ของหายได้คืน! เบื้องหลังสุดยอดบริการ Lost & Found ของญี่ปุ่น

Share

Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24

Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25

Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26

Loading

อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้ “ญี่ปุ่น” มีชื่อเสียงในเรื่องของ Lost & Found มานาน โดยเฉพาะสินค้าที่ทำหล่นหรือหลงลืมไว้บนรถไฟหรือตามสถานีรถไฟต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะได้คืน บทความนี้จะไขคำตอบให้คุณ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เมื่อ นักศึกษาชาวอินเดียวัย 20 ปี ที่ร่ำเรียนในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้แจ้งความกับตำรวจว่าโทรศัพท์ของเธอหาย ในรายละเอียดนั้นมีทั้งตำแหน่งที่แน่นอนและคลุมเครือ มันอยู่ในรอยแยกตื้นๆ ที่ไหนสักแห่งใกล้กับยอดเขาอาโสะ ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งเธอทำหล่นไว้ขณะถ่ายรูป จากนั้น 2 เดือนต่อมา เธอได้รับจดหมายจากตำรวจในจังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 500 กม. ว่า นักปีนเขาคนหนึ่งพบโทรศัพท์มือถือของเธอและนำมามอบให้ที่สถานีตำรวจ แต่หน้าจอแตกเป็นบางส่วน อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมาโทรศัพท์มือถือเจ้ากรรมนั้นก็มาถึง โดยถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกกันกระแทกมาอย่างดี

“ฉันเปิดเครื่องและมันยังใช้งานได้ ฉันรู้สึกอบอุ่นใจมาก กับความพยายามต่างๆ ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง จนฉันได้โทรศัพท์มือถือที่หายไปคืนมา” Jadeja เล่า

ในญี่ปุ่นเรื่องราวเกี่ยวกับโทรศัพท์ กระเป๋าสตางค์ กล้อง และกุญแจที่สูญหาย มักจบลงอย่างมีความสุข  ซึ่งกระบวนการต่างๆ ไม่เพียงแต่จะต้องใช้ความซื่อสัตย์สุจริต แต่ยังต้องใช้ความพยายามอย่างมากในระดับชาติ เพื่อที่จะรายงาน จัดทำรายการ จัดเก็บ และส่งคืนเจ้าของ

“ญี่ปุ่นมีกฎหมายที่พัฒนามาอย่างดี ผู้คนรู้ว่าอาจมีค่าธรรมเนียมมอบให้กับผู้ที่นำของหายมาส่งมอบ  และพวกเขารู้ว่าต้องส่งคืนสินค้าไปที่ Koban (ป้อมตำรวจ)” Mark D West ผู้เขียน หนังสือ Law in Everyday Japan: Sex, Sumo, Suicide, and Statutes และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าว พร้อมกับชี้ถึงจุดเด่นของบริการ Lost & Found ของญี่ปุ่นว่า Koban เป็นจุดเชื่อมต่อสำหรับการจัดการทรัพย์สินที่สูญหายในญี่ปุ่น มีป้อมตำรวจประมาณ 6,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วเมืองและชานเมืองของญี่ปุ่น แม้ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่เล็กๆ เพียงห้องเดียว แต่ก็เป็นช่องทางแรกในการติดต่อเมื่อคุณทำหายหรือพบข้าวของบางสิ่งของคนอื่นตกหล่นอยู่”

ผู้ปกครองและครูให้ความสำคัญกับบทบาทของ koban ในการรายงานสิ่งของที่สูญหายและพบ เด็กส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะไป Koban หรืออย่างน้อยก็รู้ว่าอยู่ที่ไหน

จากกระแสไวรัลในทวิตเตอร์เมื่อปีที่ผ่านมา ผู้หญิงชื่อ Keiko เล่าว่าลูกชายตัวน้อยของเธอพบเหรียญ 50 เยน ได้ในสวนสาธารณะในเขตโฮกูริกุของญี่ปุ่น เขายืนกรานที่จะส่งเงินนี้ให้กับ Koban ที่อยู่ใกล้เคียง ในตอนแรกเธอกังวลว่าเด็ก 6 ขวบ จะได้รับปฏิกิริยาอย่างไรจากเจ้าหน้าที่ แต่การตอบสนองของตำรวจทำให้เธอประหลาดใจ เมื่อเจ้าหน้าที่หลายคนถามว่าเหรียญถูกเก็บได้ที่ไหนและเมื่อไหร่ และกรอกเอกสาร Lost & Found อย่างเป็นทางการ พร้อมกับกล่าวชมลูกชายของเธอ

