Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24
Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25
Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26
เมืองที่ถูกสอดส่องมากที่สุดในโลกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการใช้เทคโนโลยีจับตาดูความเคลื่อนไหวของผู้คนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอย่างทั่วถึง โดยใน 12 อันดับแรกของโลก ถูกสอดแทรกด้วยลอนดอน ประเทศอังกฤษและอีก 2 เมืองจากประเทศอินเดีย คือ อินดอร์ เมืองที่มีประชากรมากที่สุดและใหญ่ที่สุดของรัฐมัธยประเทศ และไฮเดอร์ราบัด ศูนย์กลางการค้าด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
จากการวิเคราะห์จากรายงานฉบับใหม่นี้ของ Comparitech ปรากฎชัดเจนว่าเมืองต่างๆ ในจีนอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังกล้องวงจรปิดอย่างเข้มข้นที่สุดในโลก โดยทั่วโลกมีกล้องวงจรปิดที่ถูกใช้งาน 770 ล้านตัว และอยู่ที่จีนมากถึง 54% ซึ่งหมายความว่ามีประมาณ 415.8 ล้านตัวในแผ่นดินใหญ่ หากเปอร์เซ็นต์นี้ยังคงเท่าเดิมเมื่อระดับกล้องเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านตัวในปีหน้า จำนวนกล้องวงจรปิดของจีนอาจเพิ่มขึ้นถึง 540 ล้านตัวเลยทีเดียว และเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรในปัจจุบันของประเทศจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน นั่นหมายถึงมีกล้องวงจรปิดเกือบหนึ่งตัวต่อทุกๆ 2 คน!!!
แม้ว่าการคาดการณ์นี้อาจฟังดูน่าตกใจ แต่ก็อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนจริง
ทั้งนี้ กฎหมายความมั่นคงที่กลายเป็นประเด็นโต้เถียงกันอย่างรุนแรงในปี 2562 ได้จุดประกายความหวาดกลัวให้กับกลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงว่า เจ้าหน้าที่จีนในปักกิ่งจะใช้ CCTV การสอดแนมความเป็นไปต่างๆ ในฮ่องกง เพื่อกำหนดเป้าหมายหรือจับตานักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญ ขณะที่ในระหว่างการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 กล้องวงจรปิดท้องถิ่นถูกใช้เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้คนออกจากบ้าน
รายงานนี้ยังระบุอีกว่า จีนใช้การเฝ้าระวังด้วยการจดจำใบหน้าอย่างจริงจัง และมักใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวในที่ต่างๆ ของบุคคล เช่น การจำกัดการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ โดยกล้องที่ติดตั้งเทคโนโลยีจดจำใบหน้าได้ถูกติดตั้งไว้ที่ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งเพื่อบังคับใช้กฎเหล่านี้อย่างแข็งขัน
สำหรับรายงานดังกล่าวในปี 2564 นี้ ได้ขยายขอบเขตการศึกษาเพื่อดูจำนวนกล้องต่อตารางไมล์เพิ่มขึ้นในอีกหลายเมือง และพบว่าเดลี ลอนดอน และเจนไน ต่างก็มีกล้องต่อตารางไมล์จำนวนมากเช่นกัน และมากกว่าหลายเมืองในจีน ขณะที่ผู้อยู่อาศัยในเมืองต่างๆ ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เม็กซิโก และเกาหลีใต้ ต่างพบว่าตนเองถูกรายล้อมไปด้วยสายตาที่จับจ้องเป็นจำนวนมากเช่นกัน
เมืองไท่หยวนของจีน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลซานซี ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 300 ไมล์ มีกล้องวงจรปิด 117 ตัวต่อประชากร 1,000 คน เมืองที่ไม่ได้อยู่ในประเทศจีนที่มีอันดับสูงสุด คือ ลอนดอน ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการเฝ้าระวังพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวด ด้วยกล้อง 73 ตัวต่อ 1,000 คน โดยอยู่ในอันดับ 3 ขณะที่นิวยอร์กซิตี้และลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกล้อง 7 และ 9 ตัวต่อผู้อยู่อาศัย 1,000 คน
เมืองที่ถูกตรวจตราและจับจ้องด้วยกล้องวงจรปิดมากที่สุดในโลก ในปี 2564
“เทคโนโลยีกล้องวงจรปิด” เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงในหลายพื้นที่ทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง โดยมีทั้งฝ่ายสนับสนุนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการต่อสู้กับอาชญากรรม และฝ่ายต่อต้านที่เห็นว่าการเพิ่มศักยภาพของการเฝ้าระวังนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสาธารณะและละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำแบบสำรวจนี้กล่าวว่า พวกเขาพบความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อย ระหว่างอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลงหรือความรู้สึกปลอดภัย และการเฝ้าระวังที่เพิ่มขึ้นในเมืองที่ทำการสำรวจ
แม้รายงานนี้จะไม่ได้บอกว่ามีกล้องวงจรปิดจำนวนมากที่สุดในเมืองที่มีประชากรมากที่สุด แต่เห็นได้ว่าบางเมืองที่มีประชากรจำนวนมากจะมีความหนาแน่นของกล้องวงจรปิด (ต่อตารางไมล์) สูงกว่าเมืองอื่นๆ เช่น เซินเจิ้นจะมีกล้อง 8,186 ตัวต่อตารางไมล์ ตามด้วยอู่ฮั่น 7,181 ตัวต่อตารางไมล์ และเซี่ยงไฮ้ 5,677 ตัวต่อตารางไมล์ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุด คือ มีมากกว่าสิบเมืองของจีน ที่มีความหนาแน่นของกล้องต่อตารางไมล์ต่ำกว่าเดลี (1,827) และลอนดอน (1,138)
ทั้งนี้ นักวิจัยของ Comparitech ได้รวบรวมแหล่งข้อมูลและรายงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงรายงานของรัฐบาล เว็บไซต์ตำรวจ และบทความข่าว เพื่อทำความเข้าใจจำนวนกล้องวงจรปิดที่ใช้ใน 150 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นที่กล้องวงจรปิดสาธารณะเป็นหลัก (กล้องที่หน่วยงานของรัฐใช้ เช่น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ)
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/08/24/why-china-has-the-most-cctv/