“Hapybot” หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์

Share

Loading

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัว Hapybot หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดล มียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ พร้อมที่จะนำ องค์ความรู้ต่าง ๆ ช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ เพื่อช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ สามารถใช้ในการติดตามคนไข้บนหอผู้ป่วย ใช้ในการดูแลและการพยาบาล ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา สิ่งเหล่านี้ คือ เหตุผลความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ต้องนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากร

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการวิชาการและเทคนิคเพื่อรองรับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) ที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในประเทศ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความสำคัญในการนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ในการช่วยเหลือประเทศชาติเป็นภารกิจพิเศษ และกำหนดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของ สวทช. ที่มีศักยภาพในเชิงสุขภาพและการแพทย์ และดำเนินการเพื่อสนับสนุนความต้องการการใช้เครื่องมือรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พร้อมทั้งประสานงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกิดความร่วมมือ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการที่ให้ความเห็นชอบผลงานวิจัยที่สำเร็จและผ่านข้อกำหนดด้านมาตรฐานและความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์จนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 รวมถึงยังติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน เพื่อการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย

สำหรับหุ่นยนต์ HAPYBot นี้ บริษัท เน็ตเบย์ (มหาชน) จำกัด ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือต่อสังคมในกิจกรรม CSR เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และพยาบาลในการป้องกันโรคระบาดฯ ดังกล่าว และได้รับการตรวจสอบและทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์จาก ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. ในการทดสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ ความปลอดภัย และมาตรฐานของหุ่นยนต์ เช่น แบตเตอร์รี่ในหุ่นยนต์ต้องเป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดระเบิดเมื่อมีการชาร์จไฟเพิ่ม ระบบไฟฟ้าไม่ส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ปล่อยคลื่นความถี่ไปรบกวนอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และระบบซอฟต์แวร์ รวมถึงระบบปฏิบัติการในการสั่งงานที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานภายในโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ยังได้มีพิธีรับมอบหุ่นยนต์ Hapybot หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์ จำนวน 3 ตัว เพื่อนำไปใช้งานจริงภายในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล 3 แห่ง ได้แก่

– สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
– ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
– โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.nstda.or.th/th/news/13253-20200529-hapybot