‘ดีอี’ เข็นกฎหมายซื้อของออนไลน์ เปิดกล่องเช็กสินค้าก่อนจ่ายได้ เริ่มบังคับใช้จริง 3 ต.ค.67 นี้ ป้องกันนักช้อปได้สินค้าไม่ตรงปก ระบุข้อบังคับกำหนดให้ ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าต้องเก็บเงินค่าสินค้าไว้เป็นระยะเวลา 5 วัน
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ประกาศเรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 จะมีผลบังคับใช้ 3 ต.ค.2567 เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แบบใช้บริการเก็บเงินปลายทาง (COD) ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีมติเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เดือนก.ค.2567 ที่ผ่านมา
นายประเสริฐ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการขนส่งสินค้าต้องระบุรายละเอียดสำคัญของผู้ส่งสินค้า และผู้ประกอบการ รวมถึงชื่อ-นามสกุล ของผู้รับเงิน พร้อมกับหมายเลขติดตามพัสดุ โดยข้อบังคับนี้กำหนดให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าต้องเก็บเงินค่าสินค้าไว้เป็นระยะเวลา 5 วัน ก่อนจะนำส่งเงินให้กับผู้ขาย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีเวลาเพียงพอในการแจ้งขอคืนสินค้า และขอเงินคืนในกรณีที่พบปัญหาจากการสั่งซื้อ
นอกจากนี้ กฎหมายยังให้สิทธิผู้บริโภคในการเปิดดูสินค้าก่อนที่จะทำการชำระเงิน หากตรวจสอบแล้วพบว่า สินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง หรือมีปัญหาทางด้านคุณภาพ ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงิน และปฏิเสธการรับสินค้าได้ทันที
อย่างไรก็ตาม นายประเสริฐ กล่าวถึงผลงานที่กระทรวงดีอีได้ทำมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นนโยบายในอนาคตของรัฐบาลจากการแถลงต่อสภาแล้วเสร็จ หลักๆ จะมี 4-5 เรื่อง คือ
- การแก้ปัญหาภัยออนไลน์ที่ต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์ พนันออนไลน์ อาชญากรรมออนไลน์รูปแบบต่างๆ เป็นต้น
- การใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) จะมีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง
- การดูแลส่งเสริม และการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากการค้าอีคอมเมิร์ซ
- การใช้เศรษฐกิจดิจิทัลในการสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจ
- การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล เนื่องจากขณะนี้ขาดแคลนกำลังคนในด้านนี้
“ผลงาน 1 ปี ดีอีได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC 1441 มีรูปธรรมชัดเจน เพราะเปิดตั้งแต่ 1 พ.ย.66 – ปัจจุบัน ผลงานน่าพอใจ เพราะมูลค่าความเสียหายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตัวเลขความเสียหายโดย 1 วัน มูลค่าอยู่ที่ 29-30 ล้านบาท และไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมมีมูลค่าความเสียหาย 100 ล้านบาท รวมถึงตัวเลขคดีลดลงเช่นกัน” นายประเสริฐ กล่าว
ขณะเดียวกัน เรื่องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ที่ดูเรื่องพ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) จากอดีตข้อมูลบุคคลรั่วไหล โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจ 100% พบโอกาสข้อมูลรั่ว 30-40% ภายหลังจากมีพ.ร.บ.ดังกล่าว ทำให้การตรวจสอบข้อมูล และกำกับดูแลหน่วยงานให้คุ้มครองข้อมูลมากขึ้น ปัจจุบันพบโอกาสรั่วไหลอยู่ที่ 1.21-1.5%
นอกจากนี้ กระทรวงดีอี มุ่งนโยบายเรื่องการลดปริมาณกระดาษ (เปเปอร์เลส) ซึ่งการทำงานภายในกระทรวงได้ปรับลดการใช้กระดาษมากขึ้น และปี 67 ได้งบประมาณมากขึ้นจะเริ่มเปลี่ยนราชการระดับกระทรวง ระดับท้องถิ่นมากขึ้น อีกทั้งได้มีการเริ่มด้านกำลังคนที่ให้มีการเขียนโปรแกรมต่างๆ ให้ราชการได้ใช้งานฟรี สิ่งที่จะเดินต่อไปจะยกระดับคนกลุ่มนี้ให้เขียนโค้ดต่างๆ ให้กับราชการมากขึ้น โดยเริ่มตั้งกองชั่วคราวขึ้นมาดำเนินการแล้ว
“อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่รองนายกฯ ได้พูดคุยกับนายกฯบ้างแล้ว ระหว่างนี้ยังอยู่ช่วงการแบ่งงาน เพราะต้องมีการแบ่ง 2 อย่าง 1 แบ่งเขตราชการ 2 แบ่งภารกิจ ซึ่งนายกฯ ยังไม่ได้มอบหมายอย่างเป็นทางการ ต้องรอความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง” นายประเสริฐ กล่าว
แหล่งข้อมูล