Keiko ให้เครดิตโรงเรียนของลูกชายของเธอสำหรับการกระทำของเขา “เด็กๆ ได้รับการสอนที่โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนอนุบาลให้ส่งคืนสิ่งของที่พบให้กับ Koban” เธอกล่าวในอีเมลที่ส่งถึง Bloomberg CityLab เธอยังชื่นชมการตอบสนองของเจ้าหน้าที่ “ลูกชายของฉันอายุแค่ 6 ขวบ แต่พวกเขาดูแลความกังวลของเขา ราวกับเขาเป็นผู้ใหญ่”

Toshinari Nishioka อดีตตำรวจ ซึ่งสอนที่มหาวิทยาลัย Kansai University of International Studies กล่าวว่าแม้เด็กๆ จะมอบเงินจำนวนเล็กน้อย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงทำตามขั้นตอนเดียวกัน

“แม้ว่าจะเป็นเงินเพียง 1 หรือ 5 เยน แต่เจ้าหน้าที่ก็จริงจังและบอกว่า “หนูทำได้ดีมาก” พวกเขาทำเช่นนี้เพื่อปลูกฝังความภาคภูมิใจในตนเอ งและความรู้สึกถึงความสำเร็จของเด็กๆ งานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่แค่การปราบปรามอาชญากร แต่ยังพยายามเชิดชูและส่งเสริมให้ผู้คนในชุมชนท้องถิ่นให้ทำดีด้วย”

แม้ระบบการจัดการทรัพย์สินที่สูญหายของญี่ปุ่น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะกำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ด้วยอัตราการฆาตกรรมที่ต่ำที่สุดในโลก และอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลง ญี่ปุ่นสามารถหันมาสนใจการจัดการทรัพย์สินที่สูญหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ของที่หาย ไปอยู่ไหน แจ้งและจัดเก็บอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว หากทรัพย์สินสูญหายที่ญี่ปุ่น เจ้าของทรัพย์สินต้องกรอกรายงานทรัพย์สินสูญหาย แล้วไปที่สถานีตำรวจหรือ Koban ที่ใกล้ที่สุด และแจ้งความสูญเสียพร้อมแบบฟอร์ม สามารถยื่นแบบฟอร์มได้ที่สถานีตำรวจแห่งใดก็ได้ โดยแบบฟอร์มจะมีให้ดาวน์โหลด สามารถกรอกล่วงหน้าและนำไปส่งด้วยตนเองที่สถานีตำรวจเท่านั้น แต่ในอนาคตกระบวนการออนไลน์แบบครบวงจรสำหรับการรายงานสิ่งของที่สูญหายให้กับตำรวจในญี่ปุ่น ถูกกำหนดให้ดำเนินการในบางภูมิภาคตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2566 และพร้อมทั่วประเทศภายในปีงบประมาณ 2569

รายงานสิ่งของสูญหายออนไลน์ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับทั้งผู้แจ้งและเจ้าหน้าที่ เนื่องจากสามารถส่งผ่านสมาร์ทโฟนได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สถานีตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถประหยัดเวลา ไม่ต้องป้อนข้อมูลจากกระดาษลงในระบบคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถสอบถามข้อมูลอย่างเจาะจงได้ เช่น “กระเป๋าเดินทางของคุณมีสายรัดหรือเปล่า หน้าตาเป็นอย่างไร และสีอะไร” ซึ่งสามารถทำได้ในระหว่างการสอบถามด้วยตนเองแบบตัวต่อตัวหรือทางโทรศัพท์

สำหรับสถิติทรัพย์สินสูญหายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของยุคเรวะ (ยุคปัจจุบันของปฏิทินทางการของญี่ปุ่น โดยรัชศกเรวะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นับจากวันที่สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ พระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 126 ในวันหลังสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะสละราชบัลลังก์ในวันที่ 30 เมษายายน ซึ่งถือเป็นวันสิ้นสุดของยุคเฮเซ) พบว่า มีสิ่งของที่สูญหายประมาณ 2.81 ล้านชิ้นถูกส่งไปยังกรมตำรวจนครบาลโตเกียว แบ่งออกเป็น เอกสารราชการ (ประมาณ 630,000 รายการ) ทรัพย์สินของมีค่าต่างๆ (ประมาณ 350,000 รายการ) และเสื้อผ้า (ประมาณ 290,000 รายการ)

Lost & Found Center ของกรมตำรวจนครบาลโตเกียว อยู่ในเขตบุงเกียวของโตเกียว เป็นอาคารสูง 6 ชั้นที่จัดเก็บสิ่งของสูญหายกว่า 900,000 ชิ้น รวมถึงห้องขนาด 660 ตารางเมตร ที่มีไว้สำหรับร่มโดยเฉพาะ (ในปี 2561 ร่ม 343,725 คัน หรือเกือบ 8% ของสิ่งของสูญหายทั้งหมดถูกส่งมอบมาที่นี่ โดยในวันที่ฝนตก ตำรวจอาจรับร่มมากถึง 3,000 คัน)

ในกรณีที่มีผู้พบเห็นและนำมาส่งคืนที่สถานีตำรวจ เมื่อของที่สูญหายมาถึง กรมตำรวจนครบาลเตรียมเงินมัดจำสำหรับทรัพย์สินที่พบและมอบให้แก่ผู้ส่งมอบ สำหรับผู้ที่แจ้งความของหาย ต้องแจ้งรายงานการสูญหายที่อธิบายลักษณะและรายละเอียดของสิ่งของที่ทำหล่นหรือทำหาย จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับของคืน โดยเจ้าหน้าจะตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ของสิ่งของที่ได้รับแจ้ง และข้อมูลการติดต่อให้ถูกต้อง เมื่อมีคนพบและได้รับมอบแล้วจะส่งคืนให้กับเจ้าของเป็นลำดับต่อไป

ถ้าไม่รู้ว่าใครทำตก ของที่มีผู้นำมามอบให้เจ้าหน้าที่ จะส่งไปที่ศูนย์ของหายของกรมตำรวจนครบาลประมาณ 1 เดือนหลังจากวันรับมอบ Lost & Found Center จะตรวจสอบและค้นหาเจ้าของสิ่งของนั้น หากมีรายการที่ตรงกันกับที่มีผู้แจ้งหายมาก็จะจัดส่งคืน แต่ถ้าไม่รู้ว่าใครทำของชิ้นนั้นหล่นหรือทำหาย หลังจากผ่านไป 3 เดือน หรือกรณีที่เจ้าของไม่มารับคืน จะตกเป็นของคนที่คนเก็บได้ แต่ถ้าสละสิทธิ์ ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของทางการ (เทศบาลเมืองหรือจังหวัดนั้นๆ) สำหรับสินค้าที่ไม่มีผู้อ้างสิทธิ์ เช่น เสื้อผ้า เครื่องดนตรี และเครื่องเขียน ท้องถิ่นจะนำไปขายให้กับผู้ค้าส่งซึ่งมีการจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชน หมุนเวียนกันไป ตลอดทั้งเดือน อย่างไรก็ตาม สิ่งของที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น โทรศัพท์มือถือและบัตรต่างๆ ไม่สามารถมอบให้กับผู้เก็บได้

ด้วยความที่ว่าสถานีรถไฟในญี่ปุ่นมีผู้โดยสารพลุกพล่านที่สุดในโลก สำนักงาน Lost & Found ที่จัดเก็บของหาย จึงเต็มไปด้วยสิ่งของแปลกๆ มากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเก็บไว้ที่นั่นได้ตลอดไป ดังนั้นหลังจากเลยเวลาที่กำหนด บรรดาข้าวของที่ไม่มีผู้อ้างสิทธิ์จะถูกประมูลไปยังผู้ขายอิสระ จากนั้นนำมาจำหน่ายให้กับสาธารณะที่ Tetsudo Wasuremono Ichi หรือตลาดจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นของที่ถูกลืมทิ้งไว้ในรถไฟ

Tetsudo Wasuremono Ichi…ตลาดสินค้าจำหน่ายของที่สูญหายจากรถไฟ

“ร่ม” คือสินค้าที่พบเห็นได้บ่อยและมากที่สุด ด้วยราคาที่ต่ำกว่า 100 เยน เมื่อเปรียบกับสภาพที่ยอดเยี่ยมของสินค้าที่มีสไตล์ นับว่าราคาถูกมาก ส่วนร่มแบรนด์เนม แม้จะมีราคาแพงกว่า แต่ก็ยังถูกกว่าการซื้อร่มใหม่อยู่มาก และสินค้าอื่นๆ ที่ราคาประมาณ 500 เยน โดยเฉลี่ย

