Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24
Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25
Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26
ในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงปรี๊ดติดอันดับ Top 5 ของโลก โดยเฉพาะ 2 เมืองใหญ่นั่นคือกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ นอกเหนือจากวิธีรับมือกับ วิกฤตฝุ่น PM2.5 ในทุกวันแล้ว ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตนี้ขึ้น ก็มักมีการหยิบเอาประเด็นเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นในระยะยาวขึ้นมา โดยยกเอาแนวทางการจัดการกับฝุ่นพิษในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นโมเดลในการกำจัดฝุ่นในไทยให้ได้มากที่สุด
โดย ฝุ่น PM2.5 คือ อนุภาคฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน ที่คุกคามประเทศไทยบ่อยครั้งขึ้นในระยะหลัง ทำให้เกิดกระแสกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรุนแรงมากขึ้นทุกปี แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะแก้ปัญหานี้และรัฐบาลได้มอบนโยบายเพื่อนำมาปฏิบัติ แต่ยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในระยะยาวได้
ขณะที่ มีประเทศต่างๆ ซึ่งประสบปัญหามลพิษทางอากาศเช่นเดียวกับไทย ในเอเชีย โดยประเทศที่ถูกเอ่ยถึงและมีการยกตัวอย่างการจัดการกับฝุ่น PM2.5 บ่อยครั้งที่สุดคือ จีน ส่วนในประเทศในซีกโลกตะวันตก ก็มีตัวอย่างแนวทางที่น่าสนใจเพื่อแก้ วิกฤตฝุ่น PM2.5 เช่นกัน
แก้ วิกฤตฝุ่น PM2.5 แบบจีน กับผลลัพธ์ระดับชาติที่เห็นได้จริง
ในปี 2558 คาดว่า วิกฤตฝุ่น PM2.5 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 8.9 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 ใน 4 อยู่ในประเทศจีน นอกจากนี้ ภาพของนครใหญ่ๆ ของจีนที่ถูกปกคลุมด้วยม่านฝุ่นหนาเตอะยังเป็นภาพที่ติดตาชาวโลกยาวนานหลายปี จีนจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหานี้รุนแรงที่สุดและถูกจับตามากที่สุดไปด้วย
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ระบุว่า เพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วและใช้พลังงานอย่างหนักในประเทศจีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่าน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่รุนแรงและสร้างผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งกลายเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมของจีน
จนกระทั่งในช่วงต้นปี 2556 เริ่มมีการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหา PM2.5 ที่รุนแรงขึ้นทั่วประเทศ ความเข้มข้น PM2.5 ต่อชั่วโมงในปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,000 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ถึง 40 เท่า
ในปี 2556 สภาแห่งรัฐของจีน (State Council of China ชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีน) ได้ประกาศแผนการดำเนินการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศที่เข้มงวดที่สุดที่เคยมีมา และหลังจากนั้นยังมีมาตรการกวดขันอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการที่สำคัญมี ดังนี้
- ใช้มาตรการการปล่อยมลพิษในภาคอุตสาหกรรมที่เข้มงวด โดยเฉพาะในโรงงานพลังไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเหล็กกล้า การผลิตกระจก และซีเมนต์
- ยุบโรงงานขนาดเล็กและโรงงานที่ปล่อยมลพิษ โดยมีโรงงานถูกยุบหรือปรับตัวให้ได้มาตรฐานไปถึง 62,000 แห่ง ระหว่างปี 2559 – 2560
- กำจัดศักยภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ล้าหลัง เช่น การใช้ถ่านหิน โดยเฉพาะในโรงงานพลังไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานเหล็กกล้า การผลิตกระจก และซีเมนต์
- ยกระดับบอยเลอร์ หรือ หม้อไอน้ำในภาคอุตสาหกรรม ผลคือครึ่งหนึ่งมีการปล่อยมลพิษที่ตรงกับมาตรฐานใหม่ และบอยเลอร์ขนาดเล็ก 115,000 ถูกกำจัดไประหว่างปี 2556 – 2558 และอีก 85,000 เครื่องถูกกำจัดทิ้งไประหว่างปี 2559 – 2560
- ส่งเสริมพลังงานสะอาดในภาคที่อยู่อาศัย เช่น เตาไฟ และพลังงานทดแทนในบ้าน จากเดิมที่พึ่งพาถ่านหิน มาใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าในครัวเรือน 6 ล้านหลัง
