ความสะดวกอันตรายกว่าที่คิด เมื่อรถเราไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป

Share

Loading

หลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องการสอดแนมผ่านสมาร์ทโฟนกันมาบ้าง ถือเป็นเรื่องอันตรายที่ทำให้หลายคนตื่นตัวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อการเข้าถึงข้อมูลนั้นไม่จำกัดเพียงสมาร์ทโฟน แต่สามารถเกิดขึ้นกับรถยนต์ส่วนบุคคลได้เช่นกัน

ปัญหาความเป็นส่วนตัวจากการใช้งานสมาร์ทโฟน เป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลัง เราทราบดีว่าการใช้งานสมาร์ทโฟนเราไม่ได้ปลอดภัยเต็มร้อย สามารถถูกแทรกแซงเข้ามาตรวจสอบหรือควบคุมการใช้งานได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นฝีมือของแฮกเกอร์หรือรัฐบาลเองก็ตาม

หนึ่งในมัลแวร์เลื่องชื่อในด้านนี้คือ Pegasus ด้วยคุณสมบัติในการล้วงข้อมูลจากสมาร์ทโฟนของผู้ใช้งาน ทั้งข้อมูลในปฏิทิน, นัดหมาย, GPS, ประวัติอินเทอร์เน็ต, ประวัติการโทร, รูปภาพ, เสียงบันทึก และยังสั่งให้สมาร์ทโฟนบันทึกข้อมูลภาพและเสียงได้เอง ทำให้หลายท่านแคลงใจกับการใช้งานสมาร์ทโฟนกันไม่น้อย

แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อการเข้าถึงข้อมูลนี้ไม่ได้จำกัดเพียงในสมาร์ทโฟนแต่ยกระดับไปอยู่ในรถยนต์

เมื่อรถยนต์ของเราไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป

จริงอยู่ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบมัลแวร์สำหรับโจมตีรถยนต์โดยเฉพาะ แต่ข้อมูลจาก Mozilla Foundation ระบุว่า บริษัทรถยนต์จำนวนมากทำการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่ข้อมูลส่วนบุคคลของคนขับและผู้โดยสารที่อยู่บนรถ อีกทั้งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นเป็นวงกว้าง

จากการตรวจสอบข้อมูลรถยนต์จาก 25 บริษัทพบว่า มีการเก็บข้อมูลเกินความจำเป็นแทบทั้งสิ้น โดยในจำนวนนี้มีบริษัทที่นำข้อมูลที่รวบรวมไปแบ่งปันกับผู้ให้บริการ นายหน้าข้อมูล และธุรกิจในเครือกว่า 84%, บริษัทสามารถนำข้อมูลที่ได้มาไปแบ่งปันให้แก่รัฐบาลได้ 56% และมีบริษัทที่สามารถนำข้อมูลส่วนตัวไปขายได้ถึง 76% เลยทีเดียว

ข้อมูลในส่วนนี้ได้รับการระบุเอาไว้ในคู่มือการใช้งานของรถยนต์แทบทุกยี่ห้อว่า อาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจหรือพูดถึงนัก ปัจจุบันการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานจากรถยนต์เกิดขึ้นทั่วไปในรถยนต์เกือบทุกคัน

รถยนต์ที่ไม่ได้ถูกเก็บรวบรวมข้อมูลมีเพียง รถยนต์รุ่นเก่าที่ขาดอุปกรณ์อำนวยความสะดวก โดยเฉพาะรถที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือเข้าถึงระบบนำทาง แต่ปัจจุบันรถยนต์กลุ่มนี้กำลังน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันคาดว่ารถประเภทนี้มีอยู่ราว 45% และจะเหลือไม่ถึง 5% ภายในปี 2030

โดยบริษัทรถยนต์ที่ถูกนำมาตรวจสอบ ได้แก่ Tesla , Mercedes-Benz, BMW, Renault, Dacia, Chrysler, Jeep, Cadillac, General Motors, Fiat, Lincoln Motor Company, Honda, Subaru, Volkswagen, Audi, Toyota, Hyundai, Kia, Nissan ฯลฯ ซึ่งถือเป็นบริษัทรถยนต์เจ้าใหญ่ความนิยมสูงทั้งสิ้น นี่ถือเป็นข้อยืนยันว่าถึงเป็นรถยนต์ส่วนตัวในกรรมสิทธิ์ของเราก็ใช่ว่าจะมีความเป็นส่วนตัวเสมอไป

