Community with Public Safety and Security
(ประชาคม กับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน)

Share

Loading

tachit-img

เตชิต ทิวาเรืองรอง
Security & Emergency Advisor
Security systems Magazine : December 2015 – January 2016

การรวมกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “AEC” รูปแบบการรวมกลุ่มมีความคล้ายกับการเริ่มต้นของ European Union หรือ “EU” ที่เริ่มจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของ 6 ประเทศ (Belgium, Germany, France, Italy, Luxembourg และ Netherlands) ที่เรียกว่า European Economic Community (EEC) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาความร่วมมือที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงจำนวนสมาชิกที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 28 ประเทศในปัจจุบัน

พูดถึงการร่วมกลุ่มของ AEC ที่มีประชากรไม่น้อยกว่า 600 ล้านคน ก็จะหมายถึงการเคลื่อนย้ายของประชากรทั้งเรื่องของแรงงาน, การท่องเที่ยว, การศึกษา และการประชุมสัมมนา จำนวนมหาศาล จะทำอย่างไรให้การเข้า-ออกของประชากรในและนอกกลุ่ม AEC เมื่อเข้ามาแล้วจะดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างไร คงจะต้องเป็นรายละเอียดสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ (ทั้ง 10 ประเทศ) ต้องทำการบ้านอย่างหนัก

เอาละครับ…ที่ยกตัวอย่าง EU ขึ้นมา เนื่องจากเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่มีความคล้ายคลึงกัน เช่น มีพื้นที่ติดกันมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน (EU มีประมาณ 500 ล้านคน) และมีการเคลื่อนย้ายของประชากรทั้งในและนอกประชาคมเช่นเดียวกัน (อาจจะเจอหนักกว่าตรงผู้อพยพภัยสงครามและความยากจนจากตะวันออกกลางและแอฟริกา อีกทั้งยังมีปัญหาหนักอกเรื่องการแฟงตัวเข้ามาของกลุ่มก่อการร้าย) ทั้งนี้ จะขออนุญาตเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงความร่วมมืออันหนึ่งของกลุ่ม EU ที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย, การแจ้งเหตุและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสพเหตุฉุกเฉินของ EENA (European Emergency Number Association) ด้วยการแจ้งเหตุไปยังหมายเลขฉุกเฉินของ European ให้บริการ 24 ชั่วโมงทุกวัน ที่สำคัญที่สุดคือจำแค่หลายเลขเดียวใช้ได้ทั้ง 28 ประเทศของ EU เลย (หวังลึกๆ ว่า AEC น่าจะมีความร่วมมือแบบนี้ด้วยนะครับ เผื่อเวลานักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติประสบเหตุฉุกเฉิน หรือต้องการความช่วยเหลือ จะได้จำแค่หมายเลขเดียว)

การให้บริการหมายเลขฉุกเฉินนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกหรือใหม่ บางประเทศก็ใช้หมายเลขฉุกเฉินเฉพาะ บางประเทศก็ใช้หมายเลขสากล และบางประเทศก็มีหมายเลขฉุกเฉินมากจนจำกันไม่ได้ เช่น ประเทศไทย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเชีย ซึ่งเป็นตัวอย่าง 3 ประเทศในประชาคม อาเซียน AEC

AEC Security4

“112” เป็นหมายเลขฉุกเฉินภายใต้การกำกับดูแลของ EENA ให้บริการพื้นที่ในยุโรป (EU), เป็นหมายเลขโทรฟรี (ทั้งเบอร์บ้านและมือถือ) และบริการ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด “112” สามารถเข้าถึงบริการหน่วยฉุกเฉินแบบเบ็ดเสร็จด้วยหมายเลขเดียว ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนหรือพูดภาษาใดในยุโรปก็จะสามารถติดต่อสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการของประเทศนั้น ๆ ได้ทันท่วงที

เป็นความท้าทายอย่างสูงที่ทั้ง 28 ประเทศ ต้องปรับเปลี่ยนหมายเลขฉุกเฉินที่มีอยู่เดิมเพื่อมาใช้หมายเลขเดียวกัน ศูนย์รับแจ้งเหตุ ผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านและมือถือของทุกประเทศก็ต้องปรับด้วย ถือเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มผู้ให้บริการเหตุฉุกเฉินภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

AEC Security2

รูปแบบของการให้บริการเหตุฉุกเฉินของ EENA (ปัจจุบัน)

ขั้นที่ 1 เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ข้อมูลของเหตุได้มาจากหลากหลายช่องทาง เช่น โทรศัพท์ SMS Mobile application ภาพจากกล้อง CCTV หรือ Sensor อื่น ๆ เพื่อระบุตำแหน่งและข้อมูลเหตุ

ขั้นที่ 2 ผู้รับแจ้งเหตุจะให้คำแนะนำเบื้องต้น (ได้รับคำแนะนำจากแพทย์/พยาบาล ในกรณีที่มีผู้บาดเจ็บในที่เกิดเหตุ) เพื่อประมวลผลข้อมูลและส่งต่อไปยังหน่วยงานฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องและอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจถ้าเป็นกรณีอุบัติเหตุ และดับเพลิงกรณีเหตุเพลิงไหม้ เป็นต้น

ขั้นที่ 3 หน่วยงานฉุกเฉินรายงานผลปฏิบัติงานกลับมายังผู้ควบคุมและปิดเหตุ

ในขณะเดียวกัน EENA ก็ยังคงไม่หยุดพัฒนาความร่วมมือในการแก้ปัญหาฉุกเฉินที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนใน EU ทั้ง 28 ประเทศ ให้มีความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ณ ตำแหน่งที่เกิดเหตุ เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ด้วยบริการที่เรียกว่า “eCall”

“eCall” คือ บริการแจ้งเหตุฉุกเฉินบนท้องถนน สามารถแจ้งเหตุด้วยผู้ประสบเหตุในรถเองหรือแจ้งโดยอัตโนมัติจาก In vehicle eCall System (จะทำงานเมื่อมีอุบัติเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกับตัวรถ) โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลและรัฐสภาของทั้ง 28 ประเทศ ด้วยการออกกฎหมายรองรับการดำเนินงาน รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตรถในยุโรปได้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานระบบ eCall และถือเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

สำหรับรถทุกคันที่ผลิตขายในยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 เป็นต้นไป โดยจะมีผลบังคับใช้กับรถยนต์นั่ง (Passenger car : M1) และรถบรรทุกเล็ก (Light Duty Vehicle : N1) ก่อน

ASEAN Security

หลักการทำงานของ eCall

เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ระบบ eCall จะถูก trig และส่งข้อมูลมาตรฐาน MSD(Minimum Set of Data) ไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุ(PSAP112) โดยอัตโนมัติ เพื่อระบุเวลา, ตำแหน่ง/สถานที่, ทิศทาง, จำนวนผู้โดยสาร, การวัดสัญญาณชีพ (Vital Sign) รวมถึงความเสียหายของรถที่ Sensor สามารถตรวจจับได้ จะได้เป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินในการจัดทีมและเครื่องมือเข้าไปในที่เกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว (eCall data หรือข้อมูลจะถูกส่งผ่านไปยังหน่วยงานฉุกเฉิน เช่น ตำรวจ, ดับเพลิง, เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน หรือ First Responder เพื่อการประเมินสถานการณ์ด้วย ซึ่งอาจรวมถึงบริการฉุกเฉินของภาคเอกชนในอนาคตได้อีกด้วย)

ทั้งนี้ คนขับหรือผู้โดยสารยังสามารถกดปุ่ม SOS ของระบบ eCall เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ (PSAP112) เพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติมจะได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น และยังอาจรับฟังคำแนะนำในการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บเบื้องต้นได้ทันที

จะเห็นได้ว่าบริการฉุกเฉิน “112PSAP” ของ EENA ในยุโรป เป็นต้นแบบที่ดีที่น่าจะนำมาใช้ใน AEC โดยเฉพาะการกำหนดหมายเลขฉุกเฉินเป็นหมายเลขเดียวกันเพื่อสะดวกในการจดจำและถ้าในอนาคตสามารถนำเอา eCall มาให้บริการได้ด้วยก็จะช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชากร AEC ได้อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://europa.eu/index_en.htm
http://www.eena.org
http://www.asean.org
http://www.eena.org
http://www.krungsri.com