4 เทรนด์หลักในขับเคลื่อนการพัฒนาตลาด Smart Home

Share

Loading

ช่วงนี้กระแส Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ในประเทศไทย นั้นเริ่มจากการค่อยๆ  เข้ามาจับลูกค้าชนชั้นกลางที่มีรายได้และมีกำลังซื้อ เนื่องจากผู้คนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการใช้งานของมันมากขึ้น อีกทั้งยังมีความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยีกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมกันสร้างโครงการที่อยู่อาศัยอัจฉริยะ รวมไปถึงพัฒนาแอปพลิเคชันดูแลระบบเพื่อใช้ในการดูแลภายในโครงการและในบ้าน ผู้คนทั่วไปจึงมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น Smart Home ในตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

            ผลสำรวจข้อมูลผู้บริโภคของอีไอซีจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 7,701 คน พบว่า Smart Home จะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้น ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยุคใหม่ และเมื่อวิเคราะห์ถึงประเภทของอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคสนใจ จะพบว่าราว 77% ของผู้ตอบแบบสำรวจอยากให้มีระบบเตือนภัยอัจฉริยะภายในที่พักอาศัย ในขณะที่ราว 73% ต้องการให้มีระบบช่วยควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและจัดการพลังงานภายในบ้านเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค

            อีไอซีมองว่า 4 เทรนด์หลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาตลาด Smart home ทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย ได้แก่ 1. การบำรุงรักษาแบบคาดคะเน (Predictive maintenance) 2. การสั่งงานด้วยเสียง (Voice command) 3. การคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรม (Behavior prediction) และ 4. Smart home ในราคาที่จับต้องได้ (Affordable Smart home)

1.การบำรุงรักษาแบบคาดคะเน (Predictive maintenance)

            หมายถึง การติดตั้งระบบที่สามารถ monitor การเปลี่ยนแปลงของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ (Air quality monitor) เพื่อแจ้งเตือนให้ทำความสะอาดในบริเวณที่เริ่มสกปรกและมีฝุ่น ซึ่งการติดตั้งระบบดังกล่าวนี้ช่วยให้ปัญหาการซ่อมบำรุงลดลง เพราะเจ้าของบ้านสามารถรู้สถานะก่อนที่เครื่องใช้ต่างๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือรอการแก้ไข

2.การสั่งงานด้วยเสียง (Voice command)

            ในเวลานี้ การสั่งงานด้วยเสียงต้องมีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น (User-friendly) โดย command language ที่ใช้กับ Smart speaker ต้องสามารถเข้าใจวิธีการสั่งงานด้วยคำพูดที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ (near human-like natural language processing) และที่สำคัญต้องสามารถสื่อสารด้วย สำเนียงหรือวิธีการพูดที่หลากหลาย โดยในปัจจุบันมี Startup ในไทย พัฒนา Smart speaker ที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยแล้ว บริษัทวิจัยตลาดชื่อดัง Comscore ได้ประเมินตัวเลขการ search online ทั่วโลกไว้ว่า ภายในปี 2020 50% ของการ search จะเป็นการ search ด้วยเสียง

Trend 2

3.การคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรม (Behavior prediction)

            การประยุกต์ใช้ Artificial Intelligence (AI) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์ Smart Home โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำมารวมกันเป็นกลุ่มและจัดระบบเป็น Timeline ในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น หากเจ้าของบ้านขับรถเข้าถึงซอยบ้านอาจจะมีการแจ้งเตือนมาทาง Smartphone ว่าเจ้าของบ้านมีความต้องการที่จะเปิดไฟหน้าบ้าน และเปิดเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกใช้งาน รวมไปถึงเตรียมเปิดรายการทีวีที่ชื่นชอบรอไว้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถทำกิจวัตรที่ต้องการได้ทันทีที่เข้ามาถึงบ้าน

4.Smart Home ในราคาที่จับต้องได้ (Affordable Smart Home)

            การเข้ามาในตลาด Smart Home ของผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศจีน เช่น Xiaomi และ Alibaba ที่ต่างมี อุปกรณ์ไฮเทคมากมายวางขายในท้องตลาด โดยสินค้าส่วนใหญ่มีราคาเพียงหลักร้อย หรือหลักพัน ทำให้ตลาด Smart Home ทั่วโลกคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแบ่งตลาด Smart speaker ของโลก ของเจ้าตลาด อย่าง Amazon ลดลงถึงครึ่งหนึ่ง (จากประมาณ 80% มาอยู่ที่ประมาณ 40%) ในปี 2018 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในอนาคตข้างหน้าการแข่งขันด้านราคาจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

            เป็นที่แน่ชัดว่า ในอนาคต Smart Home จะกลายเป็น new normal เราจะเห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ถูกนำมาใช้มากขึ้นในตลาดไทย อุปกรณ์ Smart Home กำลังจะก้าวผ่านการเป็นเพียงอุปกรณ์ยอดฮิตอย่าง Smart TV และ กล้องวงจรปิด ไปสู่อุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย และในไม่ช้าสินค้าเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างไม่ทันตั้งตัว

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา

https://www.scbeic.com/th/detail/product/5754

https://mgronline.com/stockmarket/detail/9620000012752