’แม่สาย’ ถึงเวลาเปลี่ยน? ศึกษาเกาหลีใต้ ฟื้นคลองใหม่ป้องกันน้ำท่วมได้!

Share

Loading

ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ‘แม่สาย’ น้ำท่วมรุนแรง นอกจากน้ำป่าที่ทะลักจากฝั่งเมียนมา คือ แม่น้ำสาย ที่ควรรองรับน้ำได้เหลือความกว้างบางจุดเพียง 7 เมตร เพราะสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ ฉายภาพกรุงโซล ที่ขึ้นหิ้งการฟื้นฟูคลอง โดยรื้อถอนกระทั่งทางด่วน พวกเขาคิดอย่างไร

แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก เป็นเส้นทางกั้นพรมแดนธรรมชาติไทย – เมียนมา ที่เคยกว้างถึง 100 เมตร เมื่อในอดีต แต่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20 เมตร และมีจุดที่แคบที่สุด 7 เมตรเท่านั้น จากการขยายตัวของเมือง ทับทางระบายน้ำ และรุกล้ำเข้าไปยังเส้นทางของแม่น้ำ ส่งผลให้แม่สาย เผชิญน้ำท่วมบ่อยมากแทบทุกปี และหนักหนาที่สุดในปีนี้ ซึ่งต่อให้มีระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพอย่างไร ก็อาจจะไม่สามารถป้องกันเหตุน้ำท่วมได้เลย

สะท้อนผ่านแผนที่น้ำท่วมในปีนี้ จะเห็นได้ว่า เส้นทางน้ำนั้นเป็นการล้นมาจากแม่น้ำสายก่อน และกระจายเป็นวงกว้าง

อีกประการหนึ่งคือ แม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก นั้นไม่ได้มีเครื่องมือในการป้องกันน้ำอย่างเป็นระบบ เช่น การสร้างเขื่อนฯลฯ ได้ เหตุผลหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจาก บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รอยต่อชายแดน การจะสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ส่งผลต่อทั้ง 2 ประเทศ จึงใหญ่ยิ่งกว่าการตัดสินใจของประเทศไทย แค่เพียงประเทศเดียวอย่างแน่นอน! และต้องมีอีกหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็คงเป็นเรื่องลำบากลำบนอีกอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม หากจินตนาการว่า แม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก สามารถจัดการได้จริงๆ อย่างไม่มีข้อแม้ คงจะมีนวัตกรรมหลายอย่างที่สามารถเข้ามาช่วยได้

อันที่จริง บนโลกนี้ มีหลายประเทศที่ประสบปัญหาการพัฒนาของเมืองเข้าไปรุกล้ำแม่น้ำ จนทำให้เกิดน้ำท่วมอยู่ไม่น้อย และบางแห่งก็ลังเลว่าจะต้องทำอย่างไรกับโครงสร้างเหล่านั้นที่ลงไปกับการพัฒนามานานหลายปี  ประเทศเกาหลีใต้ ก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ประสบปัญหาดังกล่าว และหนักหนามากเมื่อต้องเลือกระหว่างถนนทางหลวงและทางด่วน กับลำคลองสายหนึ่งอย่าง ‘คลองชองกเยชอน’ แต่การเลือกของเกาหลีใต้ครั้งนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นโมเดลต้นแบบของโลกเลยทีเดียว พวกเขาทำอย่างไร?

คลองชองกเยชอน  จากเส้นน้ำธรรมชาติ ถูกปิดตาด้วยการพัฒนาเมือง

‘คลองชองกเยชอน’ ย้อนไปเมื่อ 600 ปีก่อน มีลำน้ำธรรมชาติที่ไหลจากหุบเขาและไหลตัดผ่านใจกลางเมืองไปสู่ทิศตะวันออก ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งทรัพยากรทางน้ำที่สำคัญในยุคนั้น ลำน้ำเส้นนี้เป็นลำน้ำเล็กๆ เฉกเช่น แม่น้ำสาย และมันจะไหลไปรวมกับคลองชุงนังชอน และไหลรวมไปสู่แม่น้ำฮัน ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเกาหลีใต้อีกทีหนึ่ง

เวลาที่มีฝนตกหนักๆ คลองชองกเยชอน ก็เอ่อท่วมชาวบ้านในขณะนั้น  ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองต้องเดือดร้อน ในสมัยต่อๆ มาจึงได้มีการสร้างสะพานและวางแนวกำแพงริมลำธารเอาไว้ ในช่วงเวลาต่อมาคุณภาพในลำน้ำสองฝั่งค่อยๆ ถดถอย และแออัดไปด้วยผู้คนจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และผลกระทบจากการเข้ามาของอุตสาหกรรม จนเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมด้วยมลภาวะและขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล

รัฐบาลจึงตัดสินใจสร้างโครงการทางด่วนยกระดับขนาด 4 เลน ความยาว 5.6 กิโลเมตร ในบริเวณนั้น และปิดบังสายตาของผู้คนให้ไม่เห็นคลองดังกล่าวอีกต่อไป  ในระยะเวลา 20 กว่าปีให้หลังพื้นที่บริเวณนั้นได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ และสะท้อนภาพลักษณ์การเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของเกาหลีใต้!

