ถ้าข้อมูล DNA ของคุณ ‘หลุด’ ออกไป มันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง?

Share

Loading

ทุกวันนี้ผู้คนมีความใส่ใจเรื่อง ‘ข้อมูลหลุด’ มากขึ้น และก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเรามันหลุดกันบ่อยจริงๆ เรียกได้ว่า ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ไปจนถึงประวัติพื้นฐานหลุดกันว่อน ไม่อย่างนั้นพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็คงโทรมาหาเราไม่ได้

แต่ข้อมูลพวกนี้ก็ไม่ใช่ข้อมูลอย่างเดียวที่เราทิ้งไว้ในที่สาธารณะ เพราะอย่างน้อยๆ ข้อมูลพันธุกรรมของเรานั้นก็ ‘หลุด’ อยู่ในที่สาธารณะตลอดเวลา และหากคนจะนำไปใช้มันก็ทำได้ ดังเช่นถ้าใครดูซีรีส์สืบสวน เทคนิคการนำเอา DNA จากคนที่ไม่ยอมให้ DNA ง่ายๆ ก็คือให้เขาดื่มน้ำ แล้วทิ้งแก้วหรือขวดไว้ในที่สาธารณะก็เรียบร้อย สามารถเอาไปถอด DNA ได้ หรือมากกว่านั้นเส้นผมของเราที่ร่วงทิ้งไว้ ก็ยิ่งเอาไปถอด DNA ได้ง่ายๆ เลย

ตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า ‘แล้วเขาจะเอาไปทำอะไรได้?’ เราอาจต้องย้อนไปเบสิกเรื่องพันธุกรรมก่อน

คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าในของเซลล์ของมนุษย์ (หรือสิ่งมีชีวิตใดๆ) มันจะมีนิวเคลียสอยู่ และในนิวเคลียสจะมีข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดอยู่ด้วย ข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมด เราเรียกมันว่าจีโนม ซึ่งในจีโนมหน่วยย่อยลงมาคือโครโมโซม หน่วยย่อยจากโครโมโซมคือยีน และหน่วยเล็กสุดคือ DNA

ในทางการสืบสวน การเทียบ DNA ที่เราเห็นในหนังหรือซีรีส์ มันไม่ได้เทียบทั้งหมด แต่เขาจะเทียบ 10-13 จุด ตามมาตรฐานของตำรวจและระบบยุติธรรมแต่ละประเทศ (ยุโรปใช้ 10 อเมริกาใช้ 13) ซึ่งเราก็จะเห็นว่าจริงๆ มันเป็นส่วนเล็กมากของจีโนม และนี่เลยทำให้การได้ ‘ตัวอย่าง DNA’ มาแบบไม่ต้องครบ หรือเสียหายบางส่วน ก็สามารถเอามาใช้ในทางนิติเวชได้ เพราะเขาไม่ได้ดู ‘DNA ทั้งหมด’ แค่เพียง ‘สุ่มตรวจ’ เป็นจุดๆ ว่ามันคือ DNA เหมือนที่ปรากฏใน ‘ที่เกิดเหตุ’ หรือเปล่า

ดังนั้นในแง่นี้ ‘ตัวอย่าง’ ที่เก็บๆ กันในทางนิติเวช มันไม่ได้ละเอียดระดับเอามาใช้ในเชิงการวิเคราะห์พันธุกรรมได้ พูดอีกแบบคือ ‘ฐานข้อมูล DNA’ ของ FBI ก็คือการเก็บตัวอย่าง DNA แค่ 13 จุด เพียงเท่านี้มันเอาไปวิเคราะห์ในทางพันธุกรรมแบบละเอียดไม่ได้ ดังนั้นในซีรีส์ เราก็จะไม่เห็นว่าตัวเอกอนุมาน สีผม สีตา และส่วนสูงของคนร้ายจากตัวอย่าง DNA ในที่เกิดเหตุได้

แต่อีกด้านหนึ่ง ทุกวันนี้ก็เริ่มมีบริการ ‘ถอดรหัสพันธุกรรม’ เพื่อหาบรรพบุรุษไปจนถึงค้นหาโรค (ของอเมริกา เจ้าที่ดังคือ 23andMe) ซึ่งบริการพวกนี้ก็คาดเดาได้ว่าอีกไม่นานตามสถานบริการด้านสุขภาพเอกชนน่าจะมีให้บริการมากขึ้น

พวกนี้เขาจะดู DNA เราละเอียด คือจะเก็บตัวอย่างไปเยอะ (ผ่านเลือด ฯลฯ) เพื่อหาละเอียดระดับ ‘ยีน’ ว่ายีนของเราแต่ละตัวหน้าตาเป็นอย่างไร

ซึ่งอธิบายง่ายๆ คือ บริษัทเหล่านี้มักจะเก็บข้อมูล DNA ของเรามากและละเอียดยิ่งกว่า FBI ซึ่งข้อมูลละเอียดระดับนี้นี่แหละที่มันเริ่มจะ ‘บอกอะไรต่างๆ’ เกี่ยวกับเราได้

อ้าว แล้วบอกอะไรได้บ้าง?