หากข้าวของหายในพื้นที่ของรถไฟใต้ดิน เช่น Tokyo Metro

  • Lost & Found Center ของโตเกียวเมโทรตั้งอยู่ที่สถานีอีดาบาชิ ผู้ติดตามของหายติดต่อขอใช้บริการได้ที่นี่ โดยศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์สามารถสอบถามข้อมูลภาษาต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษ จีน และเกาหลีได้ โดยโทรสอบถามเรื่องทรัพย์สินสูญหาย กด 1 เพื่อเชื่อมต่อกับผู้พูดภาษาอังกฤษ
  • ในวันที่ของหาย โปรดติดต่อสำนักงานนี้ในสถานีที่ใกล้ที่สุด หลังจากวันที่ของหายโปรดติดต่อศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์หรือสถานีโตเกียวเมโทรใดก็ได้
  • ของหายจะถูกเก็บไว้ที่ Lost & Found Center ที่สถานีอิดาบาชิ เป็นเวลา 3-4 วัน ทรัพย์สินที่ไม่มีการอ้างสิทธิ์จะถูกส่งไปยัง Metropolitan Police Lost & Found Center ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีอิดาบาชิ
  • การมาที่ Lost & Found Center ที่สถานี Iidabashi โดยตรงจะทำให้คุณมีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนมากที่สุด (กรุณามาที่ Lost & Found Center โดยตรงสำหรับร่ม ถุงมือ และผ้าพันคอที่สูญหาย
  • Lost & Found Center ที่สถานีอิดาบาชิ จัดเก็บของหายกว่า 2,000 รายการต่อวัน จาก 179 สถานีของโตเกียว เมโทร จะจัดเก็บตามวันเวลาและสถานที่พบ จากนั้นสี และขนาด จะถูกบันทึกและนำเข้าระบบเช่นกัน ของที่แตกหักเสียหายได้ เช่น ขวดไวน์ จะนำมาห่อหุ้มด้วยพลาสติกกันกระทแก ส่วนกล่องอาหารหรือเบนโตะจะถูกเปิด เทอาหารออก และล้างให้สะอาดเพื่อไม่ให้เน่าเสียหรือเกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

Lost & Found Center ที่สถานีอิดาบาชิ

กรรมวิธีการของ Lost & Found เหล่านี้เรียกว่า OMOTENASHI (おもてなし| โอโมเตะนาชิ) หรือที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า Japanese Hospitality ซึ่งเป็นปรัชญาการบริการจากใจจริงที่เกิดจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่ได้รับการปลูกฝังและหล่อหลอมอยู่ในจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น จนกลายเป็นสัญชาตญาณและอุปนิสัยของคนญี่ปุ่นไปแล้ว เป็นการทำโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีเบื้องหลังหมกเม็ด และไม่ได้หวังผลประโยชน์ใดๆ ตอบแทน และทำให้ดีที่สุดจนประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

หากข้าวของหายในพื้นที่ของ JR Central

  • ให้บริการคำแนะนำสำหรับของหายที่สถานีที่มีพนักงานประจำสถานีอยู่
  • การสอบถามทางออนไลน์สามารถทำได้โดยการกรอกแบบฟอร์มสอบถามสินค้าที่สูญหาย
  • สามารถสอบถามทางโทรศัพท์ไปยังสถานีต่างๆ เช่น  Lost & Found Center เพื่อขอความช่วยเหลือ

กระบวนการจัดการกับของหายในพื้นที่ของ JR Central

โดยข้อมูลที่เจ้าหน้าที่จะขอเกี่ยวกับของที่หาย จะเกี่ยวกับสถานการณ์ ณ เวลาที่ของนั้นหาย อาทิ วันที่และเวลา วันที่ใช้รถไฟ และช่วงเวลาที่ลูกค้าขึ้นหรือลงจากรถไฟ รถไฟที่ใช้ หมายเลขตู้รถไฟและเส้นทาง  หมายเลขที่นั่ง ตำแหน่งเฉพาะของรายการ (บนชั้นวางเหนือศีรษะ ใต้เบาะนั่ง หรือในห้องน้ำ)

นอกจากนี้ ยังจะสอบถามรายละเอียดของทรัพย์สินที่หาย เช่น หากเป็นโทรศัพท์มือถือ ผู้แจ้งจะต้องระบุชื่อผู้ให้บริการเครือข่าย (docomo, au, Softbank ฯลฯ) รุ่น สี ประเภท (แบบพับ ฯลฯ) มี/ไม่มีเคสโทรศัพท์ (แม้ว่า GPS จะยืนยันตำแหน่งของโทรศัพท์มือถือได้ แต่เราอาจไม่สามารถตอบสนองได้ทันทีในบางกรณี) หรือหากเป็นกุญแจ ให้ระบุประเภทกุญแจ (ที่อยู่อาศัย จักรยาน ตู้เก็บของ ฯลฯ) จำนวน มี/ไม่มีพวงกุญแจ เป็นต้น

