องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

Share

Loading

“องค์กรแห่งการพัฒนา
สู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”

จังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของภาคใต้ ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ ประมาณ 645 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 13,079.61  ตารางกิโลเมตร หรือ 8,174,756.25 ไร่ มีเนื้อที่มากเป็นอันดับ 6  ของประเทศและมีพื้นที่มากที่สุดในภาคใต้

ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความยาวประมาณ 156  กิโลเมตร มีเกาะขนาดใหญ่ ได้แก่ เกาะสมุย เนื้อที่ 227.25 ตารางกิโลเมตร เกาะพะงัน มีเนื้อที่  194.2  ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีหมู่เกาะอ่างทอง และเกาะบริวาร  42  เกาะ เกาะสมุยเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 20 กิโลเมตร และห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 80 กิโลเมตร

ทรัพยากรทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีจุดแข็งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีแหล่ง ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีโครงสร้างพื้นฐานของเมืองในด้านที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมเพรียง

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดในภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และเป็นอันดับ 6 ของประเทศไทย และมีประชากรรวมทั้งสิ้น 1,068,010 คน หนาแน่นอันดับ 59 ของประเทศ  ซึ่งความหนาแน่นประชากรของจังหวัดต่ำกว่าค่าความหนาแน่นเฉลี่ยของภาค เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของภาคใต้ โดยมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งที่ราบสูง ภูมิประเทศแบบภูเขา รวมทั้งที่ราบชายฝั่ง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงในบริเวณอ่าวไทย ทั้งบริเวณที่เป็นทะเลและเป็นเกาะ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กมากถึง 98 เกาะ นับว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรเป็นหลัก โดยใช้พื้นที่ในการทำการเกษตรประมาณร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพทางด้านปศุสัตว์ ประมง อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว รวมทั้งมีการทำเหมืองแร่ด้วย

ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกาะ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พื้นที่ใกล้แหล่งภูเขา และพื้นที่ราบลุ่ม ซึ่งมีความหลากหลายของด้านภูมิศาสตร์ ทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแหล่งท่องเที่ยวทั่วจังหวัด ซึ่งนอกจากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีแล้ว  อำเภอต่างๆยังสามารถทำรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย อาทิเช่น อำเภอเกาะสมุย, อำเภอเกาะพะงัน, อำเภอพุนพิน, อำเภอกาญจนดิษฐ์, อำเภอคีรีรัฐนิคม, อำเภอดอนสัก, อำเภอบ้านนาสาร เป็นต้น

ดั่งคำขวัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ว่า
“เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมมะ”

และในโอกาสนี้ Security Systems Magazine ได้รับเกียรติจาก นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่จะมาบอกเหล่าถึงนโยบายและวิสัยทัศน์ในการเสริม Smart City ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

“Smart City ต้องเข้าไปถึงรากหญ้า”

ปัญหาในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คือจะต้องกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อเป็นกลไกสำคัญของการทำเรื่องเมืองอัจฉริยะ

ปัจจุบัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กยังขาดแคลนทรัพยากรและองค์ความรู้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ แต่ในขณะที่อีกด้านหนึ่งกลับสะท้อนให้เห็นว่า เทศบาลจะมีความพร้อมด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูง

ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าเป็นจุดเด่นประการหนึ่งของเทศบาลที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลทั้งจังหวัดในภาพรวมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ

โอกาสทางการพัฒนา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การผลักดันให้จังหวัดสุราษฎร์เป็นเมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ จะเป็นการดึงดูดความสนใจให้นักลงทุนมองเห็น และได้เข้ามาลงทุน ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และจะทำให้การบริหารจัดการ ทรัพยากรในท้องถิ่นจังหวัดสุราษฎร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น เมืองเกษตรอัจฉริยะ เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ

เมื่อผมเข้ามาบริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองอัจฉริยะ (Surat Smart City) โดยเริ่มดำเนินการภายใต้โครงการดังนี้

1. โครงการพัฒนาแอพพิเคชั่นสุราษฎร์ธานีเมืองอัจฉริยะ

2. โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเเละบูรณาการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจังหวัดสุราษฎร์ธานี

3. โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ของกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมและสถานศึกษาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี (Smart School & Smart Classroom)             

4. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยสวนสาธารณะเกาะลำพู

5. โครงการสารสนเทศทรัพยากรน้ำ บริเวณลุ่มน้ำตาปีสุราษฎร์ธานี

6. โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยววิถีเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติชุมชนคลองร้อยสาย

