หรือแล้งนี้ต้องพึ่งน้ำทะเล รู้จักเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด

Share

Loading

จากสภาวะภัยแล้งที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงในช่วงปลายปี อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรงช่วงปีนี้ ทำให้หลายภาคส่วนต่างวิตกกังวลถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เมื่อปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างร่อยหรอ ไม่เพียงพอต่อความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปริมาณน้ำจืดบนฝั่งอาจลดต่ำจนไม่พอใช้ แต่ในมหาสมุทรยังมีน้ำปริมาณมหาศาลที่อาจช่วยทดแทนความต้องการน้ำในช่วงหน้าแล้งนี้ได้

แม้ว่านวัตกรรมการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดสำหรับใช้อุปโภคบริโภคจะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ถอดด้าม แต่ว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ขณะนี้ราคาต้นทุนต่อหน่วยการผลิตน้ำถูกลงเรื่อยๆ เป็นอีกทางออกในการแก้ภัยแล้งช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้

เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ทำได้ไง?

จากข้อมูล ฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การผลิตน้ำประปาโดยทั่วไปจะเลือกผลิตน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมีต้นทุนที่ถูก และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สำหรับในบางพื้นที่ที่สภาพภูมิประเทศไม่เหมาะสม ปริมาณน้ำจืดขาดแคลน แต่ว่าอยู่ใกล้ชายฝั่ง สามารถเข้าถึงน้ำทะเลได้ การเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภค บริโภค และการชลประทาน

สำหรับการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีการกรองน้ำแบบรีเวอร์สออสโมซีส (Reverse Osmosis: RO) ที่ใช้แรงดันสูงดันน้ำทะเลผ่านเยื่อกรองที่มีรูขนาดเล็กเพื่อกรองแร่ธาตุ เกลือ และสารตกตะกอนต่างๆ ออกจากน้ำทะเล ทำให้น้ำจืดออกมาและพร้อมป้อนเข้าสู่ระบบจ่ายน้ำประปา

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า เนื่องจากการกรองน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ต้องผ่านตัวกรองที่มีความละเอียดมาก จึงทำให้จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ดังนั้นต้นทุนการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลจึงสูงมากถึง 40 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ในขณะนี้น้ำประปาทั่วไปที่เราใช้กันอยู่นั้นมีราคาตกอยู่เพียง 10 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า นอกจากต้นทุนราคาที่สูงแล้ว การเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดยังมีอีกหนึ่งผลกระทบที่ควรระวังนั่นคือ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลจะทิ้งของเสียเป็นน้ำเค็มจัดถึงครึ่งต่อครึ่ง น้ำเค็มจัดเหล่านี้เป็นผลมาจากการกรองเอาเกลือและแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำทะเลออก ดังนั้นเมื่อมีการตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแล้ว หนึ่งในข้อควรระวังคือต้องมีการจัดการน้ำเค็มจัดเหล่านี้อย่างเหมาะสม

“น้ำเค็มจัดเหล่านี้ปกติจะมีการปล่อยกลับลงสู่ทะเล แต่ถ้าหากมีการปล่อยน้ำเค็มจัดเหล่านี้ทิ้งโดยไม่ระวัง อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้ เพราะน้ำปล่อยทิ้งเหล่านี้มีความเค็มจัดเกินกว่าสัตว์ทะเลจะทนได้ โดยปกติแล้วน้ำเค็มจัดเหล่านี้จึงถูกส่งต่อท่อไปปล่อยกลางทะเล” ผศ.ดร.สิตางศุ์ อธิบาย

ความเป็นไปได้ในการเอามาใช้กู้ภัยแล้ง

สำหรับในประเทศไทยที่มีทรัพยากรน้ำจืดอย่างอุดมสมบูรณ์ เราอาจไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคเท่าใดนัก หากแต่เทคโนโลยีนี้ได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศที่ใกล้ทะเลแต่ขาดแคลนน้ำจืดอย่างเช่น สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือซาอุดีอาระเบีย โดยเมืองใหญ่กลางทะเลทรายแต่ติดทะเลอย่าง ดูไบ มีอัตราการพึ่งพิงน้ำจืดจากโรงกรองน้ำทะเลถึง 80%

ในขณะที่สิงคโปร์ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำจืดจากมาเลเซียเป็นปริมาณมหาศาลในทุกๆ ปี ก็กำลังปรับลดการพึ่งพาน้ำจืดนำเข้าลง ด้วยการเปิดโรงกรองน้ำจืดจากน้ำทะเลเป็นของตนเองนับตั้งแต่ปี 2005 (พ.ศ.2548) โดยในปัจจุบันสิงคโปร์สามารถผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลหล่อเลี้ยงประชากรได้ถึง 10% ของความต้องการน้ำทั้งหมด

ประเทศไทยเองก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดแล้วเช่นกัน โดย ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า หนึ่งในพื้นที่ที่ริเริ่มใช้น้ำจืดจากการกรองน้ำทะเลแล้วนั่นก็คือ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (ยูยู) เป็นผู้นำเทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล โดยใช้ระบบรีเวอร์ส ออสโมซิส (RO) เป็นรายแรกและรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

“ดิฉันมองว่าการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการผลิตน้ำสะอาด สำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำจืดและอยู่ใกล้ทะเล อย่างเช่นตามเกาะแก่งต่างๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วการขนน้ำจืดข้ามฝั่งไปจะมีราคาแพงกว่ามาก อย่างเช่น บนเกาะพีพี ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำค่อนข้างสูงจากการท่องเที่ยว แต่มีปริมาณน้ำจืดบนเกาะน้อย และการขนน้ำจืดข้ามทะเลมามีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ค่าน้ำแพงถึง 100 – 250 บาทต่อคิว (1 ลูกบาศก์เมตร)” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

นอกจากนี้  เนื่องด้วยต้นทุนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลที่เริ่มถูกลงแล้ว ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ทดแทนการใช้ทรัพยากรน้ำจืดที่เริ่มร่อยหรอจากสภาวะฝนแล้งในพื้นที่อย่างเช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีปริมาณการใช้น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรมสูง แต่ปริมาณน้ำจืดในพื้นที่ไม่พอเพียง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยบรรเทาความกระหายน้ำของภาคส่วนต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ยังถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด เพื่อให้แน่ใจว่าทุกภาคส่วนจะมีน้ำใช้อย่างพอเพียง และไม่รบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป

แหล่งข้อมูล

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/843124