Virtual bank ธนาคารดิจิทัล เทรนด์ใหม่ชี้ชะตาระบบการเงินไทย

Share

Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24

Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25

Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26

Loading

ปรากฎการณ์ ดิจิทัล ดิสรัปชัน ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา กระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทั้งของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและพฤติกรรมของผู้ใช้บริการแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงินไทย ที่ในตอนนี้รูปแบบการใช้จ่าย การทำธุรกรรมทางการเงินได้เปลี่ยนไป Mobile Banking ได้เข้ามามีบทบาทกับคนรุ่นใหม่ ทำให้ธนาคารสาขาต่างๆ ค่อยๆ ทยอยปิดตัว เพราะผู้คนไม่เดินทางไปทำธุรกรรมทางการเงินกันที่ธนาคารแล้ว

ยิ่งในยุควิกฤตโรคระบาดด้วยแล้ว เทรนด์ระบบการเงินที่จะตอบโจทย์ที่สุด และเป็น Next Trend and New Trend ของการเงินการธนาคารเห็นจะเป็น ‘Virtual bank ธนาคารดิจิทัล’ หรือ Digital-only bank ธนาคารพาณิชย์ที่ไร้สาขาและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการนั่นเอง

การส่งเสริมให้เกิด เทรนด์ใหม่ ‘Virtual bank ธนาคารดิจิทัล’ ในประเทศไทย ก่อเกิดได้อย่างไร?

เพื่อเริ่มต้นทำความรู้จักกับเทรนด์ใหม่ของระบบการเงินไทย ‘Virtual bank ธนาคารดิจิทัล’ ขอชวนไปอีปเดตกันก่อนว่า เทรนด์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยบทความเรื่อง “Virtual bank … ก้าวต่อไปของระบบการเงินไทย” โดย ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บอกเล่าไว้ว่า

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบการเงินดิจิทัลที่สำคัญ เช่น ระบบพร้อมเพย์ QR code standard และระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล ตลอดจนพัฒนากลไกสนับสนุนอื่นๆ เช่น Regulatory Sandbox

ตลอดจน ได้ปรับกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจการเงินสามารถปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนได้ส่วนหนึ่งจากปริมาณธุรกรรมที่ทำผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ Mobile banking ที่เร่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ปรากฎการณ์นี้เป็นต้นสายปลายเหตุให้เกิดการทยอยลดความสำคัญของจุดให้บริการทางกายภาพ (เช่น สาขา และตู้ ATM) ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่พึ่งพาระบบเทคโนโลยีสนเทศและข้อมูลทางเลือกเพื่อให้บริการแบบดิจิทัลทั้งกระบวนการ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นอกจากพัฒนาการในประเทศแล้ว ที่ผ่านมา ธปท. ได้ติดตามพัฒนาการของระบบการเงินในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด และพบว่าผู้กำกับดูแลในหลายประเทศได้อนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากพัฒนาการของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลทางเลือก

และ “ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่” ที่ว่านี้ คือ Digital-only bank หรือ Virtual bank ซึ่งเป็น ธนาคารพาณิชย์ที่ไร้สาขาและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ โดยผู้กำกับดูแลเหล่านั้นได้กำหนดให้ Virtual bank มีลักษณะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์และบริบทของแต่ละประเทศ

สำหรับประเทศไทย Virtual bank อาจเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยตอบโจทย์การปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย แต่การจะอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual bank ธนาคารดิจิทัล ขึ้นในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมจำเป็นต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ ผลกระทบ และความเสี่ยงอย่างชัดเจนรอบด้าน

รูปแบบการให้บริการของ Virtual Bank

Virtual bank หรือ Digital-only bank มีลักษณะสำคัญ คือ

  • ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ (เช่น สาขาและ ตู้ATM) แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้
  • ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอนและชำระเงิน และการลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการ ติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual bank จัดเตรียมไว้

นอกจากลักษณะและรูปแบบการให้บริการที่ระบุข้างต้น Virtual bank มีข้อแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมชัดเจนในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core banking system)

โดย Core banking system ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่นๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Legacy system)

แม้ว่า ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมหลายแห่งได้ปรับปรุงโครงสร้างระบบงานเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินดิจิทัล แต่ยังคงอยู่ใน 2 รูปแบบหลัก คือ

1 การให้บริการ Internet/ Mobile banking โดยใช้ Core banking system เดิมควบคู่กับการให้บริการที่สาขาจุดให้บริการ

2 การให้บริการ Internet/ Mobile banking บน Core banking system ที่พัฒนาขึ้นใหม่แต่ยังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนนี้อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแก่ผู้บริโภคก็จริง แต่การพึ่งพา Core banking system หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงเผชิญอุปสรรคเกี่ยวกับความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน การบริหารจัดการทรัพยากรภายในรวมถึงข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์การกำกับดูแลอยู่บ้าง

แต่สำหรับ Virtual bank ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลโดยไม่มีสาขา และมี Core banking system บนเทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่าย ส่งผลให้ Virtual bank มีข้อดีชัดเจน

  • มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม
  • สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค
  • นำเสนอประสบการณ์ในการใช้บริการทางการเงินที่ดีให้แก่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Virtual Bank เปิดประสบการณ์ ธนาคารที่ล้ำสุดๆ ด้วยการผสานเทคโนโลยี นวัตกรรมแห่งยุคมาใช้

ทั้งนี้ Virtual bank ในปัจจุบัน มีการให้บริการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีสมุดคู่ฝาก และผู้ฝากสามารถแบ่งบัญชีเงินฝากเป็นบัญชีย่อยได้เองเพื่อแยกเงินไว้สำหรับวัตถุประสงค์ต่างๆ โดยได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปและอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน

ตลอดจนมีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ช่วยประมวลผลพฤติกรรม แนะนำการออมและการใช้จ่ายให้เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้ฝากโดยผู้ฝากสามารถเปิดบัญชีได้อย่างสะดวกผ่านสมาร์ทโฟน รวมทั้งมีบริการสินเชื่อที่ผู้กู้สามารถยื่นขอสินเชื่อโดยไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้และได้รับอนุมัติสินเชื่อในเวลารวดเร็ว

นอกจากนั้นยังมีบริการเพื่อ SMEs รายย่อยทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น การให้บริการเชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์และระบบการออกใบแจ้งหนี้ (Invoice) แบบดิจิทัลเพื่อช่วยให้ SMEs รายย่อยสามารถบริหารการเงินของตนได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

ปัจจุบันธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินหลายแห่งในต่างประเทศได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม และ Non-bank ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจการเงิน มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี หรือมีข้อมูลประเภทต่างๆ เช่น บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) บริษัทโทรคมนาคม บริษัทอีคอมเมิร์ซ หรือบริษัทที่ให้บริการต่างๆ บนแพลตฟอร์ม เช่น ธุรกิจที่ให้บริการบนแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะในเครือข่ายผู้ให้บริการ (Ride-hailing company) สามารถจัดตั้ง Virtual bank ได้ในหลายรูปแบบ

ทั้ง จัดตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม จัดตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-bank และเป็นการร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่างๆ โดยอาจเป็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมกับ Non-bank หรือ การร่วมทุนระหว่าง Non-bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกัน

ในหลายประเทศการอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual bank ในระยะแรกจึงยังมีการจำกัดปริมาณเงินรับฝากในบัญชี ตลอดจนการจำกัดขอบเขตการประกอบธุรกิจเพิ่มเติมจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม เช่น การให้บริการแก่เฉพาะรายย่อย (Retail) หรือเฉพาะรายใหญ่หรือนิติบุคคล (Wholesale) ตลอดจนมีการกำกับดูแลด้านเสถียรภาพ ซึ่งรวมทั้งเกณฑ์เงินกองทุน และสินทรัพย์สภาพคล่อง เทียบเท่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม

ที่ผ่านมาพบว่า Virtual bank ในหลายประเทศเริ่มมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ในสาธารณรัฐประชาชนจีนอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual bank โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่จึงเป็น E-commerce ที่มีฐานลูกค้าจำนวนมาก โดยเน้นการให้สินเชื่อแก่ SMEs และประชาชนที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม

ตัวอย่าง Virtual bank ในประเทศจีน “WeBank” ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาของกลุ่ม Tencent ผู้ให้บริการ WeChat (แอปพลิเคชันส่งข้อความอันดับหนึ่งของจีน) โดยปัจจุบัน WeBank สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว่า 100 ล้านคน นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบในปี 2557

การจัดตั้ง Virtual bank ที่สมควรจะเกิดขึ้นในบริบทของระบบการเงินไทย

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Virtual bank ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามบริบทของระบบการเงินในประเทศนั้นๆ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาบริบทของระบบการเงินไทย สามารถสรุปวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง Virtual bank ได้ดังนี้

  • เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) โดยเฉพาะบริการด้านสินเชื่อ
  • พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ (Innovative products) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
  • เพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขันในระบบการเงิน ธนาคารพาณิชย์ของไทยได้ปรับรูปแบบและช่องทางการให้บริการ โดยลดการขยายสาขาและเน้นการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้มีต้นทุนในการบริหารสาขาลดลงค่อนข้างมาก และยิ่งถ้าได้ปรับเป็น Virtual bank ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการทำธุรกรรมต่าง ๆ และให้บริการออนไลน์เต็มรูปแบบ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ การมีผู้เล่นประเภท Virtual bank ในระบบการเงิน จะเป็นตัวกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิมมีการปรับตัว เช่น เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นดิจิทัลมากขึ้น หรือพัฒนาการให้บริการดิจิทัลในปัจจุบันให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นประเภทใหม่ได้ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ระบบการเงินไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ตอบโจทย์ตามความต้องการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ด้วยราคาที่ดีมากยิ่งขึ้น

ที่มา : บทความเรื่อง “Virtual bank … ก้าวต่อไปของระบบการเงินไทย” โดย วริษฐา ก้อนนาค, พสธร นิพัทธกุศลกิจ, วีรณัฐ ธรรมหงส์, ธนิดา ลอเสรีวานิช, โสภณ วิจิตรเมธาวณิชย์ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/05/16/virtual-bank-new-trend-of-thai-banking/