ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ปั้นแรงงานไทยสู่ยุค Digital Worker รองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง

Share

Loading

การรับมือกับปัญหาแรงงานในประเทศไทยหลังจากนี้ ที่มีตัวเลขจากหลายหน่วยงานบอกว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะจะมีการเลิกจ้าง มีคนตกงานหลายล้านคนจากพิษโควิด-19

หลัง หม่อมเต่า-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เมื่อ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพรรคได้มีมติเสนอชื่อ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำพรรคเป็น รมว.แรงงานคนใหม่ในโควตาพรรครปช.หากมีการปรับครม.เกิดขึ้น

ลองมาดูวิสัยทัศน์ทิศทางการพัฒนาแรงงานยุคใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ // facebook.com/AnekLaothamatas

มุมมองต่อการพัฒนาแรงงานยุคใหม่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ แกนนำพรรคและรักษาการกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง ได้พูดถึงทิศทางการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะระบบ Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทานที่กำลังเปลี่ยนแปลงหลังโควิด-19 จำเป็นต้องเร่งพัฒนาฝีมือทักษะแรงงานไทยให้ทันกับยุคสมัย Digital Worker

ดร.เอนกกล่าวว่ากระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากก่อให้เกิดรายได้จากการทำงานนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเมื่อดูจากตัวเลขผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานในระบบมีร่วมสิบกว่าล้านคน  หากรวมถึงแรงงานที่ไม่มีนายจ้างด้วยก็ร่วมๆ 16 ล้านคน แต่สามารถขยายได้ถึง 40 ล้านคน ก็เป็นเป้าหมายของเราที่ต้องการให้คนอีกร่วม 24 ล้านคนเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อจะได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ฝึกฝนทักษะเขา ให้เป็นอาวุธที่ทรงพลังในทางเศรษฐกิจได้ เพราะในโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ผู้ใช้แรงงานของเราต้องเป็น digital worker ได้ในด้านที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีชั้นสูง แรงงานของเราต้องมีความรู้ความสามารถ จนทำให้คำว่า “แรงงาน” กับ “นักวิชาชีพ” แทบจะไม่ต่างกัน เป็นอะไรที่ท้าทายมาก

เปลี่ยนแรงงานสู่ digital worker

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานก็จะต้องคิดในเรื่องของแรงงานที่เขามีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ความยากจนไม่มาก เราก็ต้องเข้าไปดูแลเพราะก็มีจำนวนไม่น้อย ที่ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมทั่วไป ไม่ใช่อุตสาหกรรมแนวหน้า แต่หลังจากนี้เราต้องเปลี่ยนคนไทยให้เป็นแรงงานที่มีความรู้ มีวิชาชีพ ให้เป็น digital worker เป็นแรงงานไทยที่ทำงานกับโรบอตได้ ซึ่งเป็นอะไรที่เร่งด่วนมาก กระทรวงแรงงานต้องทันสมัย ต้องทันโลก ก็เป็นเรื่องที่เราต้องพยายามทำซึ่งเราก็มีแผนงานที่จะทำกันอยู่แล้ว

ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เราต้องมาคิดว่าผู้ใช้แรงงานที่มีนายจ้างมันจะลดจำนวนไปเรื่อยๆ จะมีผู้ใช้แรงงานอิสระหรือ freelancer ที่เป็นกลุ่มที่ทำงานจากบ้าน นักวิชาชีพอิสระ เราก็พยายามเข้าไปช่วยสนับสนุนให้เขาทำงานอย่างมีอิสระ สร้างสรรค์ เพราะเขาจะเป็นกำลังสำคัญสำหรับภูมิรัฐศาสตร์ที่ดีขึ้นสำหรับเรา

“กระทรวงแรงงานที่ผ่านมา คนเขาไปคิดกันแต่เรื่องที่ว่าจะมีคนที่เข้ามาหาประโยชน์จากแรงงานต่างประเทศ หรือแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ อันนั้นมันเป็นกระทรวงแรงงานในยุคก่อนๆ เราไม่ควรทำให้กระทรวงแรงงานเป็นอย่างนั้นต่อไป กระทรวงแรงงานต่อไปต้องทำให้เป็นทั้งกระทรวงด้านแรงงาน กระทรวงนักวิชาชีพ เป็นกระทรวงที่ทันสมัย กระทรวงที่เปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย ทำงานทันโลก การทำงานต้องมีทักษะ มีคุณภาพและทำงานเร็ว ต้องมีการสร้างความร่วมมือกับนักวิชาชีพ นักวิชาการ นักธุรกิจ ซึ่งนักธุรกิจเขาเห็นโอกาสในเรื่องที่ผมพูดข้างต้นเร็วกว่าผมอีก เขาก็อยากจะทำและเขาต้องการคนที่จะมาทำงานที่เป็น modern worker เป็นคนทำงานในระดับ 4.0 เราก็ต้องเข้าไปช่วยเขา

