‘ทีซีซีเทค’ ถอดรหัส ‘AI’ กุญแจสู่เป้าหมาย ‘เมืองอัจฉริยะ’

Share

Loading

  • ยุคของก้าวผ่านจากยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นไปที่การทำงานของระบบอัตโนมัติ สู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรผ่านระบบอัจฉริยะ
  • เมืองอัจฉริยะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการผลักดันสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ หรือ “ยุคอุตสาหกรรม 5.0”
  • เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI เป็นรากฐานของยุคอุตสาหกรรม 5.0

ศูนย์รวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี “OPEN-TEC” ในเครือ ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจต่อบทบาทสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการยกระดับคุณภาพชีวิตสู่เมืองอัจฉริยะ

โดยระบุว่า เวลานี้เป็นยุคของก้าวผ่านจากยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นไปที่การทำงานของระบบอัตโนมัติเป็นหลัก สู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรผ่านระบบอัจฉริยะ

สำหรับการพัฒนาสภาพแวดล้อมของเมืองอัจฉริยะนั้นจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยให้สามารถก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 อาทิเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ระบบผสานการควบคุมทางกายภาพกับระบบคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน (cyber-physical systems), โมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร (human-machine collaboration models), การมุ่งเน้นถึงความยั่งยืน และการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven operations) ฯลฯ

‘คลาวด์’ รากฐานสำคัญ

โดยพื้นฐานแล้ว เมืองอัจฉริยะมีสภาพแวดล้อมและกรณีศึกษาที่สามารถใช้พัฒนา ทดสอบ และปรับปรุง โดยเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งเป็นรากฐานของยุคอุตสาหกรรม 5.0 โดยมีความแม่นยำเป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จ และยังมีอีกแรงที่ขับเคลื่อนความก้าวหน้าของ AI ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของความพร้อมใช้งานของข้อมูลและการเพิ่มขึ้นของกำลังในการประมวลผล

นอกจากนี้ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ถือเป็นรากฐานอันดับต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการและทรัพยากรต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งสำหรับเมืองอัจฉริยะ สมองส่วนกลางของ AI (Centralized AI brain) นั้นสามารถที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจ และรวบรวมข้อมูลจากการเลียนแบบประสาทสัมผัสของมนุษย์ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การดมกลิ่น และอุณหภูมิได้ เป็นต้น อีกทั้งยังเสริมด้วยโครงสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งที่จะช่วยส่งต่อข้อมูลไปถึงสมอง AI (AI brain) เพื่อส่งเสริมให้เกิด “Smart Visibility” หรือ การรับรู้สถานการณ์แบบภาพรวมที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมของพลเมืองได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของการใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสม

‘ปลอดภัย – น่าเชื่อถือ’ มองข้ามไม่ได้

อีกประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งระบบ AI ควรที่จะสามารถตรวจสอบและตรวจจับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมตอบสนองผ่านการวิเคราะห์ขั้นสูง รวมไปถึงการระบุความผิดปกติและทำการแจ้งเตือน

ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งให้ความสนใจกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อขยายขอบเขตการทำงานของ AI โดยมุ่งเน้นในการสร้างระบบอัจฉริยะที่มีศักยภาพสูงมากขึ้น ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายได้ ซึ่งหลักการสำคัญของเมืองอัจฉริยะนั้นจะมีตั้งแต่

  • ออนไลน์: การเชื่อมต่อและเข้าถึงบริการและข้อมูลออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลาสำหรับพลเมืองและการดำเนินงานของเมือง
  • AI อันดับแรก: ระบบ AI ทำหน้าที่เสมือนสมองอัจฉริยะสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล การดำเนินการอัตโนมัติ และการตัดสินใจในทุกฟังก์ชันของเมือง
  • ครอบคลุมทุกการเชื่อมต่อ: การเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อของเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ ระบบ แพลตฟอร์ม และฐานข้อมูลทั่วเมืองผ่านการเชื่อมต่อไอโอที
  • โครงสร้างพื้นฐาน: ชั้นพื้นฐานสำคัญที่ประกอบด้วยเครือข่ายความเร็วสูง การประมวลผลบนคลาวด์ มาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความสามารถในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
  • ดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) : การจำลองแบบ 3 มิติของทรัพย์สินทางกายภาพของเมืองเพื่อจำลอง ทำนาย และเพิ่มประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
‘ข้อมูล’ ปัจจัยชี้วัดความสำเร็จ

จะเห็นได้ว่าหลักการต่างๆ รวมถึงแนวทางการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในมิติการเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนเมือง การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การยกระดับประสบการณ์พลเมือง การปรับใช้เทคโนโลยี รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ล้วนชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูล ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันและการวิเคราะห์เชิงปริมาณจากแพลตฟอร์มต่างๆ

ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิดเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตั้งแต่การทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด การโต้ตอบทางออนไลน์ และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วน ซึ่งทำให้เป็นจุดกำเนิดของเมืองอัจฉริยะที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จำเป็นต้องร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพลเมือง

นอกจากนี้ AI ด้านภาษาที่สามารถรองรับได้มากกว่า 50 ภาษา ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการได้อย่างยั่งยืนครอบคลุมภาษาและวัฒนธรรม

อีกทั้ง ยังมีการพัฒนาต่อยอดสู่ “Super Apps” รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่รวบรวมตั้งแต่ข้อมูลส่วนบุคคล การยินยอมในการใช้ข้อมูล การจัดการสาธารณูปโภค และอื่นๆ ผ่านการรักษาความปลอดภัยด้วยบล็อกเชน

ผสาน ‘โลกเสมือน -โลกความจริง’

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ระบบ AI ขั้นสูงจะช่วยยกระดับการประมวลผลบนคลาวด์ ให้สามารถขับเคลื่อนบริการอัจฉริยะของภาครัฐ ภาคการเงิน การขนส่ง การตอบสนองเหตุฉุกเฉิน การพยากรณ์อากาศ การเรียนรู้และการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้โซลูชัน AI มีความแม่นยำสูง สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่านการตรวจจับและป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน วางกรอบการออกแบบที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป้าหมายโดยรวมคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ “City Intelligent Twin” ที่ผสานผสานโลกเสมือนและโลกความจริงเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน และนำไปสู่การพัฒนาบริการสาธารณะและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับทุกคน

ท้ายที่สุด เมืองอัจฉริยะที่ยังคงถูกพัฒนาให้เป็นห้องปฏิบัติการในชีวิตจริง เร่งให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 5.0 เป็นพื้นที่ทดสอบเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์ AI และกระบวนการสำหรับสภาพแวดล้อมของเมืองในยุคถัดไป

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1150921