ปัญหาและอุปสรรค

แน่นอนอยู่แล้วว่าการพัฒนาเมืองย่อมมีอุปสรรคหรือข้อจำกัด และนำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบอื่น ๆ อาทิ ปัญหาประชากรหนาแน่นมากเกินไป การจราจรติดขัด ปัญหามลภาวะ ปัญหาขยะ การขยายตัวออกของเมืองในแนวราบอย่างไม่เป็นระเบียบ การใช้ที่ดินไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตามมา

ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงถือเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือ ทั้งส่วนราชการ  ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงพี่น้องประชาชน ในการให้ข้อมูล สะท้อนปัญหาและความต้องการเพื่อการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการให้มากที่สุด  รู้ปัญหาในชุมชน รู้ใจคนสุราษฎร์ธานี และที่สำคัญผมจะผลักดันให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็น เมืองอัจฉริยะ

จะเป็นเมืองอัจฉริยะในด้านใด

ตามที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทาง การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัย มีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม ประกอบกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้วิสัยทัศน์  “องค์กรพัฒนาท้องถิ่นต้นแบบการมีส่วนร่วม    เมืองแห่งความสุข    ทุกคนมีคุณภาพที่ดี” ซึ่งหนึ่งในกรอบแนวคิดได้มุ่งเน้นให้สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองแห่งความอัจฉริยะ ในด้านการศึกษา การสาธารณสุขและความปลอดภัย ด้านการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย

ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าและทันสมัยขึ้นเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล

อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถในการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเป็นที่มาของคำว่า Internet of Things ซึ่งมีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้เป็นบริการต่างๆ ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลาย อาทิเช่น ระบบขนส่งอัจฉริยะของบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด, การประปาส่วนภูมิภาค และบริการ Food Delivery เป็นต้น ประกอบกับการใช้งานอินเตอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 คนไทยใช้งานอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์(Social Media)  มากกว่า 52 ล้านคน มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน และกว่า 97 % ของการใช้งาน Internet ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ จากข้อมูลดังกล่าวองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เล็งเห็นช่องทางการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวในรูปแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งสามารถเข้าถึงประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ง่าย

ดังนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เล็งเห็นถึงช่องทางที่จะติดต่อสื่อสารและให้บริการข้อมูลต่างๆ กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงได้จัดทำโครงการพัฒนา สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองอัจฉริยะ(Surat Smart City) ภายใต้แอพพลิเคชั่นของสื่อสังคมออนไลน์(Social Media) เพื่อติดต่อสื่อสารและให้บริการข้อมูลต่างๆ อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระยะแรกจะดำเนินการเกี่ยวกับการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Government)

เป้าหมายสำคัญ

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาทรัพยากรน้ำ โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีแม่น้ำสายหลัก คือ “แม่น้ำตาปี” เป็นแม่น้ำสายหลักที่ล่อเลี้ยงประชาชนหลายอำเภอ และเมื่อหน้าน้ำหลากเอ่อล้นตลิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำก็จะได้รับผลกระทบเป็นประจำทุกปี มากน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในปีนั้นๆ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงได้จัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน บริเวณลุ่มน้ำตาปีสุราษฎร์ธานี ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านสารสนเทศทรัพยากรน้ำ อันได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ซึ่งได้เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำ หรือศูนย์วิเคราะห์ปริมาณน้ำจากพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องผลักดันวางแผนพัฒนาโครงการให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ผ่านระบบสารสนเทศให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มกลางขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ โครงการแอพพลิเคชั่นสุราษฎร์ธานีเมืองอัจฉริยะ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

สิ่งที่อยากจะกล่าวทิ้งท้าย

เมื่อผมอาสา เข้ามารับใช้พี่น้องชาวเมืองคนดี สุราษฎร์ธานี ด้วยพันธสัญญาว่าจะขับเคลื่อนงานทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรม พี่น้องประชาชนจับต้องได้ โดยจะทำงานด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละ ด้วยแนวทาง อบจ.24  ชั่วโมง โดยประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่พี่น้องประชาชนมุ่งหวัง

แต่การทำงานจะประสบผลสำเร็จสูงสุดได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน เรามากอดคอร่วมกันสร้างสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองอัจฉริยะไปด้วยกัน  ดังวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมาว่า….องค์กรแห่งการพัฒนา สู่เมืองอัจฉริยะ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี….