มองอนาคต อาชีพไหนจะอยู่ อาชีพไหนจะไป และการปรับตัวก่อนเข้าสู่ยุค AI

Share

Loading

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่าไม่มีใครสามารถที่จะขวางกระแสการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้ ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะต้องทำคือการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และการมีวิสัยทัศน์มองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จนสามารถปรับตัวให้เท่าทันและสอดคล้องกับภาวการณ์แห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

และหากเราพูดถึงกรณีของ AI ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทหน้าที่หลาย ๆ อย่าง แทนบทบาทหน้าที่เดิมซึ่งเป็นของมนุษย์ สิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนกำลังวิตกกังวลว่าในอนาคตตนเองอาจจะตกงาน แต่หากมองในความเป็นจริงแล้ว ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในทุกยุคทุกสมัย เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการผลิตครั้งใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก โดยแต่เดิมที่ระบบการผลิตนั้นจะพึ่งพิงแรงงานมนุษย์เป็นหลัก แต่เมื่อเกิดการคิดค้นเครื่องจักรขึ้น สิ่งนี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่มนุษย์ และระบบการทำงานระหว่างคนกับเครื่องจักรก็ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างแบบแผนขึ้นมาใหม่ ให้สามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างลงตัวจวบจนปัจจุบัน เพราะเครื่องจักรก็ไม่ได้สามารถจะทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด

ดังนั้น ในปัจจุบันที่กำลังจะเข้าสู่ยุค AI แน่นอนว่าสิ่งนี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในระบบการทำงานและวิถีชีวิตของผู้คน ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง นำพาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย เพียงเท่านี้ เราก็จะอยู่รอดและนำความเปลี่ยนแปลงนี้มาเป็นประโยชน์สำหรับเราได้

อาชีพอะไรที่ AI ทำแทนไม่ได้

เว็บไซต์ดัง Will Robots Take My Jobs? ได้ให้ความเห็นว่า อาชีพที่ AI ไม่สามารถที่จะทำแทนได้ คือ

  • อาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์
  • อาชีพที่ต้องใช้ความเป็นผู้นำ
  • อาชีพที่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์
  • อาชีพที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง
  • อาชีพที่ต้องใช้จิตวิญญาณความเป็นศิลปิน

นอกจากนี้ Will Robots Take My Jobs? ยังได้จัดอันดับ 9 อาชีพที่ AI ทำไม่ได้ ได้แก่

1. ผู้จัดการฝ่ายบุคคล

สำหรับในอาชีพนี้ ถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ค่อนข้างสูง ดังนั้น อัตราความเสี่ยงในการถูกแย่งงานโดย AI จึงมีแค่ 0.55% เพราะทุกองค์กรต้องการคนที่มีทักษะในการรับมือและจัดการกับบุคลากรภายในบริษัท ซึ่ง AI ไม่สามารถทำไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะเป็นเหมือนผู้ที่คอยควบคุมให้บุคคลในองค์ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ผู้จัดการฝ่ายขาย

หน้าที่สำคัญของอาชีพนี้คือการหารายได้เข้าองค์กร ซึ่ง AI มีโอกาสจะเข้ามาแทนที่ได้เพียง 1.3% เท่านั้น เพราะถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะด้านจิตวิทยา และวาทศิลป์ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่ง AI ไม่สามารถที่จะมาแทนที่ได้ รวมถึงอาชีพนี้เป็นอาชีพที่สำคัญขององค์กร เพราะถ้าหากขาดอาชีพนี้ไปก็ขาดรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร จึงเป็นการยากที่ผันงานไปให้ AI มาทำแทน

3. ผู้จัดการฝ่ายการตลาด

ถือเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกแทนที่เพียง 1.4% แต่ทั้งนี้ผู้จัดการฝ่ายการตลาดจะต้องเลือกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์และการออกโปรโมชั่นต่าง ๆ นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการใช้ไอเดียที่แปลกใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ AI จึงยังคงไม่สามารถเข้ามาแทนที่อาชีพนี้ได้

4. ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์

สำหรับอาชีพนี้มีความเสี่ยงอยู่เพียง 1.5% ในการที่ AI จะเข้ามาแทนที่ เนื่องจากถือเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยหลักมนุษยสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้คนค่อนข้างสูง ซึ่งความเป็นมนุษย์นั้นมีรายละเอียดและความลึกลับซับซ้อนเกินกว่าที่ AI จะเข้าถึงได้ ซึ่งอาชีพนี้ยังคงเป็นงานที่ต้องใช้มนุษย์ในการรับผิดชอบดูแลต่อไป

5. ออร์กาไนเซอร์จัดงานอีเว้นท์

ซึ่งอาชีพนี้ถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวค่อนข้างสูง กล่าวคือก่อนเริ่มจัดงานจะต้องมีการออกแบบ คิดสร้างสรรค์งานกิจกรรมให้มีความแปลกใหม่น่าสนใจ เมื่ออกแบบเสร็จแล้วก็ต้องมีทักษะของการเป็นนักเล่าเรื่อง นักนำเสนอ ที่จะต้องใช้ทักษะในการสื่อสารให้ลูกค้าเห็นภาพแบบที่เราจิตนาการเอาไว้ ตลอดจนในการบริหารจัดการเมื่อเริ่มต้นจัดงานก็ต้องใช้ทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะการทำงานเป็นทีม ด้วยความที่เป็นอาชีพซึ่งต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวหลายด้าน จึงทำให้อาชีพนี้มีความเสี่ยงที่ AI จะเข้ามาทำหน้าที่แทนอยู่เพียง 3.7%

