หุ่นยนต์ AI ประจำสนามบิน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจการบินในสถานการณ์โควิด

Share

Loading

อย่างที่เราทราบกันดีว่าการระบาดของโคโรน่าไวรัสนั้นถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ต้องรับมือกับปัญหานี้อย่างสุดความสามารถไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำหรือประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นสามารถที่จะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 22 ล้านคนเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้การหาวิธีป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะหากปล่อยให้ระบาดแบบไร้การควบคุมป้องกัน จะมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จนทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถจะรองรับได้เลยทีเดียว ดังนั้นแต่ละประเทศจึงได้พยายามสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อที่จะสามารถนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์นี้ไปได้

รวมถึงในแง่มุมของเทคโนโลยี ก็เรียกได้ว่ามีการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อใช้รับมือกับสถานการณ์อันล่อแหลมนี้ โดยในส่วนของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ก็ได้มีตัวอย่างนำร่องในการเอาหุ่นยนต์มาใช้ในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอันจะช่วยควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นเอง

ซึ่งความตื่นตัวเรื่องนี้เราจะเห็นได้จากในส่วนของสนามบินหลาย ๆ ประเทศ ได้มีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นปราการด่านแรกที่อาจจะต้องพบกับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนที่เดินทางไกลมาจากต่างประเทศ ซึ่งหากควบคุมการระบาดที่สนามบินได้ ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดเป็นวงกว้างภายในประเทศได้ อันจะส่งผลดีต่อสวัสดิภาพของประชาชนและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจนตกต่ำซ้ำเติมลงไปอีก และแน่นอนว่าการเริ่มนำเอาหุ่นยนต์สมองกลเข้ามาใช้ในงานสนามบินนั้น จะส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ อยู่พอสมควร

1. บทบาทการทำงานของหุ่นยนต์จะเพิ่มมากขึ้น

เรียกได้ว่าแนวคิดการนำเอาหุ่นยนต์มาใช้ทำงานร่วมกับมนุษย์นั้นถือเป็นแนวคิดที่มีมานานพอสมควร แต่ทว่ายังไม่ได้มีการทดลองใช้อย่างจริงจังมากนัก อาจจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม แต่เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ระบาดของโคโรน่าไวรัส ก็ถือเป็นสถานการณ์บังคับที่ทำให้เราต้องหันกลับมามองที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์สมองกลว่ามันจะสามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง ซึ่งตัวอย่างที่เกิดขึ้น เช่น หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโลเลต ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาความสะอาด กำจัดเชื้อโรค ในสนามบินนานาชาติฮ่องกง หรือหุ่นยนต์ตอบคำถามเรื่องเที่ยวบินและนำทาง ที่ใช้ในสนามบินอินชอนของเกาหลีใต้

นอกจากนี้หากมองในแง่ของผลกระทบทางเศรษฐกิจ เราจะพบว่าการชะงักงันของการเดินทางเข้าออกประเทศนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสนามบินทั้งระบบ ซึ่งจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงในการจ้างแรงงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์อันอ่อนไหวในครั้งนี้ จึงเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการเริ่มลดจำนวนพนักงานและใช้หุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ รวมถึงระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มาทำงานแทน เพื่อลดต้นทุน ตลอดจนลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น ระบบจำหน่ายตัวอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันที่นั่งได้ด้วยตัวเองเมื่อเดินทางไปถึงสนามบิน โดยไม่จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่มาให้บริการ

รวมไปถึงการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ QR Code ด้วย smartphone ก็แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าตามร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ ในสนามบินก็อาจจะมีการลดเจ้าหน้าที่สำหรับให้บริการลง

โดยอาจจะคาดการณ์ได้ว่าเมื่อถึงตอนที่เราผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้แล้ว ระบบการทำงานแบบใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์สมองกลเข้ามาช่วยการทำงาน ก็อาจจะกลายเป็นระบบมาตรฐานที่ธุรกิจการบินยึดถือต่อไป เพราะถือว่าเป็นระบบที่มีข้อดีต่อธุรกิจหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย มีความถูกต้องแม่นยำให้การให้บริการ รวมถึงอาจจะมีคุณภาพกว่าการใช้มนุษย์ในงานบางอย่างด้วยซ้ำ

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในระบบงานของสนามบินทุกภาคส่วนมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงมากที่จะมีการลดพนักงานที่ให้บริการในสนามบินลงอย่างต่อเนื่อง และจะคงเหลือพนักงานเอาไว้เฉพาะในตำแหน่งงานที่จำเป็นเฉพาะทาง ซึ่งหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำงานแทนได้เท่านั้น

โดยมีการประเมินจาก SITA ซึ่งเป็นบริษัทบริหารจัดการระบบ IT รายใหญ่ที่มีความชำนาญในงานสนามบิน ได้กล่าวว่าภายในปี 2021 สนามบิน 70% ทั่วโลกจะต้องมีการนำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้งานแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นจริงอย่างที่ว่า อัตราส่วน 70% ของทั้งโลกนั้นถือว่าไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว

2. สนามบินที่มีเงินทุนสูงจะเข้าสู่ยุค AI ได้เร็วกว่าสนามบินต้นทุนต่ำ

แม้ว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่าจะเป็นอัตราเร่งที่ส่งผลกระทบให้สนามบินเกิดการปรับตัว และพยายามมองหาเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาช่วยให้ระบบการทำงานเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นข้อจำกัดก็คือสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง เนื่องจากการชะงักงานของการเดินทาง จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหารและฝ่ายการเงินต้องคิดหนักว่าจะเจียดเงินไปใช้จ่ายในส่วนไหนที่สำคัญก่อนกัน

ดังนั้นการลงทุนกับเทคโนโลยีชั้นเลิศไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์อัจฉริยะสมองกล หรือระบบอัตโนมัติที่มีคุณภาพสูง จึงเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับสนามบินที่มีเงินทุนสูงหรือสนามบินซึ่งอยู่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยสนามบินเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบงานแบบยุค AI ได้ก่อนสนามบินเล็ก ๆ ในประเทศที่กำลังพัฒนา และแน่นอนว่าหากระบบการทำงานยุค AI นั้นประสบความสำเร็จเมื่อนำไปใช้กับสนามบินขนาดใหญ่ทุนหนา ก็จะถือเป็นต้นแบบของการปฏิบัติงานให้กับสนามบินที่กำลังก้าวตามมาข้างหลังอย่างแน่นอนในอนาคต

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Security Systems Magazine

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.marketeeronline.co

เครดิตรูปภาพ
www.pexels.com