สนามบินดูไบใช้ “ม่านตา”แทนพาสปอร์ต ล้วงลึกข้อมูล Biometric ฉกฉวยความเป็นส่วนตัว แต่ตอบโจทย์การเดินทางยุคหลังโควิด-19

Share

Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24

Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25

Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26

Loading

ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ (DXB) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นสนามบินที่พลุกพล่านที่สุดในโลกสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน มีเที่ยวบินตรง 6,500 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เชื่อมดูไบกับเมืองต่างๆ ทั่วโลก

ที่นี่ทำให้ผู้โดยสารสัมผัสได้ถึงความเหนือจริง ด้วยร้านค้าปลอดภาษีที่อวดโฉมในดีไซน์ของต้นปาล์ม อาคารผู้โดยสารที่ส่องแสงกระทบน้ำตกจำลอง และเครื่องปรับอากาศที่เย็นเฉียบในระดับอุณหภูมิใกล้เคียงกับขั้วโลกเหนือ

ล่าสุด ศูนย์กลางการขนส่งทางตะวันออก – ตะวันตกที่สำคัญ ได้เปิดตัวบริการสุดล้ำที่ตอกย้ำความเป็นอาณาจักรแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ของสนามบินแห่งนี้ นั่นก็คือ “เครื่องสแกนม่านตา” ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วย Biometric หรือชีวมิติ ที่ยืนยันตัวตนผู้โดยสารด้วยม่านตาแทนพาสปอร์ต และไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เมื่อเข้าออกจากสนามบินแห่งนี้ นอกจากจะทำให้ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังเป็นการเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยให้รัดกุมมากขึ้นด้วย

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีกล้องวงจรปิดที่มีความหนาแน่นต่อหัวประชากรสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จากถนนในอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองหลวง ไปจนถึงใจกลางสถานที่ท่องเที่ยวของดูไบที่มีตึกระฟ้าสูงลิบลิ่ว กล้องวงจรปิดจะสอดส่องและตามติดป้ายทะเบียนรถยนต์และใบหน้าของผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะนวัตกรรม AI อย่างเครื่องสแกนม่านตาถูกนำมาใช้งานในสนามบินดูไบเพื่อคัดกรองผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เครื่องสแกนม่านตา นับเป็นโครงการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ล่าสุดที่ UAE เปิดตัวท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง (ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564 UAE มีผู้ติดเชื้อสะสม 410,849 ราย เสียชีวิต 1,322 ราย) เทคโนโลยีแบบไร้การสัมผัสที่รัฐบาลส่งเสริมเพื่อช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสร้ายนี้ ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังหรือรักษาความปลอดภัยว่าจะทำให้กระทบกับความเป็นส่วนตัวของพลเมืองมากขึ้นไปอีก หลังจากที่การจับตาของภาครัฐที่ประเทศนี้อยู่ในระดับที่เข้มข้นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สนามบินของดูไบ ซึ่งมีผู้โดยสาร 86.4 ล้านคนในปี 2019 มากกว่าสนามบินฮีทโธรว์ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึง 6 ล้านคน เริ่มให้บริการเครื่องสแกนม่านตาแก่ผู้โดยสารทุกคนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่ผ่านมา ผู้โดยสารจะก้าวขึ้นไปที่เครื่องสแกนม่านตาหลังจากเช็คอิน และผ่านจุดตรวจหนังสือเดินทางเพื่อยืนยันตัวตนภายในไม่กี่วินาที…หมดยุคของบัตรโดยสารกระดาษและบอร์ดดิ้งพาสในโทรศัพท์ที่ต้องสัมผัส ทั้งยังทำให้การเดินทางไม่สะดวกและปราศจากความคล่องตัวแล้ว

การสแกนม่านตาของสนามบินดูไบ

จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สนามบินทั่วโลกได้เร่งใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าก่อนที่จะอนุญาตให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง แต่การสแกนม่านตาของสนามบินดูไบช่วยยกระดับขั้นตอนดังกล่าวให้แตกต่างจากสนามบินอื่น และเหนือชั้นขึ้นไปอีกขั้น โดยเชื่อมต่อข้อมูลม่านตากับฐานข้อมูลการจดจำใบหน้าที่ UAE จัดเก็บไว้อยู่แล้ว ทำให้ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารระบุตัวตนหรือบัตรโดยสารเพื่อขึ้นเครื่องแต่อย่างใด ความร่วมมือระหว่างสายการบินเอมิเรตส์ ซึ่งมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติดูไบเป็นเจ้าของ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดูไบ ได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารตั้งแต่ขั้นตอนของการเช็คอินจนถึงขึ้นเครื่องได้ในพริบตา ซึ่งเป็นการดำเนินการขั้นตอนทั้งหมดอย่างชาญฉลาดมากขึ้น โดยใช้เวลาเพียงแค่ 5-6 วินาทีเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า การสแกนม่านตาทำให้เพิ่มความหวาดกลัวและความหวั่นเกรงให้กับพลเมืองของ UAE ตลอดจนผู้โดยสารต่างชาติว่าความเป็นส่วนตัวที่ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้วในประเทศนี้จะยิ่งหายไปอีก เพราะที่ผ่านมา UAE เป็นประเทศที่เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเป็นอย่างมาก จากการใช้มาตรการตรวจตราและสอดส่องนักข่าวรวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแบบล้วงลึก

