Emergency Warning (เตือนภัย สภาวะวิกฤต/เหตุฉุกเฉิน)

Share

สวัสดีครับเพื่อนสมาชิกนิตยสาร Security Systems ที่เคารพ และแล้วเราก็เข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2561 เป็นปีนักษัตรจอหรือปีจอนั่นเอง สำหรับผู้เขียนเองปีจอเปรียบเสมือนกับปีที่เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการธุรกิจรักษาความปลอดภัย (พูดกันง่ายๆ ก็เหมือนสุนัขเฝ้าบ้านนี่ล่ะครับ)

ในช่วง 3-4 เดือนสุดท้ายของปี 2560 โลกเราก็ประสบกับปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เรา เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก เช่น ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียสหรัฐ แผ่นดินไหวทั้งอิหร่าน เม็กซิโก และนิวคาลิโดเนีย น้ำท่วมในสหรัฐ สเปน ออสเตรเลีย ศรีลังกา รวมทั้งภาคใต้ของไทยเราเอง การปะทุของภูเขาไฟอากุงในบาหลี อินโดนีเซีย การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ (พร้อมการท้าทายด้วยการซ้อมรบระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ) ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงภัยพิบัติบนท้องถนนของประเทศเราที่คาดว่าน่าจะเป็นอันดับ 1 ของโลกในเร็วๆ นี้ หวังว่า 7 วันอันตรายส่งท้ายปีนี้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกท่านจะใส่ใจในการขับขี่ให้มีความระมัดระวังมากขึ้นด้วยนะครับ

เกริ่นมาแล้วกำลังจะเข้าเรื่อง Emergency Warning หรือการเตือนภัย สภาวะวิกฤต/เหตุฉุกเฉิน ที่เป็นความบังเอิญที่ผู้เขียนและพรรคพวกในแวดวง Security ของเราได้ไปประสบมากับตัวเองครับ เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 ผู้เขียนได้รับเกียรติจากคุณหลุยส์ (เจ้าของบริษัทดิสทริบิวเตอร์อุปกรณ์/ระบบรักษาความปลอดภัยเจ้าใหญ่รายหนึ่ง) ให้ร่วมเดินทางไปเมืองนาฮา โอกินาว่า ญี่ปุ่น และได้มีโอกาสรวมจิตใจ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้” ที่ปราสาทซูริ   ช่วงเวลาก่อนเดินทางก็ทราบมาว่าอาจจะมีพายุไต้ฝุ่นลูกสุดท้ายพัดผ่าน แต่พอถึงวันเดินทางจริงพายุก็ลดกำลังกลายเป็นพายุฤดูร้อนมีฝนฟ้าคะนองปกติ เมื่อไปถึงตอนเช้าอากาศแจ้งใสมากๆ มือถือของผู้เขียนจะเลือกให้มีการโรมมิ่งอัตโนมัติทุกครั้งที่ไปอยู่ต่างแดน เที่ยวอยู่ได้ 3 วัน ช่วงเย็นได้มีประกาศเตือนจากทางการว่าให้ระมัดระวังพายุโซนร้อนรุนแรง จะเริ่มเข้าสู่เกาะโอกินาว่า ช่วงประมาณตี 3 ของคืนนั้น และอาจจะทวีความรุนแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ตั้งแต่ช่วงบ่ายสองโมงของวันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป (ดูจากตารางความเร็วลมพายุ : Classification of Tropical Storms Worldwide) มีการยกเลิกเที่ยวบินที่จะเข้าไปโอกินาว่าจากบางประเทศบ้างแล้ว

