การเปิดบัญชีเงินฝากผ่าน ‘เทคโนโลยีจดจำใบหน้า’

Share

Loading

เทคโนโลยีชีวมิติ หรือ ไบโอเมตริกซ์ (Biometrics) เป็นข้อมูลอัตลักษณ์ที่ยืนยันถึงตัวบุคคล เช่น ลักษณะบนใบหน้าหรือดวงตา ซึ่งการใช้วิธีจดจำใบหน้า (Facial Reconization Technology) ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการลงทะเบียนหรือบันทึกประวัติของตัวบุคคล เช่น การตรวจคนเข้าเมือง การบันทึกประวัติผู้ร้าย หรือแม้แต่สายการบินที่ใช้ระบบนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกต่อลูกค้า

สำหรับประเทศไทยนั้น การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยใช้เทคโนโลยี Biometrics จะกำลังเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อยู่ระหว่างเปิดให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการชำระเงินรวม 13 แห่งทดสอบเปิดบัญชีลูกค้าด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) มาใช้เป็นวิธีในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม เนชันแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID – NDID) ในวงจำกัด ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท.

ในระยะแรกของการทดสอบพิสูจน์และยืนยันตัวตน (e-KYC) ผ่านแพลตฟอร์ม NDID จะเริ่มจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด  7 แห่ง ดังนี้

– บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) – แอพลิเคชัน Bualuang m Banking
– บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (BAY) – แอพลิเคชัน KMA
– บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) – แอพลิเคชัน K-Plus
– บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) – แอพลิเคชัน CIMB Digital Banking TH
– บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) – แอพลิเคชัน ME ba TMB
– บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) – แอพลิเคชัน SCB esay
– บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) – แอพลิเคชัน กรุงไทย NEXT

หลังจากนั้นจึงจะขยายการทดสอบผู้ให้บริการชำระเงิน หน่วยงานต่างๆ และสถาบันการเงินอื่นๆ ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ธปท.ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อสถาบันที่จะเข้า Sandbox ได้ เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจและยังไม่ได้เริ่มให้บริการ ซึ่งมีโครงการที่อยู่ใน Sandbox ธปท. เช่น การใช้เทคโนโลยี Biometrics ในกระบวนการเปิดบัญชีเงินฝากและเงินอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เทคโนโลยี Blockchain สำหรับธุรกรรมออกหนังสือคํ้าประกัน ธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศและธุรกรรมสินเชื่อสำหรับเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain Financing)

หากผลทดสอบทั้ง 13 แห่งออกมามีความเสถียรทุกๆ ด้าน ทุกอย่างราบรื่น เช่น การแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า การรักษาข้อมูลหรือการดูแลลูกค้าและมีความเสถียรภาพระบบ จึงจะขยายการทดสอบในกลุ่มอื่น เช่น กองทุนรวมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กลุ่มประกันชีวิตและกลุ่มประกันภัย เพื่อเข้ามาทดสอบในระยะถัดไป โดยคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นไตรมาส 2 หรือไตรมาส ของปีนี้

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการชำระเงินทดสอบใช้ Biometrics ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าสำหรับเปิดบัญชี เพื่อยกระดับกระบวนการรู้จักลูกค้าของตน (Know Your Customer – KYC) ให้มีความปลอดภัย ป้องกันการถูกปลอมแปลงหรือบุคคลอื่นสวมรอยมาเปิดบัญชี จากนั้นจึงให้ทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารได้ในวงจำกัด โดยใช้กับการเปิดบัญชีเงินฝากเป็นบริการแรก เพื่อรองรับการใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

การเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารแห่งใหม่ ผ่านโมบายแอพลิเคชัน โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่เคยมีบัญชีเงินฝาก ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่น่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางมาแสดงตนที่สาขา และลดการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนแล้ว การเปิดบัญชีดังกล่าวสามารถทำได้เพียง 20 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาการเดินทางและเอกสารที่ต้องจัดเตรียมอีก

การยืนยันตัวตนผ่านระบบ NDID นั้นไม่ยุ่งยาก เพราะทุกคนต่างมีโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสื่อสารอยู่แล้ว เมื่อลูกค้าทำการยืนยันตัวตนและถ่ายรูปไว้ที่ธนาคารใดแล้ว หากต้องการจะใช้บริการกับธนาคารใหม่เพิ่มอีก เช่น เปิดบัญชี ลูกค้าไม่จำเป็นต้องนำเอกสารไปยังธนาคารใหม่ แต่สามารถใช้ระบบ NDID เพื่อบอกธนาคารแห่งใหม่ให้ไปใช้ข้อมูลจากธนาคารเดิมที่ลูกค้าเคยยืนยันตัวตนไว้ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้ามีบัญชีที่ธนาคาร A และเคยถ่ายรูปไว้ หากต้องการไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร B ลูกค้าสามารถทำผ่าน Mobile Application ของธนาคาร B และให้ธนาคาร B ไปขอข้อมูลจากธนาคาร A ที่ได้มีการยืนยันตัวตนไว้แล้ว เมื่อได้ข้อมูลจากธนาคาร A ก็สามารถเปิดบัญชีที่ธนาคาร B ได้สมบูรณ์ แต่กรณีที่ลูกค้าไม่ได้ปรับปรุงข้อมูลและถ่ายรูปหรือ Up Date ข้อมูลที่ธนาคารเดิม จะยังไม่สามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบนี้ได้ ต้องไปดำเนินการปรับปรุงข้อมูลให้เรียบร้อยเสียก่อน

ถือเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก โดยเฉพาะในยุคที่การเดินทางนอกจากจะมีต้นทุนแล้ว ยังเสี่ยงทั้งจากฝุ่นพิษและการระบาดของไวรัสแบบนี้  Biometrics น่าจะตอบโจทย์ในหลายๆ เรื่องเลยทีเดียว

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 – 4 มีนาคม 2563