ผ่าแนวคิด! สร้าง “แสมสาร” สู่เมืองฉลาดและแม่นยำด้วยนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นแบบของประเทศไทย

Share

Loading

ตำบลแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีขนาดพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ ประกอบอาชีพประมงและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ด้วยศักยภาพเชิงพื้นที่ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ใกล้กับสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ท่าเรือเฟอรี่ ฐานทัพเรือสัตหีบ และเมืองพัทยา แสมสารจึงถูกคาดหมายพัฒนาไปสู่สมาร์ทซิตี้ เป็นตำบลอัจฉริยะพลิกโฉมด้วยนวัตกรรม โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์สูงสุด ในการพัฒนาตนเองและสิ่งแวดล้อมในวิถีชุมชน เป็นตำบลน่าอยู่อาศัย พร้อมเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ล้ำค่า มีความสุข มั่นคงทางพลังงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

การอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น สร้างฐานทุนจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของตำบลแสมสารเนื่องจากแสมสารมีปัญญาทางวิทยาศาสตร์ รายล้อมไปด้วยธรรมชาติรอบตัว พืชพรรณ แมลง สัตว์น้ำใต้ทะเล ป่าชายเลน สวนทุเรียน สวนผลไม้ ฯลฯ สมาคมอนุรักษ์ท้องทะเลและการท่องเที่ยวแห่งท้องทะเลในนามภาคประชาชนของชาว(ช่อง)แสมสาร  ซึ่งเห็นต้นทุนสำคัญของความเป็นมนุษย์ มองว่างบประมาณที่แสมสารได้รับการจัดสรรในแต่ละปี ยังไม่สามารถแบ่งสรรมาสำหรับการคิดค้นวิจัยพัฒนาทดลองทดสอบผลิตสร้างรับรองการใช้งานองค์ความรู้ภูมิปัญญา เทคโนโลยี นวัตกรรม แห่งยุคสมัยสำหรับขับเคลื่อนสู่ความเป็นเมืองแม่นยำ/ฉลาดอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะมีการจัดสรรมาบ้าง แต่ก็น้อยจนเกือบมองไม่เห็น จนพูดได้ว่าแทบไม่มีงบประมาณวิจัยสำหรับสถาปนาสร้างปัญญาเมืองแสมสารในอนาคตเลยก็ว่าได้ ผลกระทบที่ตามมาจากการขาดงานวิจัยและพัฒนาก็คือ การสร้างเมืองชายหาดชั้นเลิศ (สะดือทะเล-สะดือมังกร) มิอาจเป็นไปได้ การสร้างมูลค่าเพิ่มไม่เกิดขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะมีสภาพเช่นนี้อีกต่อไปไม่ได้ หากยังเป็นเช่นนี้เชื่อว่าประโยชน์ใดๆ บนแผ่นดินชั้นเลิศก็จะไม่เกิดแน่นอน

นำมาสู่แนวคิดว่าภายในปี 2566 หาก (ช่อง)แสมสารโดยภาคประชาชน สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณพิเศษล่วงหน้า (กู้โดยไม่เสียดอกเบี้ย) ในรูปแบบของงบวิจัยจำนวน 50 ล้านบาท/ปี ผูกพัน 5 -10 ปี จากหน่วยงานรัฐบาล อาทิ รัฐสภา/พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี กระทรวงอุดมศึกษาฯ หรือ กองสลาก (สำนักงานสลากกินแบ่งฯ) รวมกับเงินภาษีจำนวนหนึ่งของ(ช่อง)แสมสารเอง โดยนำเงินงบประมาณพิเศษล่วงหน้า (กู้โดยไม่เสียดอกเบี้ย) ดังกล่าว มาใช้ในการคิดค้นวิจัยพัฒนา สถาปนาสร้างปัญญาแห่งยุคสมัยขึ้นมา

อาทิ การนำ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาปฏิบัติให้เป็นฐานรากสำคัญของเมืองแม่นยำ/ฉลาด มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล มีความรู้ มีคุณธรรม, การสร้างธรรมชาติรอบตัว จัดระบบนิเวศแม่นยำ ฉลาด รักษาความสมดุลของ ดิน น้ำ ลม ไฟ พืชพรรณ สัตว์น้ำ แมลง ป่าชายเลน ชายหาด ทะเล และ ขยะ, พัฒนาพลังงานทดแทน ในสัดส่วนสมดุลกับจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยว, การวางแผนการตลาดท่องเที่ยวแบบแม่นยำ/ฉลาด พร้อมกับพัฒนาการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และ ภาษาจีนสำหรับแนะนำนักท่องเที่ยวชาวจีน 1,300 ล้านคน และ นักท่องเที่ยวทั่วไปที่เดินทางผ่าน EEC, การประชาสัมพันธ์แสมสารผ่านโซเชียลมีเดีย หรือ ภาพยนตร์ บ่งถึงความเป็นเลิศของแหล่งท่องเที่ยวในแสมสารที่เทียบเท่าแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

รวมถึงบริหารจัดการยานยนต์สำหรับการขนส่ง ทั้งระบบรางรถไฟขนาดราง 1.435 ม. ด้วยเทคนิควางราง 3 เส้นบนหมอนอันเดียวกัน สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า ในรูปแบบของยานยนต์สายพันธุ์ไทย เพื่อเชื่อมโยงการสัญจรจาก EEC เข้าสู่แสมสาร ปรับปรุงภูมิทัศน์บ้านเรือน-สิ่งปลูกสร้าง โรงแรม/ที่พัก ในแนวทางตอบสนองบริบทคาร์บอนเครดิต ผสมนวัตกรรมท้องถิ่น เอกลักษณ์ท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นธีมการบริหารบ้านเมืองแบบใหม่ ที่เน้นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น แม่นยำ และ ฉลาด จะก่อให้เกิดรายได้แบบก้าวกระโดด ผลักดันรายได้ท้องถิ่นจากหลักพันล้าน กระโดดขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท/ปี

อย่างไรก็ตาม “เดิมพัน” ดังกล่าวมีกติกาว่า เงินรายได้ส่วนหนึ่งจะต้องถูกนำไปใช้หนี้เงินงบประมาณซึ่งได้รับการจัดสรรพิเศษล่วงหน้า (กู้โดยไม่เสียดอกเบี้ย) ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และเงินที่เหลืออีกจำนวนหนึ่งจะถูกจัดสรรนำใช้ในการคิดค้นวิจัยพัฒนาองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานนวัตกรรมขั้นต่อไป ต่อยอดแสมสารให้เป็นเมืองแม่นยำ ฉลาด มั่นคงปลอดภัย เชื่อมต่อห่วงโซ่เศรษฐกิจใหม่โดยสมบูรณ์ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ภาคประชาชนของชาว(ช่อง)แสมสาร เชื่อว่า “เดิมพัน” ครั้งนี้สามารถเปลี่ยนวิถีชุมชนแสมสารได้ เมื่อเศรษฐกิจชุมชนแสมสารเติบโตตามเป้าหมาย ชาว(ช่อง)แสมสารก็จะแบ่งปันปัญญาไทย-ต้นแบบ ไปให้กับทุกเมืองของประเทศไทยและ/หรือของอาเซียน/ประเทศบนดินแดนสุวรรณภูมิ

แนวคิดนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาล

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/06/15/samae-san-sustainable-city/