการณ์รอบข้าง และอย่าวิ่งหนีหรือทำตัวเป็นจุดเด่น จากนั้นให้สังเกตและประเมินความปลอดภัยอยู่เสมอ เช่น ลักษณะของกลุ่มคนรอบข้างเราเป็นอย่างไร มีระดับอารมณ์รุนแรงแค่ไหน ความโกลาหลมากแค่ไหน มีการใช้อาวุธอะไรที่อาจจะเป็นอันตรายกับเราได้บ้าง และพยายามมองหาพื้นที่ปลอดภัย ก่อนจะค่อย ๆ ย้ายตัวเองออกมาจากจุดอันตราย จนสามารถถ่อยหางออกมาจากวงล้อมได้ในที่สุด

2. หลบหลีก

ไม่ควรประจันหน้ากับฝูงชนตรง ๆ และไม่ควรขัดขวางหรือแสดงเจตนาการไม่เห็นด้วย รวมถึงไม่ควรแสดงพฤติกรรมที่อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าคุณอยู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ควรที่จะเน้นการหลบหลีก โดยพยายามจัดเครื่องแต่งกายให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว เช่น ถอดรองเท้าส้นสูง ถอดเนคไท ถอดผ้าพันคอ ปลดกระดุมพับแขนเสื้อ เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงควรที่จะปลดเครื่องประดับและของมีค่าเก็บไว้ในกระเป๋า เพื่อไม่ให้เกิดการล่อตาล่อใจ จนเสี่ยงต่อการถูกปล้นชิงทรัพย์

3. ซ่อนตัว

หากสถานการณ์โกลาหลและล่อแหลมต่อความปลอดภัย จนไม่สามารถจะหลุดออกมาจากวงล้อมได้ ก็ควรที่จะหาสถานที่ซ่อนตัว อย่ายืนเป็นจุดเด่น เช่น การยืนอย่างโดดเดี่ยวอยู่กลางถนน หรือโดดเด่นอยู่บนที่สูง เพราะจะเสี่ยงต่อการถูกลูกหลงได้ รวมถึงหากคุณหลบอยู่ในอาคารควรที่จะเลือกห้องที่ประเมินแล้วว่าปลอดภัยที่สุด จากนั้นให้ซ่อนตัวอยู่ในนั้นเงียบ ๆ อย่างเปิดไฟ หรือส่งเสียงดัง หากมีโทรศัพท์มือถือ ควรส่งข้อความขอความช่วยเหลือ และติดตามข่าวสารสถานการณ์เป็นช่วง ๆ เพื่อที่จะทำให้รู้ถึงความเป็นไปของสถานการณ์ด้านนอก และไม่ควรที่จะอยู่ใกล้กับประตู หรือยืนอยู่ริมหน้าต่าง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการถูกยิงได้

ในกรณีที่มีการเผาอาคารแล้วคุณต้องติดอยู่ภายในอาคาร

ในกรณีที่คุณติดอยู่ในอาคารและต่อมาเกิดการเผาอาคาร สิ่งที่คุณต้องปฏิบัติคือให้หาทางออกจากตัวอาคารให้เร็วที่สุด ควรหาผ้าชุบน้ำปิดจมูกไว้ หากมีควันไฟหนาแน่นให้คลานต่ำเพื่อป้องกันการสำลักควัน ไม่ควรวิ่งหนีขึ้นไปด้านบนของตัวอาคาร แม้ว่าไฟจะยังไม่ไหม้ขึ้นไปถึงชั้นบน เพราะโดยปกติเปลวไฟจะไหม้จากชั้นล่างขึ้นไปหาชั้นบน ดังนั้นคุณควรที่จะวิ่งหนีลงมาด้านล่างจะปลอดภัยที่สุด

กรณีติดอยู่ในห้องโดยไม่สามารถไปไหนได้ หากสัมผัสที่ประตูแล้วรู้สึกถึงความร้อนสูงอย่าเปิดประตูเด็ดขาด แต่ให้หนีออกทางหน้าต่างแทน แต่ถ้าหากติดอยู่ในห้องโดยไม่สามารถไปไหนได้ ให้หาผ้าชุบน้ำมาอุดตามช่องประตูไว้แล้วก้มต่ำ

ในกรณีที่ติดอยู่ในรถท่ามกลางฝูงชน

เมื่อติดอยู่ในรถท่ามกลางฝูงชนที่ก่อจลาจล สิ่งที่ควรทำคือให้ค่อย ๆ ขับต่อไปเรื่อย ๆ อย่าหยุดรถหรือลงจากรถเด็ดขาด ไม่ควรบีบแตร ด่าทอ หรือส่งสัญญาณใด ๆ อันเป็นการแสดงออกว่าคุณไม่พอใจต่อเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น

กรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนรถต่อไปได้อีกแล้ว ให้ระลึกเสมอว่าชีวิตคุณสำคัญที่สุด ให้รีบเก็บของมีค่าและเอกสารสำคัญต่าง ๆ แล้วลงจากรถเพื่อหลีกหนีให้ห่างจากจุดอันตราย

ทั้งหมดนี้คือ “วิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องตกอยู่ท่ามกลางเหตุจลาจล” ที่ทีมงาน Security Systems Magazine ได้หยิบยกมาฝากกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยของเราจะมีความสงบร่มเย็นไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Security Systems Magazine