emr1แต่ด้วยความที่การพยากรณ์อากาศในบ้านเรามักจะเป็นลักษณะเหวี่ยงแห ก็เลยทำให้คนไทยอย่างพวกเราไม่ได้รู้สึกอะไรในวันที่ 4 ระบบคมนาคมขนส่งมวลชนหยุดให้บริการทั้งหมด (ยกเว้น แท็กซี่) ช่วงสายๆ พวกเราก็ทะลึ่งออกไป Outlet ปรากฏว่าประมาณบ่ายโมง มัคคุเทศก์ (Tour Leader) ตามพวกที่ออกไปข้างนอกทุกคนให้กลับโรงแรมโดยด่วน (อันนี้ซีเรียสจริง) กลุ่มของผู้เขียนก็เลยขึ้นแท็กซี่กลับโรงแรมทันที ในระหว่างที่นั่งอยู่บนแท็กซี่ก็มีเสียง ปี๊ด ปี๊ด ปี๊ด...ดังลั่นประมาณ 6-7 ครั้ง ก็พบว่าเป็นโทรศัพท์ของทั้งผู้เขียนแล้วก็ลุงคนขับแท็กซี่ มี่ข้อความ Emergency Alert พร้อมข้อความภาษาญี่ปุ่นขึ้นมา (ผู้เขียน capture ไม่ทัน) Emergency Alert คล้ายกับภาพด้านล่างนี้ (อันนี้เป็นแจ้งเตือนช่วงเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามประเทศญี่ปุ่นช่วงเดือนเมษายน และกันยายน ปีนี้) ส่วนอีกภาพเป็นแนวการเคลื่อนตัวของพายุที่พัดเข้าสู่เกาะโอกินาว่า (แหม..เหมือนเจตนาเลยครับ)

 

หมายเหตุ ต้องขอขอบคุณน้องเอ้ (Tour Leader และ @Japan) เป็นอย่างสูงสำหรับการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่คณะเป็นอย่างสูงครับ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนคิดถึงระบบการเตือนภัยของประเทศญี่ปุ่นที่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นผู้มีประสบการณ์เรื่อง ภัยพิบัติ สภาวะวิกฤต และเหตุฉุกเฉิน สูงมากประเทศหนึ่ง เค้าจึงให้ความสนใจและใส่ใจกับการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากเรื่องพวกนี้มาล้อกันเล่นๆ ไม่ได้ อย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นแม้แต่ชาวต่างชาติที่ทำโรมมิ่งโทรศัพท์มือถือไว้ก็จะมี SMS แจ้งเตือนเข้ามาเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น

JMA : Japan Meteorological Agency หรือหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยา ของประเทศญี่ปุ่นเค้าได้กำหนดกรอบ (Framework) ของการแจ้งเตือนภัยทั้ง สึนามิ แผ่นดินไหว และฝนตกหนัก โดยได้กำหนดรหัสสีหรือแถบสีไว้อย่างน่าสนใจแบบผู้ประสบการณ์ดังนี้

emr5

สีเหลือง : Advisory ตรวจเช็คสิ่งของที่จำเป็นสำหรับสำหรับการอพยพ เคลื่อนย้าย

สีแดง : Warning เตรียมตัวและพร้อมสำหรับการอพยพ เคลื่อนย้าย

สีม่วง : Emergency Warning อพยพ เคลื่อนย้ายทันที เพื่อปกป้องชีวิต

นอกจากนี้ ทาง JMA ยังได้ทำ Emergency Warning Overview ในรูปแบบของ Infographic ทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจเมื่อมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง

emr6

อาจจะเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นประสบกับภัยพิบัติ สภาวะวิกฤต และเหตุฉุกเฉิน มาตลอดเวลาจึงจำเป็นต้องวางแผนเพื่อเตรียมตัว แต่ตัวผู้เขียนเองคิดว่าเมืองไทยของเราก็มีภัยพิบัติทางธรรมชาติและจากฝีมือพวกเรากันเองไม่น้อยเช่นกัน มันน่าจะถึงเวลาที่จะต้องมีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือสูง โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มักจะประสบภัยเช่นน้ำหลาก น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า หรือแม้แต่อุบัติเหตุขนาดใหญ่ โดยขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และ Internet ส่งข้อความแจ้งไปยังผู้อยู่อาศัย ผู้ที่สัญจรอยู่ในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงผู้ที่อยู่ในแนวและ/หรือเส้นทางของภัยพิบัติ โดยอาจกำหนดขอบเขตหรือรัศมีวงรอบของการส่งข้อความแจ้งเตือนหรือ Emergency Alert ให้กับอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือหรือ Tablet ก็ได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนก็อยากจะขอฝากท่านผู้มีอำนาจให้ช่วยพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยครับ

                                                                                                                          โดย เตชิต ทิวาเรืองรอง

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Category:2017_natural_disasters           

http://www.nic-nagoya.or.jp/en/e/archives/10777

http://www.jma.go.jp/jma/indexe.html

https://www.fcc.gov/general/emergency-alert-system-eas