Smart City Thailand Takeoff เดินหน้าขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

Share

Loading

พร้อมรับสมัครเมืองทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ

4

            11 มีนาคม 2562 – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนางาน (สนพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดงาน “Smart City Thailand Takeoff” ณ ห้องบอลรูม โรงแรมพาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธาน โดยงานนี้จัดใหญ่อลังการ ประกาศเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ เปิดตัวตราสัญลักษณ์ Smart City Thailand รวมถึงรับสมัครเมืองเดิม เมืองใหม่ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 ด้าน ได้แก่ Smart  Economy, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Living, Smart People, Smart Governance และ Smart Environment นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมจัดงานเมืองอัจฉริยะอาเซียนตลอดปี ชู Smart City เป็นวาระหลักรับไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

2

            พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะนำประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้สูงที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ความเลื่อมล้ำน้อย ความเจริญกระจายไปทั่วประเทศ และต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องสำคัญในการดำเนินการ โดยหนึ่งในวาระเร่งด่วนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มเมืองเดิมที่ต้องปรับปรุงให้น่าอยู่ และอัจฉริยะมากขึ้น และกลุ่มเมืองใหม่ที่จะต้องออกแบบให้สมบูรณ์ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart  Economy) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) โดยประเทศไทยมีเป้าหมายเมืองอัจฉริยะคือ ในปีแรกที่ผ่านมาได้นำร่องเมืองอัจฉริยะ 7 จังหวัด 10 พื้นที่ ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ไปแล้ว ปีที่ 2 (2562) จะขยายไปสู่ 24 จังหวัด 30 พื้นที่ และภายใน 5 ปี (2563-2565) จะขยายไปทั่ว 76 จังหวัดและ กทม. 100 พื้นที่

3A

 

            สำหรับกลไกการทำงานที่จะบรรลุเป้าหมายเกิดขึ้นจริง ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่รวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญโดยมีกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเลขานุการร่วม เพื่อมาออกแบบกลไกขับเคลื่อน ผลักดันโครงการ รวมถึงติดตามความก้าวหน้าเมืองอัจฉริยะประเทศไทย โดยใน 1-2 ปีแรกใช้กลไกนำร่องโดยหน่วยงานรัฐ เอกชนที่มีความพร้อมก่อน เช่นในพื้นที่ ภูเก็ต ขอนแก่น ศูนย์พหลฯของกรุงเทพ และ EEC ส่วนเริ่มจากปีที่ 2 นี้จะใช้กลไกเปิดรับสมัครเมืองทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะ 5 ข้อ คือ 1. ต้องกำหนดพื้นที่และเป้าหมายชัดเจน 2. ต้องมีแนวทางพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานเมือง 3. ต้องมีระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลเมืองปลอดภัย 4. ต้องมีบริการเมืองอัจฉริยะตามลักษณะ 7 ด้าน และ 5. ต้องมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน และได้ประกาศเกณฑ์ดังกล่าวในวันนี้ พร้อมรับสมัครเมืองเดิม เมืองใหม่ทั่วประเทศมาพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ 7 ด้าน ซึ่งหากคณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นขอบแผนการดำเนินงานที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ เมืองก็จะได้รับตราสัญลักษณ์ Smart City และสามารถไปขอรับสิทธิ์ประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ต่อไปได้

1

            นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ใช้โอกาสในการ เปิดตัว Smart City วันนี้ ย้ำความสำเร็จของโครงการนำร่องใน 7 จังหวัดที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และขอแรงหน่วยงานรัฐเอกชน ประชาชน สื่อมวลชนมาช่วยงานเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network) ตั้งแต่มิถุนายน-สิงหาคม 2562 ซึ่งเป็นซีรีส์ของกิจกรรมด้านเมืองอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยเครือข่ายเมืองอาเซียน 26 เมือง ร่วมกับเมืองอื่นทั่วโลก และเอกชนรายใหญ่ของโลกมาร่วมแสดงศักยภาพเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ตอบสนองเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่จะชู Smart City เป็นวาระเด่นรับการที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ รวมถึงไทยจะผลักดันเกณฑ์การเป็นเมืองอัจฉริยะ วิธีการและกระบวนการการทำงาน พร้อมคู่มือ ไปสู่อาเซียนในเวทีนี้ เพื่อใช้เป็นไกด์ไลน์ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอาเซียนต่อไป

5

            ปิดท้ายด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นผู้นำด้านเมืองอัจฉริยะ โดยที่ผ่านมานำร่องก่อนโดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน แต่วันนี้เมืองที่มีความพร้อมสามารถมาสมัครขอเป็นเมืองอัจฉริยะได้เอง โดยจะตั้งสำนักงานเมืองอัจริยะประเทศไทย (Smart City Thailand Office) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ ที่ตึกลาดพร้าวฮิลล์ ห้าแยกลาดพร้าว พร้อมอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเป็นไปอย่างราบรื่น

 

ส่วนประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

aad-pr@depa.or.th / rawat.sa@depa.or.th

depa

http://www.depa.or.th