Emergency Services: D1669 (2)

Share

Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24

Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25

Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26

Loading

สวัสดี เพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพทุกท่าน

และแล้วคนใกล้ชิดผู้เขียนก็ได้มีประสบการณ์ทันสมัยด้วยการเข้าสู่โปรแกรม Home Isolation เป็นเวลา 10 วัน โดยเริ่มตั้งแต่สงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 ไปตรวจ RT-PCR ผลตรวจว่าพบเชื้อ วุ่นวายกับการหา Hospitel และ Hospital ซึ่งพบแต่ประสบการณ์ที่เลวร้าย แต่ผู้เขียนขออนุญาตไม่รื้อฟื้น จนต้องเลือกเข้าโปรแกรม Home Isolation แทน ซึ่งกว่าจะได้รับการตอบรับจาก สปสช. ผู้เขียนต้องใช้สรรพกำลังในการระดมความช่วยเหลือจากทุกสารทิศ ภายหลังจากแจ้ง 1330 ไปเกือบ 3 วัน จึงได้รับการจัดส่งยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ พร้อมกับหน่วยบริการคอยติดตามอาการ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านดูแลตัวเองด้วยการปฏิบัติตนภายใต้ความปลอดภัยจะดีกว่านะครับ

ไหนไหนก็เขียนถึงเรื่อง COVID-19 แล้ว อยากจะฉายภาพแนวทางหรือ Roadmap ที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ตาม Infographic จากศูนย์สื่อสาร COVID-19

เอาล่ะครับ ขอกลับมาเข้าเรื่อง โครงการพัฒนาศูนย์รับเรื่องและจ่ายงานฉุกเฉินการแพทย์ให้เป็นระบบดิจิทัล D1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตอนที่ 2 กันต่อ

ฉบับที่แล้ว (ฉบับที่ 40) ผู้เขียนได้เล่าให้ฟังถึงโครงการ D1669 ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือและ ความรับผิดชอบของ 5 หน่วยงาน ไปแล้ว จะขออนุญาตย้อนเวลากลับไปอีกซักเล็กน้อย ……  เมื่อปี 2563 ผู้เขียนได้รับเกียรติจาก ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย (รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) ในสมัยนั้น ได้เชิญให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มีประโยชน์กับประชาชน ซึ่งผู้เขียนเองรู้สึกได้ว่าเป็นโครงการที่ดีมากมากโครงการหนึ่งของประเทศไทย จึงตอบรับในทันที

ความคิดในเวลานั้นคือ ถ้ามีคนที่เรารู้จักประสบกับเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดฝัน แล้วมีบริการที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยบูรณาการกับกระบวนการเข้าถึงผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว และช่วยชีวิตในรถ Ambulance ด้วยทีมฉุกเฉินมืออาชีพที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์อำนวยการผ่านระบบภายในรถขณะนำส่งโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย จนกระทั่งวันนี้มีการจัดทำโครงการ D1669 ระยะที่ 1 ไปยัง 15 จังหวัดนำร่อง ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่าน (Migration Period) จากระบบเดิมมาสู่ระบบใหม่

ความเป็นมาเดิมของโครงการในปี 2563 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอโครงการแพลตฟอร์มดิจิทัลระบบรับแจ้งฉุกเฉิน 1669 หรือ Digital EMS 1669 (D1669) Platform ให้กับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสังคมดิจิทัล ระยะที่ 1 (2563 – 2565) ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และแผนงาน 4.24 โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีเป้าหมายการติดตั้งและใช้งานระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลระบบรับแจ้งฉุกเฉิน 1669 (D1669) ใน 60 จังหวัด ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในปัจจุบันชื่อ “โครงการพัฒนาศูนย์รับเรื่องและจ่ายงานฉุกเฉินการแพทย์ให้เป็นระบบดิจิทัล D1669” โดยปีที่ 1 จะดำเนินการติดตั้ง 15 จังหวัด ปีที่ 2 จะดำเนินการติดตั้ง 20 จังหวัด และปีที่ 3 จะดำเนินการติดตั้ง 25 จังหวัด ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 420 ล้านบาท และท้ายที่สุดได้รับการสนับสนุบงบประมาณเพื่อดำเนินการสำหรับ 15 จังหวัด ในระยะที่ 1 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 85 ล้านบาท โดยรูปแบบการดำเนินโครงการเกิดขึ้นจากความร่วมมือและความรับผิดชอบ ของทั้ง 5 หน่วยงาน ตามที่ได้กล่าวไปในฉบับที่แล้ว คือ

  • สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ผู้ให้ทุน)
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ผู้รับทุน)
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่พัฒนาระบบ ติดตั้ง และดูแลด้าน Software ระบบ CIS ระบบ Emergency Telemedicine Operation และระบบ MIS
  • บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่ ให้บริการระบบคลาวน์และโครงข่าย ทั้งส่วนเครือข่ายและโทรศัพท์ ดูแล Hardware และให้บริการ Helpdesk
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำหน้าที่ จัดทำ (ร่าง) มาตรฐานข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูล สำหรับระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน จัดทำสถาปัตยกรรมองค์กรสำหรับ D1669 เพื่อใช้เป็นพิมพ์เขียว เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและกำกับการพัฒนาและการบำรุงรักษาในอนาคต และจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อเป็นองค์ความรู้ในการขยายผลต่อในอนาคต

ดังนั้น เมื่อได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้วยงบประมาณ 85 ล้านบาท สำหรับระบบดิจิทัล D1669 จำนวน 15 จังหวัด  จึงมีการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการเจาะจงเพื่อการปรับเปลี่ยน (Transformation) เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นวัตกรรมอุปกรณ์ และระบบบริการดิจิทัลให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการเข้าถึงสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบดังนี้

1 ยกระดับศูนย์รับเรื่องและจ่ายงานฉุกเฉินการแพทย์ประจำจังหวัดของหน่วยปฏิบัติการอำนวยการทุกระดับ จำนวน 15 จังหวัด เพื่อให้เป็นศูนย์รับแจ้งและจ่ายงานฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Control Room) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

2 พัฒนาระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินดิจิทัล (Call Information System (CIS)) โดยเปลี่ยนจากการแจ้งเหตุด้วยเสียงเท่านั้นเป็นการแจ้งเหตุด้วย ข้อความ เสียง ภาพ และภาพเคลื่อนไหว (Total Conversation) รองรับผู้พิการทางการได้ยิน ภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ และรองรับการแจ้งผ่านอุปกรณ์ IoT

3 พัฒนาระบบปฏิบัติการฉุกเฉินดิจิทัล (Operation Information System (OIS)) ซึ่งประกอบด้วยระบบบูรณาการปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการต่างๆของทุกจังหวัด ระบบ Emergency Telemedical Direction ระบบติดตามรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ALS Fleet management, GPS Tracking system)

4 พัฒนาระบบอำนวยการทางการแพทย์ดิจิทัล (Medical Information system (MIS)) เพื่อให้แพทย์อำนวยการได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการช่วยเหลือชีวิตในภาวะฉุกเฉินระหว่างการนำส่งผู้ป่วยที่โรงพยาบาลปลายทาง (Pre-hospital care)

5 ปรับปรุงระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน (ITEMS)* จากส่วนกลาง เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลในระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน โดยการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบของ Business Intelligence เพื่อนำไปสู่การแสดงผลในเชิงสถิติ การติดตามสถานการณ์ปัจจุบัน ตลอดจนการวิเคราะห์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

*ITEMS หรือ Information Technology Emergency Medical System คือ ระบบสารสนเทศการแพทย์ฉุกเฉิน ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยระบบงานด้านการปฏิบัติการ ระบบตั้งเบิกหลังการออกปฏิบัติการ ระบบข้อมูลปฏิบัติการ ระบบจัดการทะเบียนทรัพยากร และระบบงานการเชื่อมต่อกับระบบอื่น

พบกันใหม่ฉบับหน้า ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านโชคดี รักษาระยะห่างพร้อมป้องกันตัวเองและผู้ใกล้ชิดด้วยการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยง เลี่ยงเดินทาง ลดการสัมผัสพื่อความปลอดภัยนะครับ

โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง

ข้อมูลอ้างอิง

https://thailand-covid19.prd.go.th/th/home
https://www.nhso.go.th/news/3495
https://www.niems.go.th/
https://www.nstda.or.th/
https://www.ntplc.co.th/
https://www.ku.ac.th/th