4 ปัจจัยหลักที่ควรพัฒนา เพื่อยกระดับ Smart Healthcare ในประเทศไทย

Share

Loading

Smart Healthcare คือ ระบบการดูแลสุขภาพอัจฉริยะที่มีการนำเอาเทคโนโลยี Iot (Internet of Things) เข้ามาใช้ โดยจะมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยที่มีการควบคุมสั่งการโดยมนุษย์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถทำให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างยืดหยุ่น และเชื่อมโยงผู้คน อุปกรณ์ และสถาบันด้านการดูแลสุขภาพเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพและสนองตอบต่อความต้องการทางการแพทย์ได้อย่างทันท่วงที

ซึ่งถ้าหากมองให้ลึกจะพบว่า Smart Healthcare นั้นจะไม่ใช่เพียงแค่ระบบการดูแลสุขภาพด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์แบบยุคดิจิตอล ด้วยระบบ Iot และการบริการด้านสุขภาพบนคลาวด์ ซึ่งสิ่งที่ควรจะได้รับการยกระดับด้าน Smart Healthcare ในประเทศไทย มี 4 ปัจจัยดังนี้

1. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับระบบการทำงาน

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับงาน ถือเป็นด่านแรกที่จะต้องพบเจอ เพราะระบบการแพทย์และพยาบาลนั้นถือเป็นระบบที่มีมาตรฐานแบบเดิม ที่ถูกวางเอาไว้อย่างสมบูรณ์ และปฏิบัติยึดถือกันมาจนเป็นระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งการที่จะปรับเปลี่ยนระบบใหม่เข้าไปนั้นมักจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะในด้านของการจัดเก็บข้อมูลและในส่วนของทางการแพทย์ก็ไม่สามารถที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านั้นออกมาวิเคราะห์ได้ดั่งเช่นในระบบเดิมที่ทุก ๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างคุ้นเคย

ซึ่งแพทย์เองจะโฟกัสในเรื่องของการรักษาคนไข้เป็นหลัก และถือเป็นภาระงานที่สำคัญที่สุด ดังนั้นในส่วนของเทคโนโลยีจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และต้องแสดงให้เป็นประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม

2. การรักษาแบบ Smart Healrhcare

Smart Healthcare ในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นไปในลักษณะของการติดตามและเฝ้าระวังผู้ป่วยเท่านั้น แต่สำหรับแนวทางการรักษาแบบ Smart Healthcare นั้นแม้ว่าหลักการจะดี แต่เมื่อนำมาปฏิบัติจริงจะต้องพบกับอุปสรรคสำคัญก็คือในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูล เพราะการที่จะสามารถวิเคราะห์และพยากรณ์ด้านการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องมีการ Input ข้อมูลเข้าระบบเป็นจำนวนมาก

3. Smart Data เพื่อการแพทย์อัจฉริยะ

สำหรับแนวคิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน จะช่วยทำให้บูรณาการข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่สิ่งนี้จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้นั้นจะต้องได้รับการผลักดันจากหลายภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามจากโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งที่จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกัน

รวมถึงในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลกว่า 50 แห่งของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพนั้น ก็ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรงพยาบาลที่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการรักษาคนไข้เข้าด้วยกัน เพราะผู้ป่วยที่รักษากับโรงพยาบาลในเครือของโรงพยาบาลกรุงเทพสามารถที่จะเข้ารับการบริการได้กับโรงพยาบาลในเครือแห่งใดก็ได้ เพียงแค่โรงพยาบาลในเครือนั้น ๆ ทำการดึงแฟ้มประวัติคนไข้และประวัติการรักษาจากฐานข้อมูลส่วนกลาง ก็จะสามารถทำการดูแลรักษาคนไข้ต่อไปได้เลย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยจะต้องอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพราะข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นความลับ และมีเพียงแพทย์ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถดูข้อมูลได้

4. ความปลอดภัยของผู้ป่วยคือสิ่งสำคัญ

สำหรับการก้าวเข้าสู่ Smart Healthcare นั้นเป้าหมายอันสำคัญสูงสุดก็คือความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งเทคโนโลยีคือสิ่งที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเป้าหมายสูงสุดนี้ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของอุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน และบุคลากรทางการแพทย์มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในระบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.mostori.com

เครดิตรูปภาพ
www.pexels.com

0