มข.คิดค้นโดรนบินวัดค่าฝุ่น PM ตรวจได้ทุกที่ รายงานผลเรียลไทม์

Share

Loading

มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดอนุภาคฝุ่น โดยทำการติดตั้งไปกับสมาร์ทบัส บัสซิตี้ และโดรนบินสำหรับตรวจพื้นที่ รายงานผลแบบเรียลไทม์ เผยเพิ่มโอกาสประชาชนเข้าถึงข้อมูลฝุ่นจากสถานที่ตรวจวัดจริง ช่วยวางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์

อ. ดร. ชวิศ ศรีจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผู้พัฒนา “โดรนบินวัดค่าฝุ่นพีเอ็ม” ภายใต้โครงการนวัตกรรมเพื่อเฝ้าระวังและลดผลกระทบของมลภาวะสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ เปิดเผยว่า เป้าหมายเพื่อติดตามสถานการณ์ของฝุ่นละอองในอากาศตั้งแต่ค่าฝุ่นที่มีขนาด 10 ไมคอน มาถึงฝุ่นที่มีขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในชั้นบรรยากาศและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทั้งกรุงเทพมหานครและขอนแก่น ที่มีค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

‘’จังหวัดขอนแก่นมีสเตชั่นที่วัดค่าฝุ่นเพียงจุดเดียวอยู่ที่ศูนย์ราชการจังหวัดฯ ทำให้ไม่ทราบว่าจุดอื่นๆ มีค่าฝุ่นในปริมาณเท่าใด จึงได้คิดค้นระบบเซ็นเซอร์เคลื่อนที่และแผนที่ 3 มิติ ที่สามารถวัดค่าฝุ่นตามจุดต่างๆ ในจังหวัด พบว่าค่าที่วัดได้แตกต่างจากจุดสเตชั่นมาก ซึ่งไม่มีรถยนต์ ไม่มีการเผาไหม้เข้าไปรบกวน ทำให้ตระหนักได้ว่า ประชาชนควรได้รับข้อมูลค่าฝุ่นซึ่งใกล้เคียงกับบริเวณที่ตนเองอยู่มากที่สุด” นายชวิศ กล่าว

โดยทางทีมงานได้ออกแบบเครื่องมือวัดค่าฝุ่นตั้งแต่ขนาดพีเอ็ม 1, 2.5 และ 10 ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ประชาชนสามารถพกพาใช้วัดค่าฝุ่นในบริเวณที่พักอาศัยหรือตามสถานที่ต่างๆ และอีกแบบคือใช้สำหรับการสำรวจพื้นที่กว้างซึ่งมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่กว่า สามารถติดตั้งไปกับโดรน สมาร์ทบัส และซิตี้บัส เพื่อตรวจวัดค่าฝุ่นตามจุดต่างๆ

การทำงานของอุปกรณ์ตรวจวัดนี้จะมีพัดลมดูดอากาศและฝุ่นเข้าสู่ตัวกรองหรือฟิลเตอร์ เช่น หากต้องการวัดอนุภาคขนาด 2.5 ก็จะมีฟิลเตอร์ 2.5 ไมครอนวัดขนาด และเมื่ออนุภาคเข้ามาเจอกับแสงเลเซอร์ ซึ่งจะทำการตรวจวัดฝุ่นในอากาศ คำนวณและแสดงผลออกมาเป็นหน่วยไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรด้วยความแม่นยำสูง ขณะที่ต้นทุนอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นนี้มีราคาไม่เกิน 1,000 บาท ทำให้ประชาชนสามารถหาซื้อและพกพาไปได้ทุกที่ จึงเป็นตัวช่วยในการวัดค่าฝุ่นได้ดีอีกทางหนึ่ง ในขณะที่ราคาสเตชั่นหรือสถานีตรวจวัดอยู่ที่ 11 ล้านบาทเป็นอุปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง

โดยทั้งสองแบบจะแสดงผลที่ได้ในแผนที่แบบเรียลไทม์ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ทำให้สามารถวัดค่าฝุ่นและประเมินสถานการณ์ได้ตลอด และแจ้งเตือนให้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมรับมือล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งได้ส่งต่อนวัตกรรมนี้ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่นแล้ว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://th.kku.ac.th/15448/