TRANSPORTATION SECURITY: ระบบขนส่งทางน้ำ

Share

Loading

สวัสดีเพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายและปลดล็อคตามระยะเวลา (Phasing) แต่ทุกท่านต้อง “การ์ดอย่าตกนะครับ” เป็นวลีที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ท่านโฆษก ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) กล่าวไว้เสมอ ในขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ในบางประเทศ ยังไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลงเลยก็มี

ที่ผ่านมาผู้เขียนมักจะเล่าเรื่องความปลอดภัยทางบกและทางอากาศ ฉบับนี้จึงอยากจะเล่าให้ฟังถึงระบบขนส่งทางน้ำและเห็นภาพของความร่วมมือในการร่วมกันอำนวยความสะดวกและยกระดับความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำกันบ้าง เช่นเดียวกับความปลอดภัยทางอากาศเนื่องจากเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ จึงมีองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางน้ำภายใต้สหประชาชาติ (United Nation – UN) มีชื่อว่า International Maritime Organization (IMO) หรือ องค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2491 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐาน ข้อบังคับ และแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ การคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 167 ประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2516

ภายใต้โครงสร้างของ IMO หรือ องค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ ประกอบด้วย

  • สมัชชา (Assembly)
  • คณะมนตรี (Council)
  • คณะกรรมการความปลอดภัย (Maritime Safety Committee-MSC)
  • คณะกรรมการสิ่งแวดลอมทางทะเล (Marine Environment Protection Committee-MEPC)
  • คณะอนุกรรมการต่าง ๆ (Sub- Committee)
  • คณะกรรมการกฎหมาย (Legal Committee-LG)
  • คณะกรรมการช่วยเหลือทางด้านวิชาการ (Technical Co-operation Committee-TC)
  • คณะกรรมการอํานวยความสะดวก (Facilitation Committee-FAL)
  • สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat)
  • อนุสัญญาระหว่างประเทศ IMO (IMO Conventions)

ทั้งนี้ ความปลอดภัยทางทะเล (Maritime Safety and Security) เช่น International Convention for the Safety of Life at Sea (SOLAS), International Ship and Port Facility Security Code (ISPS Code), Cyber security, Piracy and armed robbery against ships ฯลฯ ถือเป็นอนุสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยโดยเฉพาะ ซึ่งประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการก่อตั้งอีกหนึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบการติดต่อสื่อสารวิทยุและข่าวสารต่าง ๆ คือ International Mobile Satellite Organization (IMSO) หรือ องค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ

การให้บริการที่สำคัญของ IMSO หรือ องค์การดาวเทียมเคลื่อนที่ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางน้ำ คือ Global Maritime Distress Safety System (GMDSS)

GMDSS หรือ ระบบขอความช่วยเหลือและป้องกันภัยทางทะเลทั่วโลก เป็นหนึ่งในบริการที่สำคัญที่อาศัยอนุสัญญา SOLAS ที่ถูกบังคับใช้จากองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ได้กำหนดให้เรือเดินทะเลทุกลำที่มีขนาด 300 ตันกรอส ขึ้นไป และ เรือโดยสารทุกลำ ทำการติดตั้งระบบสื่อสารแจ้งเหตุอันตราย ที่ต้องสามารถใช้งานร่วมกับระบบ GMDSS ได้ เพื่อรองรับการกระบวนการทำงานเมื่อมีเหตุอันตรายเกิดขึ้น ตามรูปภาพ

GMDSS หรือ ระบบขอความช่วยเหลือและป้องกันภัยทางทะเลทั่วโลก ได้การกำหนดแบ่งเขตพื้นที่สำหรับเรือเดินทะเลตามระยะทางและเทคนิคของการติดต่อสื่อสารดังนี้

พื้นที่ A1 (Sea area A1) – พื้นที่ทะเลที่ห่างจากสถานีชายฝั่ง (VHF Coast station) อย่างน้อย 1 สถานี ที่สถานียังสามารถรับ-ส่ง สัญญาณ DSC ได้อย่างต่อเนื่องอยู่ ด้วยวิทยุโทรศัพท์ (Radiotelephone) ย่านความถี่ VHF และมีระยะทางที่ห่างจากชายฝั่งโดยประมาณ 20- 50 ไมล์ทะเล

พื้นที่ A2 (Sea area A2) – พื้นที่ทะเลที่ห่างจากสถานีชายฝั่ง (MF Coast station) อย่างน้อย 1 สถานี ที่สถานียังสามารถรับ-ส่ง สัญญาณ DSC ได้อย่างต่อเนื่องอยู่ ด้วยวิทยุโทรศัพท์ (Radiotelephone) ย่านความถี่ MF และมีระยะทางที่ห่างจากชายฝั่งโดยประมาณ 150- 250 ไมล์ทะเล

พื้นที่ A3 (Sea area A3) – พื้นที่ทะเลที่นอกเหนือจาก A1 และ A2 แต่ยังสามารถรับ-ส่ง สัญญาณ DSC ได้อย่างต่อเนื่องอยู่ภายใต้ระยะครอบคลุมของ Inmarsat Geo-stationary Satellite

พื้นที่ A4 (Sea area A4) – พื้นที่ทะเลที่นอกเหนือจาก A1, A2 และ A3 (บริเวณขั้วโลก)

Long Range Identification and Tracking of ships (LRIT) Data Center

LRIT Data Center หรือ ศูนย์ข้อมูลการเฝ้าติดตามและพิสูจน์ทราบที่เรือจากระยะไกล เป็นอีกหนึ่งในบริการที่สำคัญที่อาศัยอนุสัญญา ที่ถูกบังคับใช้จากองค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) โดยระบบ LRIT บนเรือจะต้องเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบบอกตำแหน่งเรือด้วยดาวเทียม (Global Navigation Satellite System, GNSS) หรือมีอุปกรณ์บอกตำแหน่งที่อยู่ภายในเรือ

ระบบ LRIT จะต้องสามารถควบคุมความถี่ของการส่งตำแหน่งเรือในระยะไกลได้โดยปราศจากการเข้าแทรกแซงจากอุปกรณ์หรือระบบอื่นใดบนเรือ และสามารถเปลี่ยนแปลงความถี่ในการส่งตำแหน่งเรือได้ตามระดับการรักษาความปลอดภัย (Security Level Change) เพื่อที่จะติดตามเรือเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ตัวอย่างการรายงานของระบบ LRIT ผ่านโปรแกรม BigOceanData

หอมปากหอมคอ สำหรับความปลอดภัยการขนส่งทางน้ำที่ผู้เขียนอยากเรียนให้ท่านผู้อ่านที่เคารพได้รับทราบเบื้องต้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับองค์กรระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือกันกับภาคีสมาชิกทั่วโลกกันก่อน แล้วพบกันในฉบับต่อไปนะครับ

ข้อมูลอ้างอิง :

http://www.imo.org

http://oldweb.md.go.th/IMO/paper/W_IMO.pdf

https://imso.org/

http://gmdss4mariners.blogspot.com/p/full-implementation-of-gmdss-was.html

http://www.marinerthai.net/comms/viewsara6101002.php