Digital Literacy กับสังคมผู้สูงอายุ

Share

Loading

การสูงวัยของประชากรเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในโลกช่วงที่ผ่านมานี้ เป็นสิ่งที่เป็นผลพวงมาจากผลสำเร็จทางด้านสาธารณสุข ในการรักษาความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้านสุขภาพจากโรคภัย ความเจ็บป่วย ความตาย อัตราการเกิดและอัตราการตายลดลง รวมไปถึงมีอายุขัยที่มีมากขึ้นไปด้วย ทำให้จำนวนประชากรมีอายุมากขึ้นและปริมาณมากขึ้น ซึ่งกฎหมายในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ได้ให้คำนิยาม “ผู้สูงอายุ คือผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป” ไม่ได้ให้ความหมายในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุในตัวพระราชบัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ (2562) ได้นิยามเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุไว้ว่า

  • สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นอัตราส่วน 10% หรือประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราส่วนเกิน 7% จากประชากรทั่วประเทศ
  • สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นสังคมที่มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั่วประเทศหรือประชากรที่มีอายุ 65 ปีมีอัตราส่วนเกิน 14% และ
  • สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) เป็นสังคมประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมดหรือประชากรที่มีอายุ 65 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์ในปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยสมบูรณ์แล้ว

โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา จำนวนสัดส่วนประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี และหากอิงตามโครงสร้างประชากรของประเทศไทย คาดการณ์ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี พ.ศ. 2566 อ้างอิงจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) และกรมการปกครองถึงจำนวนผู้สูงอายุในปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีผู้สูงอายุประมาณ 10.67 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 16.46 และในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้สูงอายุ 11.13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.73 จากจำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมด ดังในรูปที่ 1

ภาพที่ 1 อัตราส่วนประชากรไทย

ในอนาคตอันใกล้เมื่อเราไปสถานที่ใดก็ตาม จะเห็นผู้สูงอายุมีจำนวนเยอะกว่าวัยเด็ก หรือวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ เพราะสัดส่วนผู้สูงอายุสูงขึ้นในแต่ละปีซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนการเกิดและการตายลดลง ดังนั้นการก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดของไทยกำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า แน่นอนว่าเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ถึงแม้ว่าทางภาครัฐได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าไว้ระดับนึงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสวัสดิการทางการคลังในอนาคต ภาวะการทำงานของผู้สูงอายุ สุขอนามัย รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่จะตามมา ในขณะเดียวกันเราต้องยอมรับว่าวิถีชีวิตในประจำวันของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ วัน และเมื่อผู้สูงอายุออกจากตลาดแรงงานแล้ว โดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีการวางแผนในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะกลับมาอยู่บ้านเฉย ๆ ประกอบกับลูกหลานก็ไม่ได้อยู่ที่บ้านเนื่องจากต้องไปทำงาน ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเบื่อหน่าย ความเหงา สิ่งที่พอจะเป็นที่พึ่งพิงให้แก่ผู้สูงอายุได้ ก็คงจะมีเพียงเทคโนโลยี จึงจะเห็นได้ว่าบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตมากขึ้น

ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การเข้ามามีบทบาทของอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้คนทุกคนล้วนแต่ต้องปรับตัวเพื่อก้าวทันยุคที่พัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ซึ่งการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Skill) เป็นสิ่งสำคัญกับมนุษย์ทุกคนรวมไปถึงผู้สูงอายุด้วย เพราะทำให้เรารู้เท่าทัน มีความรอบคอบ ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลลงในสื่อสาธารณะ การรักษาความปลอดภัยของตนเองเมื่ออยู่ในระหว่างการใช้งานสื่อออนไลน์ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในในทักษะและความรู้ ความคิดที่เรียกว่า ความรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อให้เข้าใจโลกอีกใบหนึ่งที่เราจับต้องได้แค่ตัวอุปกรณ์ไว้สำหรับสื่อสาร วิธีการใช้งานของมัน เพื่อปกป้องและใช้ประโยชน์จากข้อมูลในโลกเสมือนจริงนี้ได้อย่างสร้างสรรค์ หนึ่งตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากใช้เทคโนโลยีได้อย่างสร้างสรรค์เริ่มต้นจากการการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อพูดคุยกันได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าตัวผู้สนทนานั้นจะอยู่ห่างไกลกัน และนับเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ขยับจากกิจวัตรทั่วไปที่เราคุ้นชินกันกับการทักทายด้วยการสวัสดีกัน มาสู่เทคโนโลยีใหม่แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่มองเห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดรอบตัวเรา หนึ่งในการขยับตัวของผู้ใช้งานที่เป็นผู้สูงอายุที่น่าสนใจคือ การส่งรูปสวัสดีตอนเช้าในวันต่าง ๆ มีภาพพื้นหลังเป็นรูปดอกไม้ต่าง ๆ สีสันสวยงามตามวันนั้น เช่น สวัสดีวันจันทร์แล้วมีภาพพื้นหลังเป็นรูปดอกทานตะวันหรือดอกดาวเรืองบานหรือดอกที่มีสีเหลืองเพื่อสื่อถึงสีเหลืองของวันจันทร์ มีคำคม คำอวยพร เป็นต้น เราอาจะมองได้ว่าจากเมื่อก่อนที่ผู้ใหญ่ (ใน 10-20 ปีที่แล้วซึ่งโตมาเป็นผู้สูงอายุในวันนี้) ไปตลาดทักทายกัน

และนอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการทักทายกันแล้วนั้น หนึ่งในกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมักจะทำกันอย่างเป็นประจำคือการแชร์ข่าวในกลุ่มที่มีจำนวนมาก ทำให้ข่าวนั้นแพร่ออกไปโดยที่ไม่ได้ถูกคัดกรอง ซึ่งทำให้เกิดข่าวที่ไม่มีความน่าเชื่อถือขึ้นมา เพื่อหวังผลในการควบคุมคนให้เชื่อในสิ่งเดียวกัน เช่น ข่าวมะนาวโซดารักษามะเร็ง ซึ่งเมื่อก่อนเราจะพบเจอข่าวอะไรแบบนี้บ่อย ๆ ในอีเมล์ (e-mail) ต่อมาเมื่อมีคนใช้งานสื่อออนไลน์มากขึ้นข่าวจำพวกนี้ก็เกิดขึ้นมาถี่ขึ้น จนกระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาแจ้งให้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมไปถึงข่าวที่มีความอ่อนไหวง่ายอย่างข่าวใส่ร้ายทางการเมือง ซึ่งเป็นการแพร่กระจายออกไปทำให้คนที่มีความเชื่ออะไรคล้าย ๆ กันสามารถคล้อยตามในประเด็นที่ผู้กระทำต้องการให้เป็นไปได้ ซึ่งหากขาดวิจารณญาณในการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนั้น ก็อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้ได้ไม่ยาก

สถานการณ์ภาพรวมของประเทศไทยในเรื่องของ Digital Literacy จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) นั้นอยู่ในเกณฑ์ระดับพื้นฐาน ดูในช่วงของกลุ่ม Baby Boomer ที่วัยอายุที่มากกว่า 54 ปี ผู้ทำแบบสอบถามจำนวน 2,675 คน อยู่ในระดับปรับปรุงอยู่ 1,136 คน คิดเป็น 42% ในวัยเดียวกันและผลการสำรวจการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อวัน ผลการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ชม. 22 นาที ในวัย Baby Boomer ใช้เวลาไปถึง 10 ชม. ต่อวันในการใช้อินเทอร์เน็ต ในขณะเดียวกันในทุก ๆ ปีสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น เป็นการใช้ Social Media และชำระสินค้าและบริการที่ 91.2% และ 60.6% ตามลำดับ โดยช่องทางติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน LINE มากถึง 98.5% จากตัวเลขสถิติดังกล่าว ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงอายุผ่านนโยบายของรัฐจึงควรกำหนดหมายหลักที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้รองรับยุคดิจิทัล เช่น

  1. การส่งเสริมผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยีเพื่อให้สามารถอยู่อย่างลำพังได้อย่างเป็นสุข อันเนื่องมาจากแนวโน้มการเป็นโสด การย้ายถิ่นทำงาน รวมไปถึงการแยกครอบครัวจากพ่อแม่ ทำให้ผู้สูงอายุ ออกห่างจากครอบครัวมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่ง ในยุทธศาสตร์ของกรมกิจการผู้สูงอายุ ทั้งในแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 – 2564) มียุทธศาสตร์ที่บูรณาการการใช้ดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ออกแบบนโยบายผู้สูงอายุในแง่ของข้อมูล โดยให้มีการจัดเก็บฐานข้อมูลให้ทันสมัย ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและสืบค้นได้ง่าย ในขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สมาคมเฮลท์เทคไทย
  2. จัดทำ e-Health Open Data Platform หรือ ศูนย์รวมข้อมูลสุขภาพจากสถานพยาบาลและผู้ป่วย เพื่อให้ข้อมูลมีความเชื่อมโยงกันในฐานข้อมูลของการให้บริการทางการแพทย์ให้เป็นไปในทางเดียวกัน มีมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น
  3. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center Thailand) ที่ประสานและตรวจสอบข่าวปลอม ข่าวลวง วาทกรรมต่าง ๆ ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐตรวจสอบข่าวที่อยู่ในโลกออนไลน์ รวมไปถึงเรื่องราวที่ประชาชนต้องการหาความเป็นจริงเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้รับรู้มานั้นก่อนที่จะเชื่อ เมื่อข่าวนั้นเข้าสู่กระบวนการของศูนย์ฯ จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพื่อสอบหาความจริงและประกาศบนหน้าเว็บให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันในสังคมถึงความถูกต้องของข่าว เพื่อไม่ให้คนที่เข้าใจผิดยังคงเข้าใจผิดต่อไป

ในโลกยุคใหม่มีพัฒนาการที่รวดเร็วดั่งการหมุนของโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง การพัฒนาเรียนรู้ให้ตามทันโลกก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็นในปัจจุบัน ไม่ว่าในเรื่องเทคโนโลยี สังคม ความรู้ความสามารถต้องทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด วัยเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักอย่างระมัดระวังคือการโดนหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของทรัพย์สิน เงินทอง ความรู้ ข่าวสาร ที่เป็นเรื่องสำคัญในชีวิต จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่หากเรานำมาใช้ด้วยความไม่พอดี ไม่รู้จักความพอเพียงในการใช้งาน สิ่งที่เป็นประโยชน์กลับจะกลายเป็นทำให้เกิดโทษและเกิดผลเสียต่อการดำเนินชีวิตได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทัน รู้จักใช้ และใช้เทคโนโลยีอย่างพอดีและมีสติจึงจะเป็นหนทางที่ดีและเกิดประโยชน์มากที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.depa.or.th/en/article-view/digital-literacy