“โปรดทราบว่า จะต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งนับจากเวลาที่เราดูแลรายการจนกว่าจะมีการลงทะเบียนในระบบของเรา ในบางกรณี รถไฟที่เกี่ยวข้องอาจเข้าไปในพื้นที่ของบริษัทรถไฟอื่นๆ ดังนั้นหากสิ่งของหายบนรถไฟ ขอให้ติดต่อบริษัทรถไฟอื่นๆ ด้วย และเนื่องจากบุคคลที่พบของหายอาจแจ้งความที่สถานีตำรวจ ฯลฯ สถานีตำรวจหรือสถานที่อื่น เราแนะนำให้ติดต่อแหล่งดังกล่าวด้วย ดังนั้นหากสิ่งของสูญหายผ่านไปหลายวัน โปรดตรวจสอบเว็บไซต์ของตำรวจประจำจังหวัด เมื่อพบของหายแล้ว เจ้าของทรัพย์สินจะต้องไปยังสถานที่ที่เก็บรักษาของที่สูญหายเพื่อเรียกคืน (ค่าใช้จ่ายในการขนส่งจะเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของทรัพย์สิน) เมื่อดำเนินการดังกล่าว โปรดนำเอกสารประจำตัวส่วนบุคคลที่สามารถใช้ยืนยันตัวตนของคุณ (ใบขับขี่ บัตรประกันสุขภาพ ฯลฯ) มาด้วย”

“ตามกฎทั่วไป สิ่งของที่สูญหายซึ่งถูกจัดเก็บโดยบริษัทของเรา จะถูกส่งไปยังสถานีตำรวจที่มีเขตอำนาจศาลหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง (ระยะเวลาสำหรับสิ่งของที่จะเก็บไว้โดยบริษัทของเราจะแตกต่างกันไปตามสถานที่ที่จัดเก็บ) และสิ่งของที่สูญหายบางรายการอาจถูกจำหน่ายโดยการขายหรือจำหน่ายโดยไม่ส่งให้ตำรวจ” คำชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนติดตามและรับคืนของหายที่ปรากฎในเว็บไซต์ของ บริษัท รถไฟญี่ปุ่นตอนกลาง (JR โทไค) จำกัด หรือ JR Central

นอกจากบริการ Lost & Found ของหน่วยงานราชการแล้ว ยังมีเอกชนที่ให้บริการด้านนี้อีกด้วย นั่นคือ “Lost and Found Japan” โดยบริการนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่นได้รับของที่สูญหายกลับคืนมา โดยระบุว่าปัญหานี้เป็นเรื่องธรรมดา ผู้คนสูญเสียของใช้ส่วนตัวตลอดเวลา ตั้งแต่สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป แท็บเล็ต เครื่องประดับ กระเป๋าถือ พาสปอร์ต ไปจนถึงกระเป๋าเงิน ล้วนเป็นข้าวของที่สูญหายเป็นประจำ

ปัญหานี้สร้างภาระมหาศาลสำหรับเจ้าของทรัพย์สินในแง่ของเวลา ด้วยเวลาที่มีจำกัด โดยเฉพาะระหว่างการเดินทาง เพื่อทำธุระหรือท่องเที่ยว บริการนี้สามารถลดเวลาในการค้นหาของนักเดินทางได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถนำเวลาเหล่านี้ไว้สำหรับการเดินทางหรือทำอย่างอื่น แทนที่จะมาดำเนินการติดตามของที่สูญหายด้วยตัวเอง

Kenta Yazawa เริ่มต้นธุรกิจนี้ในปี 2560 จากประสบการณ์ที่เขาเดินทางรอบโลกตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วยความเร่งรีบ ทำให้เขาได้หลงลืมของใช้ส่วนตัวระหว่างการเดินทางหลายครั้ง เขาค้นหาไปทั่วอย่างสิ้นหวังเพื่อเอาพวกมันกลับคืนมา แต่ก็มีเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น ที่เขาสามารถทำได้ด้วยตัวเขาเอง เพราะหลายสิ่งหลายอย่างยุ่งยากมาก และเมื่อพิจารณาจากจำนวนนักเดินทางต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตเกียว และเพิ่มขึ้นเกือบ 30 ล้านคนในปี 2560 เขาเชื่อว่ามีนักเดินทางหลายคนที่ประสบปัญหาเดียวกันกับเขา ดังนั้นเขาจึงเริ่มบริการนี้ เพราะเขาไม่ต้องการให้นักเดินทางโชคร้ายเหมือนเขา

จากนั้น 2 ปีต่อมา ในปี 2562 บริษัทนี้ติดต่อกับลูกค้าประมาณ 600 ราย ในแต่ละเดือน และพบทรัพย์สินที่สูญหายแล้วมากกว่า 12,000 รายการ

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/08/26/lost-and-found-japan/