EEC HDC กับ 7 ความเคลื่อนไหว: คลื่นใหม่ที่ปรับสร้างการพัฒนาบุคลากรใน EEC (ตอนสอง)

Share

Loading

จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องเข้าใจพื้นฐานความเป็นมาเกี่ยวกับ ‘ความเคลื่อนไหว’ ของประเทศในขณะนี้ ทั้งฐานคิดและฐานปฏิบัติที่ต้องการปรับทิศทางการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาจาก ‘อุปสงค์สู่อุปทาน’ หรือจากที่เป็น Supply Push แบบเดิมๆ มุ่งสู่ ‘Demand Driven’ ดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

จากที่เขียนบทความเรื่อง EEC HDC กับ 7 ความเคลื่อนไหว: คลื่นใหม่ที่ปรับสร้างการพัฒนาบุคลากรใน EEC (ตอนแรก) บทความนี้เป็นภาคต่อที่นำเสนอแนวคิด พร้อมรายละเอียด ‘ความเคลื่อนไหวข้อแรก’

ความเคลื่อนไหวที่ 1) ปฏิบัติการปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาสู่ DEMAND DRIVEN

Deman Driven หรือ การศึกษาตามอุปสงค์ ที่เป็นความต้องการจริงของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนใน EEC โดยเรื่องนี้มีข้อพิจารณาพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ ได้แก่

1) เมื่อเริ่มงานพัฒนาบุคลากรใน EEC ช่วงต้นปี 2562 นั้น มีตัวเลขบัณฑิตตกงานอยู่เกือบ 5 แสนคน! ในกลุ่มผู้ตกงาน มีจำนวนมากที่ไม่มีเงินจ่ายคืนกองทุนกู้ยืมทางการศึกษา!

2) ขณะที่กลุ่มผู้จบการศึกษาและมีงานทำอยู่ เกือบครึ่งไม่ได้ทำงานตามสาขาวิชาที่เรียนมา!

3) ผู้ที่เรียนจบ-มีงานทำตามสาขาวิชาที่เรียนมา ก็พบปัญหาเรื่องคุณภาพ-มาตรฐานการทำงาน จึงต้องใช้เวลาฝึกงานอยู่นานก่อนจะปรับตัวให้มีทักษะมาตรฐานในด้านการผลิต-บริการ ตามที่สถานประกอบการกำหนด

4) สถานการณ์โลกในปัจจุบัน อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ และทักษะ เราจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับชาติอื่นได้ในทุกมิติ

5) ผลรวมทั้งหมดข้างต้น ชี้บอกความพิกลพิการ-ความสูญเปล่าทางการศึกษาที่คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้าน ไม่นับความเสียหายจากการปรับตัวไม่ทันในด้านความรู้ นวัตกรรม ทักษะ และระยะเวลาที่ต้องเสียไปกับการปรับตัวให้ทันต่อการสร้างผลิตภาพเพื่อการแข่งขัน!

และโดยรวมแล้ว ทั้งหมดนี้คือ ต้นทุนความเสียหายและความสูญเปล่าจากการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาที่แฝงฝังอยู่ในระบบการศึกษาตลอดมา!!!

ข้อพิจารณาใหม่นี้ นำมาสู่ปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญ 7 ประการ ที่ต้องดำเนินการพัฒนาบุคลากรให้บรรลุเป้าหมายได้ กล่าวคือ

1) สร้างบุคลากรคุณภาพที่ตอบโจทย์การมีงานทำ-มีรายได้สูง ตามที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายต้องการ

2) ปรับสร้างความรู้ ทักษะ และการทำงานในทิศทางที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังปรับตัวสู่แพลตฟอร์มการผลิต-การบริการ ยุค Industry 4.0

3) ต้องหยุดความสูญเสียสูญเปล่าที่เคยเกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง

4) ปรับสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างผู้ประกอบการที่ต้องการบุคลากรกับหน่วยการผลิต-การพัฒนาบุคลากร เพื่อลดช่องว่างทั้งด้านความคิด ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ท่ามกลางคลื่นเศรษฐกิจใหม่ที่ไม่มีความแน่นอนในปัจจุบัน