คำตอบคือ ก็ตามแต่พัฒนาการความรู้ด้าน ‘ยีน’ เลย คือทุกวันนี้มันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ความรู้ปัจจุบันมันบอกได้แน่ๆ ว่ายีนตัวนี้ๆ หมายความว่ามีบรรพบุรุษมาจากส่วนไหนของโลก สีผม สีตา และส่วนสูงนั้นบอกได้แน่นอน และสิ่งที่พัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกวันก็คือ การเข้าใจ ‘โรค’ รวมถึง ‘ความเสี่ยงของโรค’ ที่มันอยู่ในยีนของเราด้วย เช่นทุกวันนี้ก็เริ่มมีการค้นพบว่ายีนบางตัวเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราเกิดจำพวกโรคหัวใจ กลุ่มโรคมะเร็ง หรือโรคอัลไซเมอร์ ในอนาคตเป็นต้น

คำถามคือ ถ้าข้อมูลพวกนี้หลุดไปพร้อมกับชื่อของเราด้วย มันจะเกิดอะไรขึ้น? มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าข้อมูล DNA ของเราถูกเอาไปขายใน Dark Web อะไรพวกนี้

คือถ้าไม่นับเวอร์ๆ ไปว่ามันจะทำให้พวก ‘นักฆ่า’ สามารถออกแบบวิธีลอบสังหารเราแบบเฉพาะกิจได้จาก ‘ความเสี่ยงโรค’ แล้ว อย่างน้อยๆ ถ้าพวกบริษัทประกันรู้ข้อมูลนี้เข้า บริษัทประกันก็จะมีสิทธิ์ปฏิเสธการทำประกันหรือคิดเบี้ยประกันแพงๆ แน่นอน เพราะไม่มีเหตุผลที่บริษัทประกันจะคิดเบี้ยประกันถูกๆ กับคนที่ข้อมูลทางพันธุกรรมบ่งชี้ว่าเขากำลังจะเป็นมะเร็ง เป็นต้น

แต่ถามว่าเรื่องมันมีแค่นี้หรือ? คำตอบคือไม่ใช่ มันก็แล้วแต่ความรู้ด้านพันธุกรรมที่ขยายไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อความรู้ยิ่งเพิ่มขึ้นๆ การที่ DNA หลุด มันก็ยิ่งจะทำลายความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเช่นกัน

แต่ที่สำคัญกว่านั้น ถ้าในอนาคตเริ่มมีการพัฒนาระบบยืนยันตัวตนด้วย DNA ก็มีความเป็นไปได้ที่ข้อมูล DNA จะหลุดออกไป และมันจะน่ากลัวยิ่งกว่า Password หลุด เพราะต้องไม่ลืมว่าเราสามารถเปลี่ยน Password ได้ (และควรจะเปลี่ยนบ่อยๆ) แต่ถ้า DNA หลุด เราเปลี่ยนไม่ได้ เพราะ DNA มนุษย์ปกติก็จะไม่เปลี่ยนไปจนตลอดชีวิต เว้นแต่จะโดนรังสีจน ‘กลายพันธุ์’ (ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็น X-Men แต่ให้กลัวเป็นมะเร็งจะดีกว่า)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้ามันจะช่วยให้อุ่นใจขึ้นบ้าง พวกกฎหมายตระกูล ‘คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล’ (ซึ่งไทยก็มี) มันคุ้มครองถึงข้อมูลพันธุกรรมเราอยู่แล้ว ดังนั้นใครแอบ ‘เก็บข้อมูล’ ไปก็ผิดกฎหมายแน่ๆ ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่เรื่องที่คนจะทำกันได้อย่างเปิดเผยจนเป็นธุรกิจแน่ๆ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลพวกนี้อยู่อย่างลับๆ เพราะเหล่ามิจฉาชีพรู้ดีว่าสักวันข้อมูลนี้จะมีค่าสุดๆ และถึงจะขาย ‘บนดิน’ ไม่ได้ มันก็จะมี ‘ตลาดมืด’ คอยรองรับอยู่เสมอ

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=913667606988243&set=a.811136580574680