สัมภาษณ์พิเศษ นายกสมาคม Thai IoT คุณกำพล โชคสุนทสุทธิ์

Share

Loading

สมาคมไทยไอโอที จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561   ด้วยจุดมุ่งหมายหลัก 4 ด้าน คือ สร้างความตระหนักรับรู้ สร้างคนที่มีทักษะ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างการใช้งานที่มีคุณค่า ทำให้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) สร้างประโยชน์ต่อสังคม ประเทศไทยและภูมิภาค ASEAN  โดยจัดวางโครงสร้างสมาคมเป็นส่วนงานบริหารประกอบด้วยกรรมการบริหารทำหน้าที่ดูแลจัดการสมาคมตามกฎข้อบังคับสมาคม และแยกส่วนการจัดการเทคโนโลยีเป็นกลุ่มย่อยดูแลโดยอนุกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมมีอิสระในการดำเนินงานตามแนวทางของกลุ่ม สามารถเพิ่มเติมหรือยกเลิกได้ตามทิศทางเทคโนโลยี

กว่าจะเป็น Thai IoT ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

               “เริ่มต้นในปี 2015 เราขอความช่วยเหลือจากทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก่อตั้ง Thai IoT Consortium ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นในวงการด้านเทคโนโลยียังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ผู้เข้าร่วมกับเราจึงมีแต่รายเล็กเสียส่วนมาก เมื่อเริ่มทำงานไปสักระยะจึงมีรายใหญ่เข้ามา และทางภาครัฐก็เริ่มสนใจอยากจะสนับสนุนเราอย่างจริงจังด้วย อีกทั้งยังมีกระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงเกษตร, รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจและดิจิทัลซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ก็เข้ามาร่วมเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงคิดว่าควรจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพราะว่าเมื่อเป็น Consortium นั้น เวลาที่ติดต่อภาครัฐหรือติดต่อหน่วยงานขนาดใหญ่  ค่อนข้างไม่เป็นนิติบุคคล ไม่เป็นทางการและไม่น่าเชื่อถือ จนปี 2017 เราจึงเริ่มมีความคิดใหม่และทำการประชุม Focus Group กัน ถึงได้ทิศทางว่าเราควรจะตั้งเป็นสมาคมดีกว่า”

               “กุมภาพันธ์ 2018 เราได้รับการอนุญาตให้ก่อตั้งเป็นสมาคม สมาชิกรายแรกๆ ของเราได้มาจากกลุ่ม RFID เดิม หลังจากนั้นก็เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เริ่มพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่และทาง Depa ซึ่งพอดีว่างานของเราเป็นภารกิจที่ตรงกับทางสถาบัน IoT ของ Depa ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน จึงเกิดโครงการขึ้นมาซึ่งเป็นโครงการแรกที่เราได้รับการสนับสนุนจากทาง Depa เป็นโครงการ GNSS”

               “ความจริงปี 2015 เราก็เริ่มมีกิจกรรมบ้างแล้ว ถือเป็นภารกิจตัวหนึ่งที่อยู่ในสมาคมเหมือนกันคือสร้างความตระหนักรับรู้ ต้องยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นไม่มีใครกล้าทีจะเข้ามาทำด้านนี้ มีแต่กลุ่ม Maker ที่เขาสนใจอิเล็กทรอนิกส์ ช่วงแรกเราจึงพยายามผลักดันกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการให้ได้ อย่างที่เห็นงานของเราบ่อยๆ ก็คือหุ่นยนต์และแขนกล ซึ่งงานทุกชิ้นเรานำไปต่อยอดทั้งหมด เช่น แขนกลก็ทำออกมาแล้วนำไปช่วยคนพิการ เป็นต้น”

1556608394085

               “ตอนนี้กำลังจะขยายผลโดยไปทำที่ศูนย์มหาไถ่ ซึ่งศูนย์นี้ต้องการให้คนพิการทำให้คนพิการเอง เราจะสร้างศูนย์ออกแบบและแขนเทียมให้คนพิการ เพราะพวกเขาจะสร้างด้วยความรู้สึกของเขาที่มีมากกว่าคนธรรมดา ศูนย์มหาไถ่เป็นศูนย์กลางในอนาคตที่ผู้พิการก็จะมารวมกัน เขาจะนำความรู้ที่เรามอบให้ไปสร้างและพัฒนาตัวเองให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นเป้าหมายที่เราต้องการ”

เป้าหมายคือการเป็น IoT Hub of ASEAN

               “เป้าหมายหลักเลยคือเราต้องการเป็น IoT Hub of ASEAN เราตั้งเป้าไว้สูงพอสมควร และมีภารกิจมากมายกว่าจะถึงฝั่ง จากเป้าหมายนั้นเราก็วางพันธะกิจไว้ 4 เรื่อง คือ สร้างการตระหนักรู้, สร้างคน, สร้างเครือข่าย และสร้างการใช้งานจริงให้ได้ มองว่าถ้าเราสามารถสร้าง 4 อย่างนี้สำเร็จ เราก็สามารถเป็น IoT Hub of ASEAN ได้ โดยจะเริ่มต้นด้วยภารกิจ 6 กลุ่ม คือ Smart Agriculture, Smart Health, Smart Tourism, Smart Logistics, Smart Industry, และSmart City แต่เนื่องจากทาง Depa เป็นหน่วยงานใหญ่ที่ดูแลเรื่อง Smart City อยู่แล้ว เราจึงขอเป็นเพียงตัวช่วยก็พอ

ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือกำลังคนไม่เพียงพอ

               “หลังจากที่เราได้ทราบข้อมูลผลสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในด้านแรงงานทั้งหมดจำนวนห้าแสนคนทางด้านดิจิทัลนั้น เกิดปัญหาคือกำลังคนไม่เพียงพอและไม่มีคนให้สร้าง เราจึงเปลี่ยนแนวคิดใหม่ จากเดิมที่จะสร้างแรงงานก็กลายเป็นสร้างผู้ประกอบการแทน ประชุมสมาคมครั้งล่าสุดเราจึงเชิญชวนผู้คนให้มาเข้าร่วม และจำเป็นต้องให้แบรนด์ใหญ่ที่มีความพร้อมด้านนี้เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะแบรนด์จากไทยหรือต่างประเทศก็ตาม สุดท้ายพอเราได้คนได้เครือข่าย การใช้งานจริงก็จะเกิดขึ้น เราสร้างผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม ก็คือ กลุ่มที่ปรึกษา กลุ่มผู้ออกแบบ และ กลุ่ม System Integrator โดยแต่ละกลุ่มก็จะถนัดในงานคนละส่วนกันอย่างชัดเจน”

1556608396491

ใครบ้างที่จะได้ประโยชน์จาก Thai IoT

               “ส่วนตัวผมคิดว่าต้องได้ทุกคน เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อสำคัญคือเราต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศของเรา ประชาชนควรจะเอาเทคโนโลยีไปทำธุรกิจหรือไปสร้างประโยชน์ได้ ส่วนประเทศผมมองว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายในประเทศพอดี นี่คือสิ่งที่ชัดเจนว่าสมาคมของเราทำงานสนับสนุนประเทศ”

               “ในส่วนของสมาชิกสมาคมนั้น ถ้าเราช่วยกันผลักดัน ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของ IoT ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนเช่นกัน แล้วแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เราเชิญเข้ามา หาก IoT โตขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็จะเติบโตตามไปด้วยแบบเห็นผลทันทีเลย ซึ่งผมยังไม่เห็นผลเสียในการที่เราช่วยกันกระตุ้น IoT เลย มีแต่ประโยชน์ที่เราจะได้รับ”

               “ระยะเวลาที่คาดหวัง ผมตั้งเป้าไว้ตั้งแต่วันแรกแล้วคือปีหน้าจะต้องเห็นผล เพราะผมทำงานแค่ 2 ปี ผมจะพยายามทำให้มันเห็นผลในระยะเวลานี้ให้ได้ เป็นจุดเริ่มต้นว่ามันต้องเกิดให้ได้ แต่ก็ต้องรอดูอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร”

1556608400402

หลักในการบริหารงาน และการแบ่งเวลาให้สมาคม

               “ด้านสมาคมนี้ถือว่าโชคดีที่เรารู้จักกันมาอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ผมจึงขอให้ทุกคนช่วยสละเวลากันสักเล็กน้อย เพื่อตัวของท่านเองด้วย เพราะถ้าเราทำให้อุสาหกรรมเติบโตได้ เราที่อยู่ในอุสาหกรรมก็จะโตขึ้นด้วยเหมือนกัน”

               “ด้านการบริหารงาน ในส่วนของสมาชิกผมใช้วิธีแบ่งกลุ่ม เพื่อป้องกันปัญหาการได้เปรียบเสียเปรียบ โดยแบ่งเป็นกลุ่ม เล็ก กลาง และใหญ่ จะมองว่าแต่ละกลุ่มต้องการอะไร เราก็ดูทิศทางเพื่อไปสนับสนุนสิ่งที่เขาอยากได้ ทำให้เขาเห็นว่าเพราะอะไรถึงต้องเข้าร่วมสมาคม สิ่งไหนที่ขาดหรือทางสมาคมไม่มี เขาสามารถจะเติมจากข้างนอกเข้ามาได้ ยิ่งเติมเข้ามาสมาชิกก็มีแต่จะเติบโตขึ้นทุกวัน”

 

การสนับสนุนจากภาครัฐคือสิ่งที่ต้องการ

               “ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้ภาครัฐพยายามจะกระตุ้นโดยเน้นไปเรื่องการตระหนักรับรู้ แต่ผมอยากให้ลงลึกในเรื่องการสร้างคนสร้างงาน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องร่วมมือกัน”

               “อีกทั้งผมอยากให้ทุกคนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในสมาคม เพราะเมื่อเราจับกลุ่มรวมกันมันจะกลายเป็นพลังขึ้นมา ในเรื่องความต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุน  อยากฝากไว้คือให้ถือว่าสมาคมเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความต้องการของตลาด หรือนโยบายภาครัฐที่จะเกิดขึ้น เราสามารถเข้าไปช่วยกันเกื้อหนุนกันได้ ผมจึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันให้แน่นแฟ่นกว่านี้” คุณกำพล กล่าวทิ้งท้าย

1556010810843

http://www.iotthailand.net/index.php/th/