5) เร่งปรับสร้างและพัฒนาระบบนิเวศ-ภูมิทัศน์ทางการศึกษา การเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะบุคลากรแนวใหม่ ที่เท่าทันโลกแวดล้อมในยุคศตวรรษที่ 21 เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในวันนี้ต่างไปจากโลกใบเก่ามาก

6) กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดผลลัพท์ที่ชัดเจน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่ได้มาตรฐานสากล เสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาให้บุคลากรอย่างต่อเนื่อง และเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกแวดล้อมในยุคใหม่นี้

7) ในความเคลื่อนไหวนี้ต้องปรับฐานการใช้จ่ายทางการศึกษาสู่การมีส่วนร่วม ระหว่างภาครัฐและ ภาคผู้ประกอบการ ให้มีการลงทุนและรับผิดชอบการผลิตบุคลากรร่วมกัน เพื่อก้าวออกจากระบบเก่าที่แก่งแย่งแข่งขันไร้ทิศทาง สู่การร่วมพัฒนา-เติมเต็มความต้องการให้กันและกัน ด้วยความร่วมมือใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ สัมผัสจับต้องได้และเห็นเป้าหมายปลายทางชัดเจน!

ตัวอย่างการดำเนินงานที่จับต้องได้

พื้นฐานความคิด-ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ แปรสู่ภาคปฏิบัติผ่านรูปแบบการจัดการศึกษาระดับอาชีวะ เช่น วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ หรือ วิทยาลัยเทคนิคไทย-ออสเตรีย ที่มีแนวทางสร้างการศึกษาแบบ สัตหีบโมเดล ด้วยความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างสถานประกอบการกับสถาบันศึกษา โดยมีหลักสูตรและการเรียนการสอนซึ่งเปิดให้ สถานประกอบการที่ต้องการบุคลากร เข้ามาลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากร ผ่านสถานศึกษาตามรูปแบบที่ ดร.เสนาะ อูนากูล ผู้ประสานความร่วมมือจากเยอรมนีและออสเตรเลียสู่ไทยในยุคนั้น ขณะที่ทำงานอยู่ในสภาพัฒน์ฯ และรูปแบบดังกล่าวก็สืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้

คณะทำงาน EEC HDC ได้ลงพื้นที่พบเด็กอาชีวะที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กที่เรียนช่างยนต์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กับ บริษัท BMW เด็กๆ เล่าให้ฟังว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ระหว่างที่เรียนนั้น บริษัท BMW เป็นผู้จ่ายให้ และยังให้ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเดือนละ 4,000 บาท ไม่นับรวมค่าที่พัก ค่าเล่าเรียน ตำราเรียน ฯลฯ

ด้านการเรียนการสอน ทางวิทยาลัยมีอาจารย์ที่ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของบริษัท เพื่อจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ ทั้งในโรงเรียนและในสถานประกอบการอย่างละครึ่ง โดยเด็กกลุ่มนี้บอกว่า พวกเขามีประสบการณ์สูงกว่าเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนแบบเดียวกัน ไม่ต้องไปกู้เงินมาเรียน และยังได้เรียนรู้จากช่างผู้ชำนาญการในโรงงานของสถานประกอบการจริง

ประสบการณ์จริงที่ผู้เรียนได้รับในทุกขั้นตอนของการเรียนที่กล่าวมานี้ เมื่อเรียนจบแล้วจะมีงานทำในบริษัทที่ให้การสนับสนุนทันที ด้วยเงินเดือนที่สูงกว่าคนอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้เรียนจะได้ทั้งวุฒิบัตร ปวส. และใบรับรองมาตรฐานการทำงานในฐานะช่างชั้นต้นของ BMW อีกด้วย

นี่คือประสบการณ์จากคำบอกเล่าของผู้เรียน ที่จุดประกายความคิดให้คณะทำงาน EEC HDC มุ่งขจัดความสูญเสียสูญเปล่าด้านการศึกษา และแก้ปัญหาบัณฑิตตกงานที่สั่งสมอยู่มากมายจากระบบการศึกษาแบบเดิมๆ !!!