- ตั้งมาตรฐานยานพาหนะที่เข้มงวดขึ้น โดยระหว่างปี 2556 – 2558 กำจัดรถยนต์เก่าไปถึง 15 ล้านคัน และระหว่างปี 2559 – 2560 กำจัดเพิ่มอีก 5 ล้านคัน
ผลของการใช้มาตรการเหล่านี้ทำให้ความเข้มข้นของ PM2.5 ตั้งแต่ในปี 2560 ลดลง 25% ในภูมิภาคปักกิ่ง – เทียนจิน-เหอเป่ย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปัญหารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย คือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี อันเป็นเขตเศรษฐกิจหลักที่ปัญหาฝุ่นลดลง 20% ที่เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศเช่นกัน ความเข้มข้นของฝุ่นลดลง 15% (1)
จีนจึงถือเป็นตัวแทนความก้าวหน้าของประเทศฝั่งตะวันออกในการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประเทศกำลังพัฒนาได้แก้ไขตัวเองจากที่ยังใช้พลังงานที่ไม่สะอาดในอัตราที่ค่อนข้างสูง
เรียนรู้จากความพยายามควบคุมมลพิษทางอากาศของประเทศพัฒนาแล้วใน สหภาพยุโรป
แม้ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สหภาพยุโรป (EU) ยังมีปัญหาฝุ่น PM2.5 และปัญหามลพิษเช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้ผลักดันกฎหมายกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษทางอากาศเอาไว้จำนวนมาก เช่น คำสั่งของคณะกรรมาธิการยุโรปว่าด้วยคุณภาพอากาศโดยรวมและอากาศที่สะอาดสำหรับยุโรปเมื่อปี 2551 เป็นต้น (Directive 2008/50/EC)
คำสั่งเหล่านี้ตั้งค่าระดับความเข้มข้นของสารมลพิษและระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่เกินกำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการตามแผนการจัดการคุณภาพอากาศ ตัวอย่างมาตรฐานการควบคุม PM2.5 ของสหภาพยุโรปคือจะต้องไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม. โดยตรวจทุกชั่วโมงและทำกันตลอดปี (2)
คำสั่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการควบคุม PM2.5 ของสหภาพยุโรปคือ คำสั่งที่ Directive 2008/50/EC มีสาระสำคัญคือ เป็นการรวมกฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นคำสั่งเดียว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์คุณภาพอากาศที่มีอยู่ แต่ตั้งเป้าหมายด้านคุณภาพอากาศใหม่ในการควบคุม PM2.5 รวมถึงการจำกัดค่าและเป้าหมายในการควบคุมไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจาก PM2.5 (3)
กระนั้นก็ตาม แม้จะมีมาตรการที่เข้มงวด แต่เป้าหมายของสหภาพยุโรปก็ยังไม่บรรลุ เพราะจากรายงานคุณภาพอากาศของสหภาพยุโรป (Air quality in Europe — 2019 report) ปี 2562 พบว่าในปี 2560 ประมาณ 8% ของประชากรในเมืองของสหภาพยุโรป 28 ประเทศ ต้องสัมผัสกับ PM2.5 ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานรายปีของสหภาพยุโรป และประมาณ 77% สัมผัสกับ PM2.5 ในอัตราความเข้มข้นสูงกว่ามาตรฐานตามแนวทางปฏิบัติด้านคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO Air quality guidelines: WHO AQG) ซึ่งจัดทำขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2530
นอกจากนี้ ยังมีประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามภาระผูกพันที่จะบรรลุการควบคุมฝุ่นให้อยู่ในระดับมาตรฐานภายในปี 2558 ตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง Directive 2008/50/EC
จากกรณีนี้ทำให้สื่อรายงานว่าสหภาพยุโรปมีความก้าวหน้าไม่มากนักในการควบคุมมลพิษทางอากาศ และปัญหามลพิษทางอากาศยังคงมีอยู่ทั่วไปในยุโรป สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีคำสั่งที่ชัดเจนและมีมาตรฐานที่เข้มงวด แต่ประเทศสมาชิกก็ยังละเมิดกติกา
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มีความกังวลกันว่าปัญหามลภาวะในประเทศจะรุนแรงมากขึ้น เพราะไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่เข้มงวดของสหภาพยุโรปอีกต่อไป แต่ในเดือนมกราคม 2563 ก่อนที่จะถอนตัวจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ รัฐสภาสหราชอาณาจักรได้ผลักดันกฎหมายตัวใหม่คือ Environment Bill ที่กล่าวกันว่ามีความเข้มงวดมากขึ้น