6. นักเขียนอาชีพ

ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน ซึ่งการเขียนที่ดีไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลแบบแข็งกระด้าง แต่งานเขียนที่ดีจะต้องสื่ออารมณ์และบอกเล่าเรื่องราวในเวลาเดียวกัน ซึ่งเรื่องของการสื่ออารมณ์นี้เป็นเรื่องที่ยากยิ่งในการอธิบายหรือบอกสอนโปรแกรมกันได้ ต้องอาศัยประสบการณ์ตรงและชั้นเชิงในการใช้ศิลปะทางภาษา ด้วยเหตุนี้อาชีพนักเขียนจึงเป็นอาชีพที่ต้องใช้มนุษย์ในการทำงานนี้ เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งงานเขียนดี ๆ ดังนั้น ความเสี่ยงต่อการถูกแทนทีด้วย AI จึงมีเพียง 3.8-4%

7. อาชีพนักข่าว

สำหรับงานการเป็นนักข่าว ถือเป็นอาชีพที่มีตำแหน่งหน้าที่อันหลากหลาย ดังนี้

  • นักข่าวภาคสนาม มีความเสี่ยง 11% ในการถูก AI เข้ามาทำงานแทน เพราะในการหาข่าวนี้ ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถที่จะใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข่าวต่าง ๆ มาวิเคราะห์ประมวลผลได้
  • กองบรรณาธิการข่าว มีความเสี่ยง 5.5% ในการถูก AI เข้ามาทำงานแทน เพราะสำหรับตำแหน่งงานนี้ ยังจำเป็นต้องใช้ความสามารถหรือกึ๋นของความเป็นมนุษย์ ในการที่จะตีความ เจาะลึก แตกประเด็นข่าวเพื่อนำเสนอให้กับผู้ชมได้อย่างน่าสนใจ
8. นักพัฒนาซอฟต์แวร์

ถือเป็นอาชีพที่ยังคงมาแรงในยุคดิจิทัล และมีความเสี่ยงในการถูกแย้งงานเพียง 4.2% เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยจินตนาการในการสร้างสรรค์ซอฟแวร์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนต้องผสมผสานเข้ากับหลักทฤษฏีที่เป็นไปได้ของการเขียนโปรแกรม จึงเป็นสิ่งยากที่ AI จะเข้ามาแทนที่ได้

9. กราฟิก ดีไซเนอร์

ถือเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความเป็นศิลปินค่อนข้างสูง และการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องตั้งอยู่บนจินตนาการ และไอเดียแปลกใหม่ ซึ่งทักษะเหล่านี้ AI ไม่สามารถจะทำได้ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกแยกงานอยู่เพียง 8.2%

อาชีพที่จำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน

สำหรับอาชีพที่ต้องเผชิญกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่กำลังโถมซัดเข้าใส่อย่างจัง ซึ่งมีโอกาสสูงมากที่ AI จะเข้ามาแทนที่ นั้นก็คือ อาชีพที่มีลักษณะการทำงานแบบซ้ำ ๆ ไม่มีความสลับซับซ้อน หรือมีรูปแบบตายตัว ไม่จำเป็นต้องใช้จินตนาการ หรือศิลปะมากนัก เช่น

  • โอเปอเรเตอร์                            มีความเสี่ยง 99%
  • พนักงานบัญชี                          มีความเสี่ยง 98%
  • รีเซฟชัน                                     มีความเสี่ยง 96%
  • พนักงานห้าง                             มีความเสี่ยง 92%
  • พนักงานพิสูจน์อักษร               มีความเสี่ยง 84%
  • พนักงานไอที                              มีความเสี่ยง 65%
  • นักวิเคราะห์การตลาด               มีความเสี่ยง 61%
  • พนักงานขายโฆษณาออนไลน์  มีความเสี่ยง 54%

ซึ่งอาชีพต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ ณ เวลานี้ นั้นก็คือการกลับมาสำรวจตัวเอง และเริ่มต้นปรับตัวก่อนที่กระแสความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจะมาถึง โดยการเพิ่มศักยภาพด้านอื่น ๆ ที่ AI ไม่สามารถทำได้ เพราะสุดท้ายแล้วยังไง เมื่ออาชีพหนึ่งถูกแทนที่ด้วย AI ก็ยังคงมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเสมอ เพื่อให้มนุษย์สามารถทำงานสอดประสานควบคู่ไปกับ AI ได้ และนั้นจะเป็นระบบงานใหม่ในยุค AI ที่แท้จริง ดังเช่น ที่เคยเกิดขึ้นในยุคปฏิบัติอุตสาหกรรม ที่แม้เครื่องจักรจะมาแทนที่แรงงานดั่งเดิมบางส่วน แต่แรงงานดั่งเดิมกลุ่มนี้ก็จะผันเข้าสู่ระบบการทำงานใหม่ ๆ ในอาชีพใหม่ ๆ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ขับเคลื่อนไปได้

เรียบเรียงโดยทีมงาน Security Systems Magazine

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.thairath.co.th

เครดิตรูปภาพ
www.pixabay.com