มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับภาคเอกชน แถลงข่าวเปิดตัว “ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19”

Share

Loading

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พร้อมด้วยภาคเอกชนร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “ชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19” ณ ห้อง Inspiration Chamber (Tip IC) ชั้น 22 อาคารทิพยประกันภัย สำนักงานใหญ่

ภายในงานมีการอธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการวิจัย พัฒนา และจัดทำชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และภาคเอกชนผู้ร่วมสนับสนุนโครงการ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ. สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร. สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย และยังมีภาคเอกชนอื่นๆ ที่เป็นผู้ร่วมสนับสนุนในโครงการนี่อีก เช่น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท โสมาภา อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) , บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท พิโซน่า กรุ๊ป จำกัด , Lao Airlines และธนาคารกรุงไทย

ทั้งนี้ภายในงาน ยังมี ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนาโครงการฯ มาเป็นผู้บรรยายถึงคุณสมบัติของชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 อีกด้วย

“โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ชุดตรวจนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็วโดยใช้หลักการ Immunochromatography (ICT) ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างต่อเชื้อทั้งชนิด IgM และ IgG และจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยวิธี ICT เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจเนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว มีความคงตัว มีความไวและความจำเพาะสูง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการตรวจหาการติดเชื้อในเบื้องต้นและตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15-20 นาที

ชุดตรวจนี้สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งยังใช้ตัวอย่างในการตรวจปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว หรือพลาสมา ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้มี ปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากการเก็บตัวอย่าง

ทั้งนี้ ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด – 19 (PSU COVID-19 Rapid Test) ยังเหมาะกับการตรวจภาคสนามที่บุคลากรทางการแพทย์ตรวจจากผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดการแพร่เชื้อ และการลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลได้” ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล กล่าว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://www.psu.ac.th/th/node/9556

ข่าวและภาพ :

บรรณาธิการ Security Systems Magazine