คืนคลองชองกเยชอน คืนคุณภาพชีวิตที่ดี จัดการระบบน้ำท่วมได้ถึง 200 ปี

ในปี 2003 นายกเทศบาลเมือง ได้ริเริ่มโปรเจ็กต์สำคัญที่จะรื้อทางด่วนและรื้อฟื้นคลองขึ้นมาใหม่ เนื่องจากมองว่า ‘กรุงโซล’ เต็มไปด้วยมลพิษ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนเมืองย่ำแย่ และมีปัญหาจากน้ำท่วมขัง แม้จะเกิดการต่อต้านและข้อถกเถียงมากมาย ทั้งเรื่องรถติดจากการก่อสร้าง สิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมจากการมีคลองอีกหรือไม่ มีข้อขัดแย้งจากธุรกิจและผู้ค่าในพื้นที่ ว่าหากต้องย้ายออกจะทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้อย่างไร หรือการรื้อถอนทางหลวงและทางด่วนนั้นเป็นเรื่องที่ใหญ่โตเกินไป มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 386 ล้านเหรียญสหรัฐ!

แต่โครงการดังกล่าวก็ได้เดินหน้าในที่สุด โดยชูประเด็นความยั่งยืนของเมืองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นหลัก!

คลองชองกเยชอน นอกจากจะเป็นการรื้อลำธารขึ้นมาใหม่แล้ว แต่ยังสร้างบนคอนเซปต์ที่อยากจะคืนพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชน มีการออกแบบสร้างกระแสน้ำธรรมชาติ ทางเท้าริมลำธาร และสร้างสภาพแวดล้อมที่คนต่างอยากจะไปเดินเล่น แต่สิ่งสำคัญคือมีการสร้างระบบจัดการน้ำท่วม ในคลองแห่งนี้

มาตรการที่นำมาใช้กับลำธาร เพื่อสร้างระบบจัดการน้ำท่วม ได้แก่

  1. การขยายพื้นที่หน้าตัดของลำธาร เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับการไหลของน้ำในช่วงที่เกิดน้ำท่วม ซึ่งมีการออกแบบให้สามารถรับน้ำท่วมที่จะยาวนานถึง 200 ปีได้ ภายใต้อัตราการไหลที่ 118 mm/hr
  2. เพิ่มความลาดชันและการจัดการความเร็วการไหลของน้ำ โดยระบบการจัดการน้ำท่วมถูกออกแบบให้มีความลาดชันเพื่อช่วยให้น้ำไหลผ่านได้อย่างรวดเร็ว และลดการสะสมของน้ำที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้
  3. การควบคุมและจัดการน้ำฝน โดยการใช้ระบบระบายน้ำคู่ แยกน้ำเสียออกจากน้ำฝน และน้ำฝนที่สะอาดจะไหลเข้าสู่ลำธารโดยตรง ในขณะที่น้ำเสียจะต้องถูกบำบัดเพื่อลดปริมาณมลพิษก่อน
  4. ระบบกักเก็บน้ำสำรอง โดยสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำสำรองสำหรับรองรับน้ำในช่วงที่มีน้ำท่วมสูง โดยขุดให้ลึกกว่าระดับดั้งเดิมของลำธาร และมีพื้นที่เพิ่มเติมบริเวณข้างๆ
  5. ปลูกพืชฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อช่วยดูดซับน้ำและลดความเสี่ยงของการไหลท่วม

หลังจากโครงการสำเร็จเสร็จสิ้น ผลสำเร็จของโครงการดังกล่าวนี้มีอยู่มหาศาล ส่วนหนึ่งคือคลองนี้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ถึง 200 ปี นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดผลกระทบของเกาะความร้อนในเมือง ลดปริมาณมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็กลงกว่าร้อยละ 35 นอกจากนี้ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจเพราะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และราคาอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนั้นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่ธุรกิจในย่านดังกล่าวอีกด้วย

‘แม่สาย’ อาจทำไม่ได้ขนาดนี้ แต่อย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนได้ดี คือ ทัศนคติเริ่มต้นของการจัดการปัญหา ที่เกาหลีใต้มองเห็นประโยชน์จากความยั่งยืน คุณภาพชีวิตของผู้คน จนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเมืองของพวกเขา แม้สิ่งที่ต้องรื้อออกไปจะเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ อย่างทางด่วนก็ตาม!

แม่สายน้ำท่วมทุกปี และหนักหนาในปีนี้ที่ท่วมถึง 8 ครั้ง คำถามคือ ทุกฝ่ายพร้อมหรือยังที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองแห่งนี้ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมจะเกิดการเสียผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย!

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-city/713278