นอกจากนั้น ที่อังกฤษ ก็ยังมีการประกาศยุทธศาสตร์อากาศสะอาด (Clean Air Strategy) วานนี้ (14 ม.ค. 2561) ให้คำมั่นว่าจะกำหนดเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ พีเอ็ม 2.5 ที่ปัจจุบันเมืองกว่า 40 แห่งในสหราชอาณาจักร มีค่าพีเอ็ม 2.5 ในระดับเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด หรือสูงกว่า
รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าว่าจะเป็น “แกนนำโลก” ในการควบคุมพีเอ็ม 2.5 อย่างไรก็ดี ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนหรือลำดับแผนงานที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าภายในปี 2030 เมืองต่าง ๆ ทั่วอังกฤษจะมีค่าพีเอ็ม 2.5 ต่ำกว่าที่ดับเบิลยูทีโอกำหนดดังนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายแห่งจึงไม่มั่นใจและไม่เชื่อว่ายุทธศาสตร์อากาศสะอาดจะเป็นทางออกสำหรับการแก้ปัญหามลพิษในเมือง
กิจกรรมสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กคือการเผาเชื้อเพลิงทั้งไม้และถ่านหินทั้งกลางแจ้งและที่ใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้การทำเกษตรยังเป็นอีกปัญหาหลัก เนื่องจากการระเหยของก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น ก๊าซชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับสารเคมีชนิดอื่นในชั้นบรรยากาศและก่อให้เกิดอนุภาคมลพิษที่ถูกลมพัดพาไปยังบริเวณที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นได้
ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจะห้ามขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือน และตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป เตาหุงหาอาหารที่ใช้จะเป็นประเภทที่ไม่ก่อเกิดมลพิษ นอกจากนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างปรึกษาหารือว่าจะค่อยๆ เลิกขายเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในบ้านและจำกัดการขายไม้เปียก ที่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย
สำหรับเกษตรกรนั้น รัฐบาลจะออกมาตรการกำหนดให้ใช้วิธีทำเกษตรที่ส่งผลให้มีการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียน้อยลง โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือในการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะจำกัดการปลดปล่อยก๊าซแอมโมเนียได้
นอกเหนือจากอังกฤษแล้ว ยังมีเมืองใหญ่อื่น ที่วางมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วย ดังนี้
กรุงมาดริด
เมื่อปลายปี 2018 ทางการสเปนเริ่มใช้มาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศย่านใจกลางกรุงมาดริด ซึ่งทางการหวังว่าจะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ถึง 40% ช่วยลดมลพิษทางเสียง และกระตุ้นให้ผู้คนใช้รถจักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
มาตรการนี้ ผู้ใช้รถจะต้องนำรถไปตรวจวัดการปล่อยไอเสีย ซึ่งรถยนต์รุ่นเก่าที่ก่อมลพิษมากที่สุดจะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุมที่อยู่ใจกลางกรุงมาดริด ขณะที่รถยนต์ไฮบริดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับอนุญาตให้สัญจรได้อย่างเสรี เป็นต้น
กรุงปารีส
ทางการห้ามรถที่ผลิตก่อนปี 1997 ขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 08.00-20.00 รวมทั้งห้ามรถยนต์ดีเซลทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2001 ขับเข้าพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ทางการฝรั่งเศสยังใช้กลยุทธ์เพื่อห้ามรถรุ่นเก่าและรถดีเซลขับเข้าย่านใจกลางเมืองหลวงอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันก็ใช้มาตรการอุดหนุนให้ประชาชนเดินทางด้วยวิธีอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวางแผนให้ย่านใจกลางเมืองเป็นเขตถนนคนเดิน
กรุงสตอกโฮล์ม
ทางการสวีเดนใช้มาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถที่ขับรถเข้าไปในพื้นที่การจราจรหนาแน่นย่านใจกลางเมืองหลวง รวมทั้งจัดจุดให้ประชาชนจอดรถส่วนบุคคลในย่านชานเมืองแล้วขึ้นรถโดยสารเข้าเมืองแทน นอกจากนี้ทางการยังใช้แผนการคมนาคมในเขตเมือง Urban Mobility Strategy โดยเพิ่มการลงทุนในระบบรถโดยสารประจำทาง รถราง และรถไฟใต้ดิน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2023/03/09/fighting-pm25-model-from-other-countries/