บพข. หนุนพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อม Circular Mark มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์หมุนเวียน แห่งแรกของโลก

Share

Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24

Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25

Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26

Loading

“Circular Economy เป็นเรื่องสำคัญระดับโลก เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง เราใช้วัสดุต่างๆ อย่างรู้คุณค่า เพียงแต่ว่าเราไม่มีระบบที่จะมารับรองว่าเราทำแบบนี้จริง” รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สะท้อนความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่หลายประเทศเริ่มหยิบยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า

ในฐานะที่ บพข. มีพันธกิจในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และหนึ่งในหมุดหมายการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันก็คือการสนับสนุนงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy) และเป็นวาระแห่งชาติ

บพข. จึงมีเป้าหมายที่จะปิดช่องว่างและเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลักในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และ ผู้รีไซเคิล เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โดยได้ให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน อันเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนวัสดุเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย” (ระยะเวลาดำเนินการ : มิถุนายน 2564-พฤษภาคม 2565) โดยมี รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ พัฒนาระบบรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน หรือ Circular Mark ขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคและระดับโลก

“การมี  Circular Mark ทำให้เราสามารถพูดได้ว่าสินค้าของเราให้ความสำคัญกับ Circular Economy จริง ซึ่งถ้าไม่มีสัญลักษณ์นี้ติดอยู่บนสินค้า ต่อให้เราทำจริงก็บอกไม่ได้ เพราะวัดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อวีกรีนทำสัญลักษณ์นี้ขึ้นมา ก็ทำให้สินค้าของประเทศไทยไปสู่ตลาดโลกได้ง่าย ทำให้เราสามารถสื่อสารกับคนในโลกนี้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว ช่วยให้ผู้ประกอบการส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศได้โดยไม่ถูกกีดกัน ซึ่งผู้ประกอบการรู้อยู่แล้วว่าถ้าวันนี้เขาไม่ทำ Circular Economy ในอนาคตจะไปต่อไม่ได้ในระดับนานาชาติ อันนี้จึงถือเป็นก้าวแรกที่ประเทศจะต้องทำ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทุกหน่วยงานเห็นพ้องต้องกัน” ดร.สิรี กล่าว

หลังจากโครงการวิจัยดังกล่าว ดำเนินการครบตามกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2565 ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ก็ได้มีงานแถลงข่าวเปิดตัวสัญลักษณ์ Circular Mark พร้อมส่งต่อโครงการนี้ให้กับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนโครงการร่วมกับ “วีกรีน” ในระยะต่อไป พร้อมด้วยหน่วยงานภาคี ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ กลุ่ม PPP Plastics

ภายในงานยังได้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สำหรับข้อกำหนดฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์หมุนเวียน “Circular Mark” มีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และกลุ่มที่ปรึกษา กว่า 120 คน ร่วมแลกเปลี่ยนพร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการดำเนินงานรับรอง Circular Mark ในอนาคต ในประเด็นของการสื่อสารไปยังผู้บริโภค การทำตลาด การส่งออก ภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าไทย การผลักดันให้เป็นกฎหมาย การขยายไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการกำหนดค่าธรรมเนียมที่สมเหตุสมผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดตัว 30 บริษัทนำร่อง 376 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์หมุนเวียน Circular Mark ซึ่งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน มีคำแนะนำการใช้งาน ตลอดจนมีการรวบรวมและจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน ถือเป็นเครื่องมือการตลาด ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน

ในเบื้องต้น Circular Mark เน้นสนับสนุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เกษตรอาหาร, วัสดุก่อสร้าง, พลาสติก, บรรจุภัณฑ์, และ แฟชั่นไลฟสไตล์ โดยผู้ประกอบการที่ต้องการสัญลักษณ์ Circular Mark ไปติดบนผลิตภัณฑ์ ต้องได้รับการพิจารณาข้อกำหนดที่ครอบคลุมประเด็นปัญหาการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การเกิดขยะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์

Circular Mark ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกในปัจจุบัน ลดข้อกีดกันการค้าในอนาคต เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดได้ในวงกว้าง ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์สินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่ยอบรับในระดับสากล สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมไทยและประชาคมโลก รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/05/18/thailand-circular-mark/