Adaptation Finance: ปรับเพื่อไปต่อ อย่ารอจนสายไป

Share

Loading

แม้ทุกฝ่ายมุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอน (Mitigation) จากกิจกรรมของมนุษย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจากภาวะโลกเดือดปรากฏแล้วในปัจจุบันและมีแนวโน้มเกิดต่อเนื่อง

ดังนั้นระหว่างทางสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2050 อีกสิ่งที่เราต้องดำเนินควบคู่กับการลดคาร์บอนคือการปรับตัว (Adaptation) เพราะในเมื่อเราลดไม่ทันแล้ว ก็ต้อง “อยู่กับมันให้ได้” ครับแน่นอนว่าการจะรับมือ หรือที่เขาเรียกว่าการปรับตัวเพื่ออยู่ให้ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องอาศัยเงินจำนวนมาก ดังที่เลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กุเตอเรส ออกโรงเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเร่งระดมทุน Adaptation Finance ต่อปีให้ถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน ค.ศ. 2025 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสภาพอากาศสุดขั้ว

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำเตือนข้างต้นยังไม่เป็นที่รับฟังโดยทั่วกันสักเท่าไหร่ รายงาน UNEP Adaptation Gap Report 2023 เผยว่าหนึ่งในหกประเทศยังไม่มีแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวาระระดับชาติ และหากไม่เต็มใจ “จ่าย” ค่ายกเครื่องระบบต่างๆ ตั้งแต่ตอนนี้ ภายหลังเราอาจจำใจ “จ่าย” แพงกว่าเดิมในรูปแบบของความเสียหายทางเศรษฐกิจ หรือการล่มสลายของระบบนิเวศ

รายงานข้างต้นยกตัวอย่างว่าทุกๆ 1,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ลงทุนในการปรับตัวต่อปรากฏการณ์น้ำทะเลท่วมชายฝั่ง จะช่วยลดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่น้อยเลยนะครับ กรณีชุมชนตามพื้นที่เสี่ยงต่อการกัดเซาะชายฝั่ง มีหนทางการปรับตัวด้วยวิธีธรรมชาติในราคาที่จับต้องได้และลงมือทำได้ทันที คือการปลูกป่าชายเลนเป็นแนวกั้น เพื่อบรรเทาภัยจากคลื่นพายุซัดฝั่ง

ในเมื่อต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อที่จะ “อยู่กับมันให้ได้” ทุกสายตาจะหันมาหาสถาบันการเงินที่มีเงินทุนอยู่ในมือ ซึ่งต้องมีแนวทางการให้ Adaptation Finance เพื่อให้เศรษฐกิจ “ไปต่อ” ได้ ดังนั้น เมื่อไม่นานมานี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UN Environment Programme Finance Initiative: UNEP FI) ร่วมกับคณะทำงานของหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ได้เผยแพร่ PRB Adaptation Target-Setting Framework หรือกรอบการกำหนดเป้าหมายการปรับตัวสำหรับธนาคารผู้ลงนามรับในหลักการ PRB มีสี่ขั้นตอนดังนี้

1.ทำความเข้าใจนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งระดับชาติและระดับสากล เพื่อเรียงความสำคัญของเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยธนาคารควรพิจารณาแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกทั้งเร่งสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชากร อาทิ การเกษตรและสาธารณูปโภค

2.ประเมินความเสี่ยงทางกายภาพอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ววางแผนจำลองสถานการณ์ในอนาคต (Scenario Planning) เพื่อระบุลูกค้าในธุรกิจหรือภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบและธนาคารต้องสนับสนุนการปรับตัวโดยเร็ว

3.ตั้งเป้าหมายในการให้ Adaptation Finance ที่ชัดเจน วัดประเมินได้จริง มีกำหนดเวลาที่แน่นอน  ธนาคารอาจตั้งเป็นเป้าหมายระดับพอร์ต หรือเป็นเป้าหมายเฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง  ตัวอย่างการวัดผลความคืบหน้าโครงการ คือการลดลงของจำนวนคนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่เสี่ยง หรือการลดลงของปริมาณพืชไร่ที่สูญเสียจากภัยแล้ง เมื่อเทียบกับปีฐาน

ฝ่ายงานสำคัญในการตั้งเป้าหมายดังกล่าว คือทีมความยั่งยืน ทีมบริหารความเสี่ยง รวมถึงทีมธุรกิจที่ดูแลเรื่องการมีส่วนร่วมของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ บริการให้คำปรึกษา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินที่จูงใจ

4.จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science-Based Targets) โดยบูรณาการแผนเข้ากับกระบวนการภายใน พร้อมทั้งกำหนดดัชนีชี้วัดสำหรับติดตามผลลัพธ์ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ

การผลักดันให้มีกรอบการปรับตัวข้างต้นของ PRB เป็นตัวบ่งชี้สำคัญว่าการพยายามลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้า อาจไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์เสียแล้ว  เราจึงต้องเตรียมรับมือกับสภาพโลกรวนเพื่อที่จะ “ไปต่อ” ให้ได้ ควบคู่ไปกับการลดคาร์บอนอย่างแน่วแน่

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1134131