รับมือวิกฤตคนว่างงาน

เราคิดกันมาตั้งแต่เริ่มมีโควิดเข้ามาแล้ว เราก็เริ่มคิดกันเรื่องนี้ มีแผนงานอะไรเยอะแยะ อย่างเรื่องแรงงานดิจิทัลที่ผ่านมาเราก็ทำงานร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยที่มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาน ก็มาช่วยกันคิด เพราะภาคธุรกิจก็ต้องการแรงงานที่จะมาทำงานแบบใหม่ ส่วนเราก็พร้อมสนับสนุนเขาเต็มที่ โดยผลที่เราจะได้ก็คือแรงงานของเราจะตกงานน้อยลง และถ้าเป็นไปได้ก็จะได้ไม่ต้องกลับไปทำงานแบบเดิมที่ค่าจ้างต่ำ คนจำนวนหนึ่งก็จะถูกฝึกให้เป็นแรงงานวิชาชีพ เขาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศไทยก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จากยุคที่เป็นอุตสาหกรรมหนัก-อุตสาหกรรมเบา ก็จะเข้าไปสู่ยุคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง เนื่องจากโควิด-19 มาเร่งเรา

“การทำงานของกระทรวงแรงงานจะต้องไม่ใช่มีแต่ข้าราชการ เพราะมันไม่พอ และทักษะอะไรต่างๆ ก็เติบโตไม่ทันกับโลก กระทรวงแรงงานต้องทำตัวเราให้เป็นเหมือนคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ ก.ร.อ. สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน สหภาพแรงงาน คือร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างคนให้เป็นพลังใหม่ให้ได้มากที่สุด”

เพิ่มทักษะแรงงานรับ supply chain ของโลก

ดร.เอนก ยังกล่าวถึงทิศทางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทยหลังโควิด-19 ว่าน่าจะดี  แต่ระยะแรกก็ต้องปรับตัวกว่าจะฟื้นขึ้นมา ก็เหมือนเครื่องจักร กว่าจะกลับมาเดินได้เต็มสตรีมอีกครั้งก็ต้องใช้เวลา อาจจะมีปัญหาเรื่องการว่างงาน การหางานทำชนิดใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ต้องปรับตัวรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น โครงการอีอีซีเป็นอุตสาหกรรมที่รองรับการเปลี่ยน supply chain ของโลก คือต่อไปหลายประเทศโดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่นจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น เพราะไทยมีความพร้อมในด้านสาธารณสุข อย่างพวกอุตสาหกรรมระดับสูงที่จีนกำลังจะนำโลก ก็จะแบ่งส่วนหนึ่งมาทำการผลิตในไทย เราก็ต้องร่วมมือกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และอาจรวมถึงอินเดียที่จะทำให้อุตสาหกรรมด้านยา การต่อสู้กับโรคระบาด การทำวัคซีน การผลิตยารักษาโรคต่างๆ ที่จะทำอย่างไรให้ไทยพึ่งตนเองทางด้านยา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัยที่มีคุณภาพสูงที่เรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งหมดต้องใช้เวลาในการดำเนินการผลิต ซึ่งเวลานี้เรายังขาดวัสดุ เทคนิคการผลิตและองค์ความรู้ เราก็ต้องเลือกบางประเทศมาเป็นพันธมิตรในการผลิตกับไทย เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางสาธารณสุขยิ่งขึ้น

ระบบสาธารณสุขของไทยตอนนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอยู่ในระดับนำของโลก ก็ต้องพยายามใช้ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ อย่างพวกอุตสาหกรรมด้านสาธารณสุข ด้านโรงพยาบาล การดูแลผู้สูงวัย งานเหล่านี้ต้องทำให้เป็นงานหลักของประเทศ ถือเป็นโอกาสที่เราต้องประเมินกันใหม่หมด เพื่อสร้างแรงงานยุคใหม่ให้ตรงกับความต้องการของโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง

ข้อมูล :

  • thaipost.net
  • วรพล กิตติรัตวรางกูร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/07/06/anek-laothamatas/