การที่ EEC ได้จัดตั้ง EEC HDC ขึ้นมารับผิดชอบงานด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งการสัมผัสประสบการณ์ที่ดีเหล่านี้ นำไปสู่การเปิดพื้นที่ความคิด สร้างมุมมองใหม่ในการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ที่รวมเรียกว่า การศึกษาตามความต้องการที่แท้จริงของการพัฒนาประเทศและผู้ประกอบการ หรือ การศึกษาแบบ Demand Driven ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องปฏิบัติการจนเกิดผลเป็นรูปธรรม สัมผัสจับต้องได้

ในเบื้องต้น EEC HDC สำรวจความต้องการจริงของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยประมาณการจากการลงทุนของ BOI พบว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ความต้องการกำลังคนของ 10 อุตสาหกรรม จะมีประมาณ 475,668 คน ซึ่งเป็นการศึกษาและสำรวจความต้องการเชิงปริมาณในแบบเศรษฐมิติ ซึ่งทำร่วมกับ Expert Consultation ควบคู่กันไป จึงได้มาซึ่งตัวเลขนี้

ภารกิจ EEC HDC ที่ต้องปฏิบัติตามแนวคิด-ทิศทางที่กำหนดขึ้น มีดังนี้

1) นำเสนอตัวเลขความต้องการที่ศึกษามาได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบ-รับรู้ถึงความต้องการด้านการพัฒนาบุคลากร ที่จะสามารถสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC ได้ในอนาคต

2) ดำเนินการประสานเครือข่ายสถาบันการศึกษาทุกระดับที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ EEC เพื่อทำความเข้าใจในด้านการปรับทิศทางการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบใหม่

3) ประสานสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ-ภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถเข้าถึงความร่วมมือ-การเปลี่ยนแปลงใหม่ และเข้าใจประโยชน์โภชผลที่จะตกแก่ทุกฝ่าย ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและบริการ รวมถึงการพัฒนาประเทศโดยรวม

4) ช่วยขจัดความสูญเสียสูญเปล่าลงอย่างสิ้นเชิง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากร การศึกษา และเป็นการปูพื้นฐานการพัฒนาความรู้ทักษะ นวัตกรรมใหม่ ให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นจริง

ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานความคิดทิศทางการปรับสร้างความเคลื่อนไหวและการบริหารจัดการ-การปฏิบัติงานเพื่อพัฒนาบุคลากรยุคใหม่ ซึ่งการทำงานต่อเนื่องตลอด 18 เดือนของ EEC HDC ได้ปรับสร้างความคิด Mindset ความเข้าใจ ความรู้ และสร้างต้นแบบภาคปฏิบัติ ให้กับเครือข่ายกลุ่มการศึกษาทุกกลุ่ม เชื่อมกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาสู่ความก้าวหน้าใหม่ จนเกิดความเคลื่อนไหวแบบ Demand Driven อย่างแท้จริงในพื้นที่ EEC

ในด้านจำนวนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ EEC ที่เข้าร่วมเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรหลายระดับ มีดังนี้

  • ระดับโรงเรียนพื้นฐานและมัธยมจำนวน 109 แห่ง
  • ระดับวิทยาลัย (อาชีวะ) จำนวน 17 แห่ง โดยเป็นภาครัฐ 12 แห่ง และเป็นเอกชน 5 แห่ง
  • ระดับมหาวิทยาลัย 7 แห่ง โดยเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ 5 แห่ง เอกชน 2 แห่ง
  • มีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมจัดการศึกษากับสถาบันการศึกษาทั้งหมด 650 แห่ง แบ่งเป็นความร่วมมือระดับอาชีวะ 377 แห่ง และอุดมศึกษา 277 แห่ง

ขณะนี้ EEC HDC กำลังปรับตัวเลขความต้องการด้านบุคลากรให้ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นหลังเกิดวิกฤตการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งทำให้โลกทั้งใบต้องปรับตัว และในพื้นที่ EEC เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.salika.co/2020/07/28/7-movement-of-human-development-by-eec-hdc-2/