“SME ออโตเมชั่น” ทางเลือก ทางรอด หรือ ทางบังคับ

Share

Loading

สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล การนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีคอร์สการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อเทียบผลในระยะยาวแล้วถือว่าคุ้มค่า เพราะสามารถลดต้นทุนได้ถึง 20-30% หลายอุตสาหกรรมจึงเริ่มนำระบบหุ่นยนต์หรือระบบออโตเมชั่นเข้าไปทำงานร่วมกับคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ประเมินภายในสิ้นปี 2566 จะมีการลงทุนด้านหุ่นยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท ช่วยลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศได้ 30% หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท และยังสามารถส่งออกได้ในปี 2569

จากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี จำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น มีการลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์ของเอสเอ็มอีสูงถึง 60,000 ล้านบาท โดยกว่า 85% เห็นว่าหากไม่มีการปรับเปลี่ยนจะไม่สามารถพัฒนาธุรกิจและแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

รายงาน World Robotics ฉบับใหม่ของสมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) เผยตัวเลขการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลกในปี 2022 มีจำนวนทั้งสิ้น 553,052 ตัว เติบโต 5% จากปีก่อนหน้า โดยภูมิภาคเอเชียมีการติดตั้งหุ่นยนต์ใหม่มากที่สุดด้วยสัดส่วน 73% ตามด้วยยุโรป 15% และ อเมริกา 10% คาดว่าในปี 2566 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเติบโต 7% เป็นมากกว่า 590,000 ตัวทั่วโลก

ประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2022 ด้วยจำนวนการติดตั้ง 290,258 ตัว เติบโต 5% จากปีก่อนหน้า ซัพพลายเออร์หุ่นยนต์ในประเทศและต่างประเทศได้จัดตั้งโรงงานผลิตในจีนและเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (2017-2022) ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีนมีการเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหุ่นยนต์อันดับสองรองจากจีน ในปี 2022 มีการเติบโต 9% ด้วยจำนวน 50,413 ตัว ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดโควิดที่ 49,908 ตัวในปี 2019 แต่ยังน้อยกว่าปี 2018 ที่มีจำนวนติดตั้งมากที่สุด 55,240 ตัว โดยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (2017-2022) ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีการเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี นอกจากนี้ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของโลก ยังมีส่วนแบ่งตลาด 46% ของการผลิตหุ่นยนต์ทั่วโลก

เกาหลีใต้ใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน โดยในปี 2022 มีการติดตั้ง 31,716 ตัว เพิ่มขึ้น 1% นับเป็นปีที่สองที่มีการเติบโตหลังจากที่สี่ปีก่อนหน้าการติดตั้งลดลงต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับ 14 ของโลก และอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์ ในปี 2022 มีการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมประมาณ 3,300 ตัวต่อปี

จากการสำรวจและวิเคราะห์โดย ทีมวิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี เนคเทค พบว่าทิศทางการเติบโตของตลาดและอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการทั้งแบบมืออาชีพและสำหรับผู้บริโภคทั่วไป มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการหุ่นยนต์ที่นำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศ มาทำตลาดในประเทศ ประมาณ 25-30 ราย ส่วนใหญ่ใช้ในด้านการต้อนรับ (Hospitality) การทำความสะอาด (Professional cleaning) การขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and logistics) และยังมีผู้ผลิตหุ่นยนต์กลุ่มเล็กๆ 3-5 บริษัท ที่มีการพัฒนาหุ่นยนต์ของไทยขึ้นมาเอง โดยจะผลิตหุ่นยนต์ตามความต้องการของลูกค้า มีการพัฒนาต่อยอดให้มีระบบ ชุดคำสั่ง ภาษาในการโต้ตอบเป็นของคนไทย โดยสามารถจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น Niche market เช่น โรงพยาบาล กลุ่มผู้สูงอายุ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ซึ่งต้องการหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเฉพาะ ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า

โดยรวมแล้วถือว่าแนวโน้มการเติบโตของตลาดในประเทศไทยยังไปได้อีกมาก ด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

(1) การขาดแคลนแรงงานทั้งในระดับที่มีฝีมือ (Skilled labor) และไม่มีฝีมือ (Unskilled labor)

(2) ราคาหุ่นยนต์อยู่ในระดับที่ผู้ใช้งานยอมรับได้

(3) มีตัวอย่างการใช้งานให้เห็นและง่ายต่อการใช้งาน (User friendly) มากขึ้น

(4) สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร

และ (5) ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น มีคนระดับใช้แรงงานหรือทำงานลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายการเติบโตของตลาดและการใช้งานในประเทศอีกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังไม่พอเพียง มาตรการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้งานยังไม่มากพอ และบุคลากรผู้มีทักษะเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมยังมีความขาดแคลน เนื่องจากต้องใช้ทักษะหลากหลายสาขา ในขณะที่สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ แม้จะมีราคาจับต้องได้ แต่ผู้ประกอบการก็ยัง Customized อะไรได้ไม่มาก และยังไม่มีมาตรฐานหรือข้อกำหนดรองรับเพื่อปกป้องและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้สำหรับเอสเอ็มอียุคใหม่

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/12/29/sme-automation/