ตามคำชี้แจงเรื่องสิทธิิส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับ Biometric ของสายการบินเอมิเรตส์ จะเชื่อมโยงใบหน้าของผู้โดยสารกับข้อมูลที่ระบุตัวบุคคลอื่นๆ รวมถึงหนังสือเดินทางและข้อมูลเที่ยวบินโดยจะบันทึกไว้ตราบเท่าที่มีความจำเป็นตามสมควร ข้อตกลงดังกล่าวเปิดเผยรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับวิธีการใช้และจัดเก็บข้อมูล และถึงแม้จะบอกว่าบริษัทไม่ได้ทำสำเนาใบหน้าของผู้โดยสาร แต่ข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ก็สามารถประมวลผลในระบบอื่นๆ ของสายการบินเอมิเรตส์ได้

กระนั้น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของดูไบยืนยันว่าจะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้โดยสารอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้ บุคคลที่สามสามารถมองเห็นหรือเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหากไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการใช้หรือจัดเก็บข้อมูลเทคโนโลยี Biometric นี้ ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

“เทคโนโลยีการเฝ้าระวังทุกชนิด จะทำให้เกิดความสงสัยหรือข้อพิรุธ ไม่ว่าจะใช้ในประเทศใดก็ตาม แต่ในประเทศประชาธิปไตย หากมีการใช้เทคโนโลยีการเฝ้าระวังอย่างโปร่งใส อย่างน้อยก็มีโอกาสที่จะถกเถียงกับสาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องนี้” Jonathan Frankle นักศึกษาปริญญาเอกด้านปัญญาประดิษฐ์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์กล่าว

ทั้งนี้ การสแกนม่านตาได้แพร่หลายไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความแม่นยำของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า เพราะชีวมิติของม่านตาถือได้ว่ามีความน่าเชื่อถือมากกว่ากล้องวงจรปิดที่สแกนใบหน้าของผู้คนจากระยะไกลโดยที่พวกเขาไม่รู้หรือยินยอม

แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังที่มากเกินไปในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่เครือข่ายการจดจำใบหน้าที่กว้างขวางของ UAE ก็หาได้ยี่หระแต่อย่างใด เพราะนับวันยิ่งจะขยายเครือข่ายนี้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ปกครองของดูไบด้วย ได้ประกาศว่า UAE จะเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าแบบใหม่เพื่อลดงานเอกสารใน “บริการของภาคเอกชนบางส่วน”

ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เมืองดูไบที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้าได้พัฒนาเครื่องมือทางเทคโนโลยีจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับไวรัสนี้ ทั้งในห้างสรรพสินค้าและตามท้องถนน รวมถึงเครื่องพ่นหมอกควันฆ่าเชื้อ กล้องจับความร้อนและการสแกนใบหน้าเพื่อตรวจหาหน้ากากอนามัยและอุณหภูมิ โปรแกรมเหล่านี้ใช้กล้องที่สามารถบันทึกและอัปโหลดข้อมูลของผู้คนในทำนองเดียวกันกับที่ใช้ในสนามบินดูไบ ซึ่งจะส่งผลทำให้ฐานข้อมูล Biometric ของดูไบกินขอบเขตที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ

แม้สนามบินดูไบจะอยู่อันดับที่ 25 จากการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2020 โดย SkyTrax แต่ด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำให้สนามบินแห่งนี้ฉายประกายความโดดเด่นขึ้นมาได้ ขณะที่สนามบินชั้นนำหลายแห่งก็ได้ทยอยนำเทคโนโลยี Biometric มาใช้เช่นกัน เช่น เมื่อเร็วๆ นี้สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจที่จะใช้กระบวนการเช็คอินที่เรียกว่า “One ID” ในการขึ้นเครื่อง โดยใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าแบบชีวมิติของ NeoFace โดยระบบจะอนุญาตให้ผู้โดยสารที่เลือกลงทะเบียนข้อมูลการจดจำใบหน้าสามารถดำเนินการส่งสัมภาระ การรักษาความปลอดภัย และการตรวจคัดกรองผู้โดยสาร ตลอดจนการขึ้นเครื่องได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงหนังสือเดินทางซ้ำๆ  โดยบริการใหม่นี้ได้เปิดตัวในฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ที่ผ่านมา และถือเป็นบริการ One ID แห่งแรกในญี่ปุ่น

ที่มา :

At Dubai airport, travelers’ eyes become their passports

How biometric services are shaping the airport of the future according to NEC

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/03/08/dubai-airport-iris-biometric-post-covid19/