‘สุวิทย์’ ชูมหาวิทยาลัยพื้นที่สร้างคน-ความรู้-วิจัยเพื่อพลิกความยากจนสู่ความมั่งคั่ง

Share

Loading

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงพื้นที่ประชุม ในหัวข้อเรื่อง ‘บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม’ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและชี้แจง ถึงความจำเป็นในการปลดล็อคมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุดมศึกษา และเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยตามกลุ่มยุทธศาสตร์ คือ

  1. มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปแข่งขันระดับโลก
  2. มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  3. มหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์และพัฒนาพื้นที่

สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะต้องดำเนินการใน 3 ภารกิจหลัก คือ

  1. การสร้างคน เพราะคนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในศตวรรษที่ 21 กระทรวง อว. เน้นการสร้างคนตลอดช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนซึ่งเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศ โดยดำเนินผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ และกลุ่มคนทำงานที่ต้องเพิ่มหรือปรับทักษะแห่งอนาคต
  2. สร้างองค์ความรู้ผ่านการวิจัย คือ การวิจัยเพื่อสร้างคน การวิจัยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน การวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ และการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาระดับชาติและระดับโลก เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ โรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำ หรือปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยขอให้เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งเครือข่ายต่างประเทศ
  3. การสร้างนวัตกรรม ทั้งจากกลุ่มสตาร์ทอัพ และSMEs โดนเป็นงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โฮชา นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งโจทย์ใหญ่ 3 ข้อ มอบให้ทาง อว. นำไปขับเคลื่อน ได้แก่

  • การสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ
  • การสร้างกลไกเศรษฐกิจใหม่ของประเทศด้วย BCG Economy Model
  • การปรับเปลี่ยนหรือพลิกโฉมมหาวิทยาลัย เพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

“มหาวิทยาลัยจะต้องพลิกแผ่นดินอีสานจากความยากจนไปสู่ความมั่งคั่ง โดยมุ่งสู่การเป็นอีสาน 4.0 ผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ซึ่งจะต้องพยายามโดยใช้จุดเด่นของอีสานในระดับโลก ในส่วนของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นก็ต้องสามารถสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาพื้นที่ เปลี่ยนเกษตรกรในพื้นที่อีสานให้เป็น Smart Farm เปลี่ยนกลุ่ม SMEs ให้เป็นวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สร้างกลุ่มสตาร์ทอัพในแต่ละท้องถิ่น และจะต้องพัฒนาหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตรเชิงพื้นที่เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม และให้วิทยาลัยชุมชนเข้ามาช่วยในเรื่องของการศึกษาผู้สูงอายุ” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.matichon.co.th/education/news_1981188