กม.ปกป้องความเป็นส่วนตัวดิจิทัลที่เข้มที่สุดของอเมริกามีผลบังคับใช้ในแคลิฟอร์เนียแล้ว

Share

Loading

California Consumer Privacy Act (CCPA) หรือกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวและคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับผู้อยู่อาศัยในรัฐแคลิฟอร์เนีย กำหนดให้บริษัทธุรกิจต่าง ๆ แจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงวิธีการเก็บและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล โดยกฎหมายดังกล่าวให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการแจ้งความประสงค์ห้ามบริษัทต่าง ๆ ขายหรือเผยแพร่ข้อมูลของตน นอกจากนี้ยังกำหนดให้ภาคธุรกิจทำลายข้อมูลที่มีอยู่หากลูกค้าขอให้ลบข้อมูลดังกล่าว

กฎหมายนี้ยังครอบคลุมการขายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ข้อมูลเกือบทุกประเภทที่จะเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจได้ ซึ่งรวมไปถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างบริษัท และการขายข้อมูลของบุคคลที่สาม ทำให้ธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น Facebook และ Google ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ เช่นเดียวกับบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ต่างๆด้วย โดยภายใต้กฎหมายนี้ ห้างค้าปลีกอย่าง Walmart, Home Depot และบริษัทอื่นๆ ได้เพิ่มลิงก์ “Do Not Sell My Info” หรือ “ห้ามขายข้อมูลส่วนตัว” ในเว็บไซต์ของตนเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิของตนได้ง่ายขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลกล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่ากฎหมาย CCPA จะส่งผลกระทบต่อโฆษณาประเภทระบุเป้าหมายที่ใช้โดยบริษัทต่าง ๆ เช่น Facebook และ Google อย่างไรบ้าง ซึ่ง Facebook เก็บข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากและใช้ข้อมูลดังกล่าวในการนำทางบรรดาโฆษณาไปไปยังบุคคลกลุ่มต่างๆ ข้อมูลที่ว่านี้อาจรวมถึงเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา ซึ่ง Facebook บอกว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลประเภทนั้นแก่บรรดาผู้โฆษณา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กฎหมายนี้ของรัฐแคลิฟอร์เนียอาจกลายเป็นแบบจำลองทางกฎหมายให้แก่รัฐอื่นๆ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ ในการที่จะต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า “surveillance capitalism” หรือ “ทุนนิยมในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล” หมายถึงการที่บริษัทธุรกิจแสวงหาผลกำไรจากข้อมูลที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ให้ไปโดยที่ไม่รู้ตัว หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยที่ไม่ได้อะไรตอบแทน

ผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งข้อสังเกตว่า บางส่วนของกฎหมายอาจนำมาซึ่งความท้าทายทางกฎหมาย และว่าข้อยกเว้นจำนวนมากของกฎหมายอาจจะกลายเป็นปัญหา เช่นเดียวกับความจริงที่ว่ากฎหมายนี้จะมีผลต่อข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยธุรกิจเท่านั้น ไม่ใช่โดยรัฐบาล ส่วนนักวิจารณ์กล่าวว่า ข้อยกเว้นของกฎหมายเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคเอาไว้ได้ในบางสถานการณ์ แม้ว่าผู้บริโภคจะแจ้งวัตถุประสงค์ให้ทำลายข้อมูลส่วนบุคคลแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่น บริษัทจะสามารถเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้ได้หากว่าข้อมูลนั้นจะช่วยให้เสร็จสิ้นกระบวนการขาย และบริษัทยังสามารถเก็บข้อมูลไว้ได้ ในลักษณะที่ผู้บริโภคอาจคาดหวังให้บริษัททำเช่นนั้น

Joseph Jerome เป็นผู้อำนวยการนโยบายที่กลุ่มความเป็นส่วนตัว Common Sense Media / Kids Action บอกกับผู้สื่อข่าวของ Associated Press ว่า กฎหมายนี้เป็นเหมือนสิทธิในการแจ้งความประสงค์ และหวังว่าข้อมูลส่วนตัวจะถูกลบไปมากกว่า

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ให้การปกป้องสิทธิเยาวชนที่เข้มงวด เช่น ห้ามการขายข้อมูลของเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ Margot Kaminski ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด ซึ่งศึกษาเรื่องกฎหมายเทคโนโลยีบอกกับผู้สื่อข่าว AP ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ใช้เวลาในการอ่านข้อตกลงเรื่องความเป็นส่วนตัวที่มีอยู่เนื่องจากมีความยาวและซับซ้อน แต่ถ้าหากคนเราไม่แม้จะแต่อ่านข้อตกลงความเป็นส่วนตัวที่ตนกำลังจะลงชื่ออยู่นั้น แล้วคนเหล่านั้นยังจะต้องการข้อมูลของตนจริงๆ หรือไม่?

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.voathai.com/a/california-digital-privacy-law/5239126.html