วิเคราะห์ปัญหาการต่อต้านเทคโนโลยีระบบการจดจำใบหน้า และผลกระทบที่มีต่อการสร้างเมืองอัจฉริยะในยุโรปและอเมริกา

Share

Loading

อย่างที่เราทราบกันดีว่าเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า คือเทคโนโลยีสำคัญของการจัดการเมืองอัจฉริยะ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เอื้อให้ระบบการรักษาความปลอดภัยของเมืองอัจฉริยะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ มักจะมีอุปสรรคเสมอสำหรับการนำไปใช้ในประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิส่วนบุคคลค่อนข้างสูง ซึ่งมักจะเกิดการต่อต้านเทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวาง

โดยถึงขั้นมีการกล่าวว่าเทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้านั้น ไม่ต่างอะไรกับ panopticon หรือหอคอยวงแหวนของ Jeremy Bentham นักปรัชญาชาวอังกฤษผู้นำเสนอแนวคิดในการควบคุมนักโทษ โดยที่ทุกคนจะถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งการทดลองเทคโนโลยีจดจำใบหน้าถูกต่อต้านอย่างหนักในอังกฤษและอเมริกา ซึ่งที่นครซานฟรานซิสโกถือเป็นเมืองแรกที่ประกาศห้ามเทคโนโลยีนี้ รวมถึงในชิคาโก้เองก็ได้มีการเรียกร้องให้ยุติการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในหน่วยงานตำรวจ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึง Amazon, Microsoft และ IBM ที่ต้องยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเอาไว้ก่อน รวมถึงในสหภาพยุโรปเองก็ได้มีการเสนอให้ระงับการใช้เทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้าเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายด้านสิทธิส่วนบุคคล

แน่นอนว่าเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลคือสิ่งที่ถูกตั้งคำถามเสมอสำหรับการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในเมืองอัจริยะ โดย Zak Doffman ซีอีโอของบริษัท Digital Barriers ซึ่งเป็นบริษัทโซลูชั่นด้านระบบรักษาความปลอดภัยกล่าวว่า “สิ่งนี้นั้นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม เช่นเดียวกับผู้ร่างกฎหมาย และสังคมโดยรวม” ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยสาธารณะ และความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้อย่างไร

เทคโนโลยีระบบการจดจำใบหน้าในเมืองอัจฉริยะยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าจะมีการโต้เถียงถึงความไม่แน่ชัด แต่สำหรับเทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้าก็ไม่ได้ถูกยุติการพัฒนาลงอย่างสิ้นเชิง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการกำกับดูแลให้บริษัทต่าง ๆ นั้นใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เท่านั้น เพราะถ้ามองอีกแง่หนึ่งระบบจดจำใบหน้าก็ถือว่ามีความสำคัญในแง่ของกระบวนการทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดี

ดังนั้น ความยากง่ายของเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ซึ่งมีลักษณะพื้นฐานทางวัฒนธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน

โดย Philip Ingram MBE อดีตพันเอกในหน่วยข่าวกรองทางทหารของอังกฤษให้ความเห็นว่าการตัดสินใจยับยั้งที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกานั้น ส่งผลกระทบต่อระบบเทคโนโลยีของเมืองอัจฉริยะ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับทั่วโลกแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง “สำหรับ IBM และ Amazon นั้น ก็ได้จำกัดการขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ Huawei ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระดับโลกและบริษัทอื่น ๆ ของจีนเช่น HikVision (ผู้ผลิตกล้องวงจรปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ก็มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง” ซึ่งยังคงมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ระบบการจดจำใบหน้าแบบวงแคบในระบบปิดจะถูกต่อต้านน้อยกว่า

Tom Cheesewright นักอนาคตศาสตร์กล่าว “กล้องวงจรปิดแบบเครือข่ายที่มีระบบการจดจำใบหน้าแบบวงใหญ่ที่มีความกว้างระดับเมืองนั้น ถือเป็นสิ่งที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้คน แต่ทว่าระบบการจดจำใบหน้าที่ควบคุมแบบวงแคบในระบบปิด เพื่อจับตาการเข้าออกของสถานที่สำคัญต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คน จะประสบกับการต่อต้านน้อยกว่า”

ซึ่งแน่นอนว่า เมืองอัจฉริยะและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเทคโนโลยีระบบการจดจำใบหน้าถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่สำหรับในยุโรปและอเมริกา ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องรอดูสถานการณ์ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต่อความคิดเห็นของสาธารณชน ซึ่งสิ่งที่จะทำให้สาธารณชนยอมรับได้ ก็ต้องเกิดขึ้นจากการสร้างความเชื่อมัน และการมีเหตุผลรองรับที่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้านี้จะไม่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน และการแสดงออกของจริยธรรมบนฐานของ AI ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน”

โซลูชั่นที่สำคัญของเมืองอัจฉริยะจะเกิดจากเทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้าได้หรือไม่

ระบบการจดจำใบหน้า คือต้นทางในการถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในมิติที่หลากหลายในเมืองอัจฉริยะ และถึงแม้ว่าจะมีการชะลองานวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีด้านนี้ แต่ Global Market Insights ก็ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าจะเกินกว่า 1 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2026

แต่เงื่อนไขสำคัญก็คือ บริษัทต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้จะต้องเข้าใจและคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอัจฉริยะอย่างถ่องแท้ จึงจะไม่ทำให้เกิดการต่อต้าน

Artem Kukharenko CEO ของบริษัท NtechLab ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์สำหรับ AI เปิดเผยว่ามีการมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในด้านของจริยธรรมอยู่เสมอ โดยบริษัทของเขาได้พัฒนาซอฟต์แวร์โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง โปร่งใส และไม่มีสิ่งที่เคลือบแฝง ไม่มีอคติใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ โทนสีผิว และเพศ หลังจากที่ “มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการระบุตัวตนที่ผิดพลาด และความกังวลว่าระบบจะพุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ซึ่งทางเราได้รับทราบถึงความกังวลนี้เป็นอย่างดี”

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมบางคน กลับไม่คิดว่าเทคโนโลยีระบบการจดจำใบหน้าจะเป็นกุญแจสำคัญแห่งอนาคตของเมืองอัจฉริยะ เพราะพวกเขาคิดว่าอาจยังมีสิ่งอื่นที่อาจจะสามารถทดแทนเทคโนโลยีนี้ได้ในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ช่วงเวลานี้ ที่การก่อร่างสร้างเมืองอัจฉริยะยังคงดำเนินไปเรื่อย ๆ และได้มีการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าอยู่บ่อยครั้ง

เรียบเรียงโดยทีมงาน Security Systems Magazine

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
www.smartcitiesworld.net