Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24
Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25
Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26
นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่เพียงกำเนิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชีวิตประจำวันของผู้คนเท่านั้น แต่ในหลายสถานการณ์ นวัตกรรมยังเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือชีวิตของมนุษย์ด้วย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ได้ระดมความคิดร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนาและผลิตนวัตกรรมต่างๆ ไปจนถึงหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในหลากหลายรูปแบบ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพาคนไทยฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ในที่สุด วันนี้เราจึงได้มีโอกาสเห็นผลผลิตจากความคิด ผ่านนวัตกรรมที่น่าทึ่งและโดดเด่นอย่างมาก
รถเข็น เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และกล่องทำหัตถการ แรงดันลบ แบบ 3 in 1
เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความสำคัญมาก เตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในแบบพิเศษจึงจำเป็นสำหรับสถานการณ์นี้ เออาร์วี และ ปตท.สผ. จึงได้พัฒนาต่อยอดเตียงแรงดันลบ จนเกิดเป็นนวัตกรรมเตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ แบบ 3 in 1 เพื่อให้ทำงาน 3 หน้าที่ในเครื่องเดียว นั่นคือ สร้างแรงดันลบ กรองอนุภาค และฆ่าเชื้อโรค โดยมีกล่องเครื่องกำเนิดแรงดันลบ ที่ปรับความดันอากาศที่ดูดเข้าไปภายในเตียง หรือรถเข็นที่ติดตั้งแคปซูล ให้ความดันอากาศภายในต่ำกว่าอากาศภายนอก อากาศภายในจึงไม่ไหลออกสู่ภายนอก ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไป นอกจากนี้ตัวเครื่องยังติดตั้งแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA Filter) ที่สามารถกรองอนุภาค ระดับ 0.3 ไมโครเมตร หรือขนาดที่เล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ 100 เท่า ได้ถึง 99.99% เอาไว้ด้วย ขณะเดียวกันก็มีหลอดไฟ UV-C ที่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ด้วยเหตุนี้อากาศที่ถูกปล่อยกลับออกสู่ภายนอก จึงมีความปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงเมื่อต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ
หลักการเดียวกันนี้ได้นำไปสู่การพัฒนาเครื่องกำเนิดแรงดันลบแบบเคลื่อนที่ขึ้นด้วย โดยนำไปติดตั้งร่วมกับกล่องทำหัตถการ เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยติดเชื้อเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นไปได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย เครื่องกำเนิดแรงดันลบนี้ยังออกแบบมาให้ใช้ได้ทั้งพลังงานจากแบตเตอรี่ รวมถึงใช้งานด้วยระบบไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ ซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ห่างไกล ปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้มอบเตียงและกล่องทำหัตถการแรงดันลบ ให้แก่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เพื่อนำไปส่งต่อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันก็มอบเตียงและรถเข็นเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบให้โรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยต่อไป
Xterlizer : หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี
พื้นที่ที่ปราศจากเชื้อโรคมีความสำคัญอันดับต้นๆ ภายในโรงพยาบาลและสถานบริการทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่มารับบริการ ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ จากความสำคัญนี้เองที่นำไปสู่การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถจัดการกับเชื้อโรคต่างๆ ในพื้นที่ได้แบบอยู่หมัด โดยนวัตกรรมที่เข้ามาทำหน้าที่สำคัญนี้ คือ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวีซี ในชื่อ ‘เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์’ (Xterlizer) โดย เออาร์วีพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถกำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ด้วยแสงอัลตราไวโอเลตซี (UV-C) ซึ่งฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ในพื้นที่ขนาด 25 ตร.ม. ภายในเวลาเพียง 5 นาที เรียกว่าตอบโจทย์อย่างมากในสถานการณ์ที่ความสะอาดคือหัวใจสำคัญของทุกสิ่ง
เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์ (Xterlizer) น่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะได้เห็นหน้าค่าตากันมากขึ้นในอนาคต ไม่เพียงแค่ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังอาจรวมถึงสถานที่อื่นๆ อีกมากในชีวิตประจำวัน โดยวันนี้ เออาร์วี ในฐานะผู้คิดค้นและพัฒนา ยังได้ออกแบบมาให้สามารถเคลื่อนที่และปฏิบัติงานแบบไร้สายได้โดยอัตโนมัติ แถมยังหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เอง นอกจากนี้ ยังมีเซนเซอร์อินฟราเรดตรวจจับความเคลื่อนไหว โดยจะหยุดปล่อยแสง UV-C ทันทีหากพบการเคลื่อนไหว ทำให้การใช้งานมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ผิดนักหากหลายคนในที่นี้จะกำลังจินตนาการถึงพื้นที่อื่นๆ ที่ปลอดภัยมากขึ้น โดยมี เอ็กซ์เตอร์ไลเซอร์ (Xterlizer) ทำหน้าที่นั้นอยู่ด้วย
CARA : หุ่นยนต์ผู้ช่วยนำส่งเวชภัณฑ์และอาหาร
หุ่นยนต์ผู้ช่วยภายในโรงพยาบาล ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อ ‘คาร่า’ (CARA) ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้น เพื่อให้เข้ามาหน้าที่นำส่งเวชภัณฑ์และอาหารภายในโรงพยาบาล สถานพยาบาล รวมถึงสถานที่กักตัวผู้ป่วย ซึ่งนอกจากจะกลายเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกและแบ่งเบาภาระในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้แล้ว คาร่ายังมีบทบาทสำคัญในการช่วยปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ จากความเสี่ยงในการติดเชื้อจากผู้ป่วย เนื่องจากสามารถควบคุมบังคับจากระยะไกลได้กว่า 100 เมตร ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางการสื่อสารในการดูแลรักษาผู้ป่วยจากระยะไกล ผ่านแท็บเล็ตที่ติดตั้งไว้ได้ด้วย
ปัจจุบัน คาร่ากำลังทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้น ทั้งลำเลียงอาหาร เวชภัณฑ์ รวมถึงเป็นผู้ช่วยด้านอื่นๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อยู่ที่โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ของกลุ่ม ปตท. และได้กลายมาเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อย่างมากในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน
IoT Cold Chain : ชุดอุปกรณ์พร้อมระบบตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็น
หลายเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ยังได้รับการพัฒนาให้สามารถนำมาใช้งานภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม อย่างการประยุกต์เทคโนโลยีการสำรวจปิโตรเลียมด้วยการเก็บข้อมูลคลื่นไหวสะเทือนแบบไร้สาย หรือ Wireless Seismic Survey ที่ใช้ในการศึกษาลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาของชั้นหิน ไปสู่การเปลี่ยนเซนเซอร์ที่ใช้วัดคลื่นสะท้อน มาเป็นเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาวัคซีน หรือที่รู้จักในชื่อ ชุดอุปกรณ์พร้อมระบบตรวจวัดอุณหภูมิและควบคุมห่วงโซ่ความเย็น (IoT Cold Chain) โดยสามารถเก็บรักษาวัคซีนโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยตัวอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปติดที่ตู้เย็นสำหรับใช้เก็บรักษาวัคซีน ระบบจะคอยทำหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิว่า อยู่ในช่วงที่ต้องการและเหมาะสมหรือไม่ แล้วส่งข้อมูลมายังจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ ในกรณีที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น จะส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขให้ทันเวลา ขณะเดียวกันยังแสดงผลไปยังส่วนกลางซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์ทุกชิ้นในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย นวัตกรรมชิ้นนี้นับได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการเก็บรักษาวัคซีนที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ โดย เออาร์วี ได้พัฒนาและนำส่งต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมการทำงานในสถานการณ์นี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
หลายนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงบ่งบอกถึงความก้าวหน้าของวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันที่สำคัญอย่างหนึ่งว่า เทคโนโลยีสัมพันธ์อยู่กับผู้คน ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำด้วยว่า ผู้คิดค้นและพัฒนา เห็นคุณค่าของเทคโนโลยีที่มีต่อชีวิตของมนุษย์เสมอเช่นกัน.
แหล่งข้อมูล https://www.thairath.co.th/news/local/2211441