เปิดแผนยกระดับ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา สู่ต้นแบบ Contactless Journey & Smart Airport of Thailand

Share

Loading

แม้ว่าในตอนนี้ วิกฤตโควิด-19 จะแผลงฤทธิ์ ทำให้ทุกคนไม่ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกชั่วคราว ทว่า เทคโนโลยีต่างๆ ที่วางแผนว่าจะนำมาปรับใช้ในสนามบิน เพื่อปูทางสู่การเป็น Smart Airport ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมว่าวันหนึ่งที่วิกฤตโควิดคลี่คลาย เราจะมีสนามบินที่ทันสมัยและมีความปลอดภัย พร้อมรองรับนักเดินทางจากทั่วโลกอีกครั้ง

นอกจากท่าอากาศยานหลักอย่างสุวรรณภูมิและดอนเมืองแล้ว ทุกคนคงทราบกันดีว่า ในตอนนี้แผนการเดินหน้าสร้าง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา สนามบินแห่งใหม่ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท กับ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชันแนล เอวิเอชัน จำกัด โดยคาดว่าสนามบินนานาชาติ แห่งที่ 3 นี้จะเริ่มเปิดให้บริการระยะที่ 1 ได้ในช่วงปี 2024 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ได้มีการเผยแผนการก่อสร้างและออกแบบออกมาบางส่วนว่า ท่าอากาศยานอู่ตะเภา แห่งนี้ จะถูกออกแบบและวางโครงสร้างให้เป็นต้นแบบสนามบินแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะมี อาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ Smart Airport Terminal ซึ่งจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความสะดวกสบายในการให้บริการนักเดินทางทั่วโลก

สนามบิน Changi แห่งประเทศสิงคโปร์

จะได้ชื่อว่าเป็น Smart Airport ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

แล้ว “การจะได้ชื่อว่าเป็น สมาร์ทแอร์พอร์ต ได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง?” นี่เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกันก่อนที่จะไปรู้ถึงแผนการก่อสร้างและออกแบบ อาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ ในท่าอากาศยานอู่ตะเภา กัน

ในวารสาร MICE Intelligence ฉบับที่ 7/2019 ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องการใช้เทคโนโลยียกระดับประสบการณ์การบินของนักเดินทาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการสร้างท่าอากาศยานอัจฉริย ที่หลายประเทศทั่วโลกใช้ในการออกแบบสนามบิน

“ประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางไมซ์ยอดนิยมแห่งหนึ่งโลก มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคครบครัน แต่ก็ยังต้องเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องซึ่งในส่วนของผู้โดยสารเครื่องบิน ควรนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาเติมเต็มเพื่อยกระดับประสบการณ์ของนักเดินทาง โดยเฉพาะในการสร้าง อาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ ซึ่งควรมีการให้บริการเหล่านี้”

  • บริการเช็กอินและดร็อปกระเป๋านอกสนามบิน

บริการเช็กอินผ่านโทรศัพท์มือถือ มีอยู่ในสนามบินในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ขณะที่สนามบินต่างๆ อย่างประเทศเคปเวิร์ด ในแอฟริกา ได้เปิดให้ผู้โดยสารเช็กอินและดร็อปกระเป๋าที่โรงแรมที่พักก่อนเดินทางมาสนามบินได้

  • คีออส (Kiosk) เช็กอินด้วยตัวเองและดร็อปกระเป๋าอัตโนมัติ

ถ้าสนามบินใดมีบริการนี้ จะช่วยลดเวลาในการเช็กอินต่อผู้โดยสารหนึ่งคนได้หลายนาที ทำให้สนามบินสามารถรองรับและให้บริการผู้โดยสารในแต่ละวันได้รวดเร็วและมากกว่าเดิม

  • มีระบบไบโอเมทริกซ์ (Biometrics)

เพื่อยืนยันตัวตนสำหรับบริการต่างๆ ในสนามบิน และช่วยให้ผู้โดยสารเดินทางจากจุดต่างๆ ในอาคารสนามบินได้ราบรื่นรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้โดยสารควรสามารถลงทะเบียนยืนยันอัตลักษณ์ทางกายภาพของตัวเองผ่านโทรศัพท์มือถือ ด้วยการถ่ายรูปตัวเองและอัปโหลดรูปหนังสือเดินทาง จากนั้นก็สามารถใช้ไฟล์ดังกล่าวเป็นหนังสือเดินทางและบอร์ดดิ้งพาสได้เลย

จากการทดลองในสนามบินที่ประเทศสโลวีเนีย พบว่าช่วยลดเวลาที่ใช้ในการขึ้นเครื่องอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้โดยสารใช้เวลาในการขึ้นเครื่องเฉลี่ยเพียง 2 วินาทีต่อคนเร็วกว่าการบอร์ดดิ้งตามปกติถึง 75%

