EEC HDC กับ 7 ความเคลื่อนไหว: คลื่นใหม่ที่ปรับสร้างการพัฒนาบุคลากรใน EEC (ตอนสาม)

Share

Loading

ย้อนดูการศึกษากับการบริหารจัดการการศึกษาของไทย นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก เพราะจากอดีตสู่ปัจจุบัน เราเริ่มตั้งแต่มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแพร่ระบบโรงเรียน แทนการศึกษาดั้งเดิมที่มีวัดเป็นศูนย์กลางศิลปวิทยาและอักษรศาสตร์

เมื่อประเทศปรับสู่ความทันสมัย กระทรวงศึกษาธิการ ก็เป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแลบริหารจัดการการศึกษาจนถึงวันนี้ คราวที่มีการปฏิรูปการศึกษา 2 ทศวรรษต่อเนื่องที่ผ่านมา ส่งผลให้การบริหารจัดการการศึกษาค่อนข้างโกลาหล การจัดการศึกษาถูกรวมศูนย์ให้อยู่ใต้ระบบระเบียบของกระทรวงศึกษา มีการจัดปรับโครงสร้าง-อำนาจหน้าที่-กฎกติกาแบบไม่รู้จบมาจนทุกวันนี้!

นับเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน!

ความเคลื่อนไหวที่ 2 การปรับสร้างการทำงานแบบเครือข่ายความร่วมมือเชื่อมประสานการพัฒนาบุคลากร

ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษที่ชีวิตความเป็นอยู่และการงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสาร การค้า อุตสาหกรรม จนถึงในชีวิตประจำวัน ทำให้การศึกษาและการเรียนรู้ก้าวข้ามพรมแดนของโลกแบบเดิมสู่โลกแบบใหม่ ที่ไปพ้นจากขีดจำกัดทางชีวภาพ กายภาพและเขตแดนรัฐชาติ เปิดการเรียนรู้ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่และกาลเวลา ซึ่งสร้างนัยสำคัญทางการศึกษาที่สัมพันธ์กับความรู้ ทักษะ ความเจริญก้าวหน้า และการเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในทุกมิติของโลกใบใหม่ โดยเฉพาะในความเคลื่อนไหวของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐกิจปัจจุบัน

การทำงานแบบเครือข่าย เป็นกระแสความเคลื่อนไหวที่ปลุกสร้างขึ้นจากความเข้าใจถึงเป้าหมายปลายทางที่มีผลให้สถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษา ตลอดจนถึงกลุ่มการศึกษาในระดับพื้นฐาน เปิดตัวเปิดใจมาทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง ปรับสร้างคุณภาพบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่ EEC

สร้างเครือข่าย กระจายความรู้ผ่านการแยก ‘ศูนย์’

การทำงานร่วมกันในแนวทางนี้ EEC HDC ได้พัฒนารูปแบบงานแบบเครือข่าย โดยจัดตั้งคณะทำงานที่มาจากแต่ละสถานศึกษา ให้มาร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือ การมุ่งพัฒนาบุคลากรให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกันนี้ ยังได้จัดตั้ง 3 คณะประสานงาน ทำหน้าที่ช่วยเชื่อมประสานงานการศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งระดับพื้นฐาน ระดับอาชีวะ และระดับอุดมศึกษา

อีกทั้งการสนับสนุนให้เกิด ศูนย์ความร่วมมือหลายแห่ง เพื่อการพัฒนาความรู้ ทักษะ ความชำนาญ และการเปลี่ยนผ่านความรู้ให้เท่าทันโลกและเทคโนโลยีซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นการแบ่งปันทรัพยากรกันไปในงานด้วยศูนย์ที่จัดตั้งขึ้น อาทิ

  • ศูนย์การศึกษาออโตเมชั่นเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม 4.0 ศูนย์แห่งนี้สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบูรพากับบริษัท มิตซูบิชิ ทำงานร่วมกัน ซึ่งมีความก้าวหน้าไปโดยลำดับ มีการพัฒนาบุคลากรในระดับครูผู้ฝึกอบรมไปแล้วกว่า 100 คน และในระดับปฏิบัติงานอีกกว่า 100 คน
  • ศูนย์การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมทางทะเลและการเดินเรือ ที่มหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตศรีราชา ที่มีการพัฒนาบุคคลากรปีละเกือบ 100 คน สนับสนุนอุตสาหกรรมเดินสมุทรไทยมาอย่างต่อเนื่อง
  • ศูนย์พัฒนาศักยภาพการศึกษาระบบราง ที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เป็นศุนย์ที่เพิ่งตั้งเมื่อปีที่ผ่านมามีการผลิตบุคลากรรวม 78 คน
  • ศูนย์พัฒนาการศึกษาด้านโลจิสติกส์ ที่ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก อยู่ในระหว่างการจัดตั้งพัฒนา แต่มีเกือบ 100 ผู้ประกอบการที่ยื่นความจำนงจะร่วมมือในด้านนี้ โดยเฉพาะสมาคมโลจิสติกส์ไทย
  • ศูนย์การพัฒนาความรู้การผลิตชิ้นส่วนอากาศยานระดับอาชีวะศึกษา ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ที่ผลิตช่างชิ้นส่วนอากาศยานปีละราว 30 คน
  • ศูนย์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มจพ.ระยอง ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและมีการทำงานร่วมกันกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 10 บริษัทในเขตอุตสาหกรรม ในพื้นที่ระยอง เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีการจัดสร้างหลักสูตรแบบเครือข่ายที่เป็นหลักสูตรแบบ โมดูล ยุคใหม่ ซึ่งเกิดจากระบบเครือข่ายเชื่อมประสานจากระดับอาชีวะถึงอุดมศึกษา ในหลักสูตร AI ประยุกต์ โดยคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา

พลังของการทำงานแบบเครือข่ายในลักษณะนี้ กำลังเชื่อมต่อทั้งด้านหลักสูตรและความร่วมมืออยู่อีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังมีการจัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อพัฒนาบุคลากรใน EEC สำหรับเชื่อมความเป็นเครือข่าย 14 หน่วยงาน กับสถาบันการศึกษาใน EEC เข้าด้วยกัน

การทำงานแบบเครือข่าย สร้างความร่วมมือแทนการปิดตัวเองและแก่งแย่งอย่างที่เคยเป็นมา ทำให้เกิดการเรียนรู้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันในทุกระดับ เป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ช่วยสร้างความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาบุคลากรของ EED HDC ตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา

วันนี้จึงเป็นงานภาคปฏิบัติที่ขยับสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาบุคลากรยุคใหม่ตามทิศทาง Demand Driven ที่มีความหมายยิ่ง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/07/30/7-movement-of-human-development-by-eec-hdc-3/