ระดับความอันตรายกับการรวบรวมข้อมูลเกินจำเป็น

อุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในรถยนต์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบรรดารถยนต์รุ่นใหม่ที่ยิ่งมีระบบการใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, เล่นเพลง, สั่งงานด้วยเสียง, ค้นหาเส้นทาง, ระบุตำแหน่ง, แนะนำสถานที่, แจ้งสภาพการจราจร, บันทึกภาพหน้ารถ ฯลฯ นั่นทำให้ปริมาณข้อมูลที่สามารถรวบรวมและใช้ประโยชน์มีมากเกินจินตนาการ

ข้อมูลในส่วนนี้สามารถนำไปใช้งานในหลายระดับ ตั้งแต่ข้อมูลเพลงต่างๆ, เส้นทางการสัญจรเดินรถ, สถานที่น่าสนใจในพื้นที่, แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม, สภาพการจราจรแต่ละวัน ทั้งหมดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการตลาดสำหรับส่งเสริมการขาย และยังสามารถนำไปขายให้กับผู้บริการรายต่างๆ ได้อีกด้วย

ร้ายแรงกว่านั้นคือในกรณีมีการคิดค้นมัลแวร์แบบเดียวกับ Pegasus ไว้ใช้งานกับรถยนต์ สามารถแทรกแซงการทำงานของกล้องและไมโครโฟนให้บันทึกเสียงภายใน นั่นจะถือเป็นการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวครั้งใหญ่ ในระดับที่เราอาจถูกตามติดตั้งแต่ความสัมพันธ์, การใช้ชีวิต, สถานะการเงิน และสถานที่ที่ไปไม่แพ้สมาร์ทโฟนแต่อย่างใด

อีกทั้งยังไม่มีข้อยืนยันด้วยว่า การบันทึกข้อมูลในส่วนนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากน้ำมือเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง

ล่าสุดบริษัทรถยนต์ที่นำมาทดสอบ มีเพียงเจ้าเดียวที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานมีสิทธิ์เข้าถึง จัดการ และลบข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้ คือรถยนต์ในเครือบริษัท Renault ในขณะที่เจ้าอื่นไม่มีแนวทางในการให้ผู้ใช้งานตรวจสอบและจัดการข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมไปแน่ชัด

การตั้งคำถามที่มีต่อบริษัทรถยนต์ต่อจากนี้

ถึงตรงนี้หลายท่านอาจคุ้นเคยรูปแบบการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลชนิดนี้กันบ้าง นั่นคือรูปแบบการเก็บข้อมูลจาก โซเชียลมีเดีย ในปัจจุบันมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มทั้งหลายอย่างกว้างขวาง จากนั้นจึงนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆ ในระดับที่เราเองก็คาดไม่ถึง

การใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดียเกิดขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่การนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปเผยแพร่, การนำข้อมูลการเข้าเว็บไซต์และความสนใจไปใช้ประโยชน์ทางการตลาด, การดันโฆษณาที่เราน่าจะสนใจเข้ามาอยู่ในสายตา หรือการนำข้อมูลการสนทนาของเราไปเทรนปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

ข้อมูลในส่วนนี้ถือเป็นเรื่องที่ได้รับการแจ้งเตือนตั้งแต่เริ่มสมัครไอดีแพลตฟอร์มต่างๆ(ที่ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยได้อ่าน) ถือเป็นส่วนที่เราจำเป็นต้องยอมรับเพื่อเริ่มต้นเข้าใช้งาน แต่ด้วยรูปแบบการให้บริการที่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย หลายท่านจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมปล่อยผ่านเพื่อให้แพลตฟอร์มดำรงอยู่ต่อไปได้ ที่สำคัญถ้าเราต้องการยุติการใช้งานเพียงปิดบัญชีทุกอย่างก็จบ

แต่สำหรับรถยนต์อาจเป็นหัวข้อถกเถียงที่น่าสนใจ การใช้งานรถยนต์แต่ละคันล้วนมีราคาค่างวดค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงล้านบาท ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อเราเสียเงินซื้อรถราคาหลักล้านบาท เหตุใดข้อมูลส่วนบุคคลชองเราจึงถูกนำไปขายและมีการใช้ประโยชน์ โดยที่เราแทบไม่สามารถเข้าไปจัดการหรือได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมจากส่วนนั้นเลย

บางทีสิ่งที่รุกล้ำและละเมิดความเป็นส่วนตัวของเราที่สุดอาจไม่ใช่สมาร์ทโฟนหรืออินเทอร์เน็ต แต่เป็นรถยนต์ที่เราขับอยู่ทุกวันก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/international-news/699737