“เกาหลีใต้” ฉลอง “หุ่นยนต์ 1 ล้านตัว” ใน “อุตสาหกรรมการผลิต”

Share

Loading

“สหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ” หรือ International Federation of Robotics (IFR) ได้เปิดเผยข้อมูล “ความหนาแน่นของหุ่นยนต์” ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ในรายงานที่มีชื่อว่า World Robotics 2023 ชี้ให้เห็นถึงค่าเฉลี่ยใหม่ที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คืออัตราการใช้หุ่นยนต์ 150 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

โดยอัตราความหนาแน่นโดยสังเขปของหุ่นยนต์ตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีดังนี้

ทวีปเอเชีย มีความหนาแน่นของ “หุ่นยนต์” 170 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คนในอุตสาหกรรมการผลิต นำโดยเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ต่างพาเหรดกันติด 1 ใน 10 ประเทศที่มี “หุ่นยนต์” มากที่สุด

ขณะที่ “สหภาพยุโรป” มีความหนาแน่นของ “หุ่นยนต์” 200 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน โดยมีเยอรมนี สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก

เช่นเดียวกับความหนาแน่นของ “หุ่นยนต์” ในอเมริกาเหนืออยู่ที่ 190 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน ซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มี “หุ่นยนต์” มากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิต

สำหรับ 10 อันดับประเทศที่มีการใช้หุ่นยนต์มากที่สุดในปี 2023 มีดังนี้

อันดับ 1 “เกาหลีใต้”

“เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่มีการนำ “หุ่นยนต์” มาใช้ในอุตสาหกรรมเป็น “อันดับ 1” ของโลก โดยความหนาแน่นในการใช้ “หุ่นยนต์” ของ “เกาหลีใต้” อยู่ที่ 1,000 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คนในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 6% ในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี 2017 โดยเศรษฐกิจ “เกาหลีใต้” ได้รับประโยชน์จากลูกค้ารายใหญ่จำนวน 2 อุตสาหกรรม นั่นคือ “อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของ “เกาหลีใต้” และ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ซึ่งเป็นดาวเด่นแห่งภูมิภาค

อันดับ 2 “สิงคโปร์”

“สิงคโปร์” ตาม “เกาหลีใต้” มาติดๆ ด้วยอัตรา “หุ่นยนต์” 750 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน แม้ “สิงคโปร์” จะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่มีพนักงานในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนน้อยมากก็ตาม

อันดับ 3 “เยอรมนี”

“เยอรมนี” มี “หุ่นยนต์” 420 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน อยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก โดยต้องนับว่า “เยอรมนี” มีความหนาแน่นของ “หุ่นยนต์” ในระบบเศรษฐกิจที่ “ใหญ่ที่สุดของยุโรป” โดยเพิ่มขึ้น 5% นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา

อันดับ 4 “ญี่ปุ่น”

“ญี่ปุ่น” ตามมาในอันดับที่ 4 โดยมี “หุ่นยนต์” 400 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน นับเป็นความหนาแน่นของ “หุ่นยนต์” ในประเทศผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีอัตราค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ในแต่ละปี

อันดับ 5 “จีน”

“จีน” เคยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 5 ในปี ค.ศ. 2021 และรักษาตำแหน่งนี้เอาไว้ในได้ปี ค.ศ. 2022 จากการลงทุนมหาศาลของประเทศในด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ ทำให้ “จีน” มี “หุ่นยนต์” จำนวนมาก โดยที่มีความหนาแน่นสูงถึง 390 ตัวต่อพนักงาน 10,000 คน แม้ว่า “จีน” จะมีแรงงานจำนวนมากถึง 40 ล้านคนในอุตสาหกรรมการผลิตก็ตาม

อันดับ 6 “สวีเดน”

“สวีเดน” ก็เช่นเดียวกับ “จีน” ที่ยังคงรักษาตำแหน่งเดิมเอาไว้ได้ในปี ค.ศ. 2022 โดยมี “หุ่นยนต์” 345 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน

อันดับ 7 “ฮ่องกง”

เช่นเดียวกัน “ฮ่องกง” ก็รักษาตำแหน่งเดิมไว้ในได้ปี ค.ศ. 2022 โดยมี “หุ่นยนต์” ในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 333 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน

อันดับ 8 “สวิตเซอร์แลนด์”

แม้จะมีภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยว ทว่า “สวิตเซอร์แลนด์” ก็มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมการผลิตมาอย่างยาวนาน และก้าวขึ้นมาติด 1 ใน 10 ในปีนี้ ด้วยหุ่นยนต์ 300 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน

อันดับ 9 “ไต้หวัน”

สถานการณ์ของ “ไต้หวัน” ในปี ค.ศ. 2022 ร่วงลงมา 1 อันดับ โดย “ไต้หวัน” มีอัตราการใช้ “หุ่นยนต์” ในภาคอุตสาหกรรมจำนวน 290 ตัว ต่อแรงงาน 10,000 คน

อันดับ 10 “สหรัฐอเมริกา”

จำนวน “หุ่นยนต์” ของ “สหรัฐอเมริกา” เพิ่มขึ้นจาก 275 ตัวในปี ค.ศ. 2021 มาเป็น 285 ตัวในปี ค.ศ. 2022

จากอันดับดังกล่าว ทำให้โลกได้จับตา “เกาหลีใต้” ที่สร้างสถิติใหม่โดยมี “หุ่นยนต์” ใช้งานถึง 1 ล้านตัวในปี ค.ศ. 2023

สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว เป็นผลพวงภายใต้งบลงทุนเกือบ 8 หมื่นล้านบาทในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดหา “หุ่นยนต์” ป้อนอุตสาหกรรมภายในปี ค.ศ. 2030

โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา “กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน” หรือ Ministry of Trade, Industry and Energy (MOTIE) ของ “เกาหลีใต้” ได้ออกมาเปิดเผยแผนการลงทุน 3 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท

ใน “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” ร่วมกับภาคเอกชน โดยมีเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2030 ในการจัดหา “หุ่นยนต์ 1 ล้านตัว” เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ

MOTIE ระบุว่า แผนงานสำหรับโครงการ “หุ่นยนต์อัจฉริยะ” ดังกล่าว จะมุ่งเน้นไปที่ การจัดหา “ชิ้นส่วนหุ่นยนต์” ที่สำคัญให้ได้ 80% ภายในปี ค.ศ. 2030

โดย “รัฐบาลเกาหลีใต้” จะยกเลิกกฎระเบียบที่ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของ “วงการหุ่นยนต์” ราว 50 ฉบับทันที เพื่อปูทางสำหรับการพัฒนา “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” และบ่มเพาะบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน “หุ่นยนต์” ในปัจจุบัน ที่มีถึง 15,000 คน

ทั้งนี้ “เกาหลีใต้” ตั้งเป้าที่จะใช้ “หุ่นยนต์ 1 ล้านตัว” ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ครอบคลุมด้านการเกษตร ด้าน Logistics หรือการขนส่ง ด้านกลาโหม และด้านการแพทย์

โดยมีเป้าหมายอื่นๆ ภายใต้โครงการนี้ได้แก่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ “เป็นมิตรต่อหุ่นยนต์” ตลอดจนการกำหนดแนวทางด้านจริยธรรมในแง่ของการพัฒนา และการใช้งาน “หุ่นยนต์”

ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขนาดตลาด “หุ่นยนต์” ในประเทศไปสู่ระดับ 20 ล้านล้านวอน หรือราว 6 แสนล้านบาท ในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2024 ที่ 6 ล้านล้านวอน หรือราว 1.5 แสนล้านบาท

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/02/06/robots-in-south-korea-manufacturing-industry/