“หากสนามบิน สามารถนำระบบเหล่านี้มาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ขั้นตอนการเช็กอินรวดเร็วขึ้น ทำให้นักเดินทางทุกกลุ่มใช้เวลาที่เหลือไปกับกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในสนามบินและนอกสนามบินได้มากขึ้นแน่นอน”

นอกจากนั้น ในวารสารฉบับนี้ ยังย้ำด้วยว่า สนามบินที่จะก้าวสู่การเป็นฮับระดับโลกเหล่านี้ นอกจากจะต้องติดตั้งระบบเช็ก-อินอัตโนมัติคีออสดร็อบกระเป๋าสแกนเนอร์แบบไบโอเมทริกอย่างที่กล่าวมาแล้ว ยังควรนำหุ่นยนต์มาให้บริการเพิ่มเติมในสนามบิน เพื่อช่วยให้การเดินทาง เข้า-ออก สนามบินเป็นไปอย่างรวดเร็วสะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และควรจัดพื้นที่ให้เป็นส่วนของร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่สาธารณะ เพื่อให้นักเดินทางได้มาพักผ่อนในระหว่างรอขึ้นเครื่องอย่างพอเพียงและมีคุณภาพด้วย

ส่วนเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในสนามบินจะต้องสื่อสารกันได้ ไม่ใช่ทำงานแบบแยกส่วนกันเหมือนที่เคยเป็นมา เช่นเทคโนโลยี Beacon และ GPS ที่ระบุตำแหน่งของผู้โดยสาร จะช่วยให้สนามบินนำเสนอตัวเลือกบริการทีตรงกับความต้องการของนักเดินทางได้ดียิงขึ้น เป็นต้น

เจาะแผนยกระดับ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา สู่ต้นแบบ Smart Airport of Thailand

จากบทความของ ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ SCB EIC เรื่อง “Contactless Journey แนวคิดสำคัญในการยกระดับการให้บริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภา” ได้นำเสนอประเด็นอัปเดตและแสดงให้เห็นถึงแผนการยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภา สู่ต้นแบบ Smart Airport of Thailand ไว้อย่างน่าสนใจ

โดยโฟกัสไปที่การสร้าง Contactless Journey หรือประสบการณ์การเดินทางที่ไร้สัมผัส ที่นอกจากจะบ่งบอกถึงความทันสมัยแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักการสำคัญในการออกแบบบนมาตรการสร้างความปลอดภัยจากการแพร่เชื้อโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ด้วย

ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความ ยังมองว่าแนวคิดการเดินทางแบบไร้สัมผัส (contactless journey) ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่ควรพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาสู่ อาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ เพื่อรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง

อีกทั้งการวางหลักการออกแบบเช่นนี้ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เดินทางได้อีกด้วย จากวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้การให้บริการในท่าอากาศยานทั่วโลกเริ่มมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางทั้งในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดความแออัด การดูแลรักษาความสะอาด และการลดการสัมผัสระหว่างบุคคลและอุปกรณ์ในท่าอากาศยาน

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว สมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International: ACI) ยังประเมินว่าวิกฤต COVID-19 จะผลักดันให้ท่าอากาศยานทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิด contactless journey และเทคโนโลยีไร้สัมผัสจะเข้ามามีบทบาทต่อการให้บริการในท่าอากาศยานมากยิ่งขึ้น

เช่น ท่าอากาศยาน Changi ของสิงคโปร์ได้นำระบบเซนเซอร์อินฟราเรดมาใช้เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถเช็คอินหรือโหลดสัมภาระได้แบบไม่มีการสัมผัสอุปกรณ์ในท่าอากาศยาน

เช่นเดียวกับท่าอากาศยาน Oslo ของนอร์เวย์ที่เริ่มเปิดให้บริการ check-in และการโหลดสัมภาระผ่านระบบ self-service kiosk โดยการสแกน QR code จากสมาร์ตโฟน รวมถึงการเริ่มใช้เทคโนโลยี biometrics เพื่อยืนยันตัวตนแทนการสแกนลายนิ้วมือแบบเดิมตั้งแต่ขั้นตอนการ check-i, การตรวจสอบเอกสารเข้าเมือง จนถึงผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน

Singapore Changi Airport, Terminal 1

ในบทสรุป ดร.กมลมาลย์ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ยังย้ำด้วยว่า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

วารสาร MICE Intelligence ฉบับที่ 7/2019 “Smart Mobility Ride for The Future”

บทความ เรื่อง “Contactless Journey แนวคิดสำคัญในการยกระดับการให้บริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภา” จากเว็บไซต์ SCB EIC โดย ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม

https://www.salika.co/2020/08/12/u-tapao-contactless-journey-smart-airport-thailand/