‘สมาร์ทโฮม’ เพิ่มมูลค่าโครงการอสังหาริมทรัพย์

Share

Loading

อีไอซี ประเมินว่า นวัตกรรมอุปกรณ์ Smart Home จะมีส่วนช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น และในระยะเวลาอันสั้น ราคาของอุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถจับต้องได้มากขึ้นโดยมีแรงกดดันจากการเข้ามาในตลาดของผู้เล่นรายใหญ่จากประเทศจีน

            ท่ามกลางกระแสการพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนคำหลายๆ คำกลายเป็น Buzzwords ยอดฮิตไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Blockchains, Big data, AI, Machine learning, 3D printing, Internet of Things (IoT) และอื่นๆ อีกมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมรผลกระทบต่อเราในหลากหลายมิติ และองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป หลายเทคโนโลยีดังกล่าวอาจจะฟังดูไกลตัวสำหรับบางคน แต่หนึ่งในนวัตกรรมที่กำลังเป็นที่นิยม และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคนอย่างมีนัยสำคัญ คือ การประยุกต์แนวคิด “Internet of Things” มาใช้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่อยู่รอบตัวเรา โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่อยู่ภายในบ้าน หรือที่เรียกว่า “Smart home” บ้านอัจฉริยะ นั่นเอง

            ย้อนไปไม่ถึง 10 ปี คอนเซ็ปท์บ้านอัจฉริยะ อาจจะยังฟังดูเหมือนเรื่องในนิยายไซไฟ แต่ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ กลายเป็นสินค้าที่วางขายทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งหลายๆ ชิ้นก็มีราคาถูกลงมามากจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถเอื้อมถึง จากการประเมินของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์lสมาร์ทโฮมของโลก เติบโตประมาณ 31% ในปี 2018 หรือประมาณ 644 ล้านเครื่อง และคาดว่าในปี 2022 อุปกรณ์เหล่านี้จะเติบโตถึงเกือบ 1,300 ล้านเครื่อง โดย A.T. Kearney ประเมินมูลค่าตลาดสมาร์ทโฮมทั่วโลก จะมีมากกว่า 263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสมาร์ทโฮมส่วนใหญ่จะมี 2 หมวดหลัก คือ อุปกรณ์เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย

            ปัจจุบันผู้ประกอบการในวงการอสังหาริมทรัพย์ มีการนำอุปกรณ์สมาร์ทโฮมมาใช้มากขึ้นเพื่อเป็นจุดขายในการตลาด ชูจุดขายการยกระดับคุณภาพชีวิตลูกค้าให้สะดวก ปลอดภัย สนุกสนาน และมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของลูกค้า และจากการสำรวจข้อมูลโดย Statista บริษัทวิจัยด้านการตลาดของเยอรมนี ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมมากที่สุดในโลก โดย Home automation มีสัดส่วนมากที่สุด ตามมาด้วยอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย รองลงมาคือ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น

            การใช้งานสมาร์ทโฮม เน้นการเพิ่มความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อาทิ แสนสิริ, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ และ เอพี ไทยแลนด์ ต่างลงทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่มีอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ติดตั้งมาพร้อมกับตัวบ้านให้กับลูกค้า โดยอุปกรณ์ที่เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น คือ Smart mirror กระจกอัจฉริยะ ที่สามารถ เปิดเพลง ดูวิดีโอจากโทรศัพท์ มีหน้าปัดแสดงเวลา บอกอุณหภูมิ หรือมี Bluetooth เพื่อใช้คุยโทรศัพท์ได้

            อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่กำลังมาแรง คือ Smart speaker หรือ ระบบการสั่งงานด้วยเสียง ที่เป็นเสมือนตัวเชื่อมกับอุปกรณ์ IoT อื่น ๆ ภายในบ้าน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวของเจ้าของบ้าน หรือที่เรียกว่า Virtual assistant ในปัจจุบันผู้ผลิตอุปกรณ์ Smart home ต่างพัฒนาอุปกรณ์ให้สามารถเชื่อมต่อกับ Smart speaker กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Amazon Echo หรือ Google Home เป็นต้น

            อีไอซี วิเคราะห์ 3 ปัจจัยสำคัญทางการแข่งขันที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ใช้ในการนำอุปกรณ์สมาร์ทโฮม มาปรับใช้กับที่อยู่อาศัย ได้แก่

  1. การเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน (Embedded into everyday life)
  2. สิ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจ (Wow factors)
  3. การบริการหลังการขาย (Aftersales service)

            การเชื่อมอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่างๆ เพื่อใช้งาน และมอนิเตอร์ประสิทธิภาพการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความปลอดภัย การบริหารการใช้พลังงานภายในบ้าน เช่น ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า และการบริหารอุปกรณ์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เช่น การเชื่อมจอของสมาร์ทโฟนเข้ากับทีวี หรือ Smart mirror ในห้องน้ำ เพื่อให้สามารถรับชมรายการที่กำลังติดตามได้ ถือเป็นความพยายามที่จะนำระบบสมาร์ทโฮม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย และยังเป็นการสร้าง Wow Factors เพื่อใช้เป็นจุดขายในการโปรโมทสินค้า

            อีไอซี แนะนำว่า การนำฟังก์ชันต่างๆ ของสมาร์ทโฮมมาใช้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค (consumer privacy) โดยมีการอธิบายวิธีการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างมีขั้นตอน พร้อมทั้งการตั้งค่าการลบข้อมูลที่ลูกค้าไม่ต้องการ ให้ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ

            ผลสำรวจจาก Parks Associates บริษัทด้านการวิเคราะห์ ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้บริโภคกว่า 80% มีความต้องการใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมมากขึ้น และเชื่อว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของพวกเขาภายในระยะเวลาอันสั้น โดยผู้ผลิตและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบายเรื่องการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจใช้งาน และจากผลสำรวจของ Gfk Smart home study 2018 ระบุว่า ในสหรัฐฯ ผู้ใช้งานอุปกรณ์สมาร์ทโฮมกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เลือกอุปกรณ์สมาร์ทโฮมและติดตั้งด้วยตัวเอง เพราะสะดวกในการดูแลรักษา และมีทางเลือกมากกว่า ในขณะที่กลุ่มอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป ชอบสมาร์ทโฮมที่ติดตั้งมาพร้อมกับตัวบ้าน โดยผลสำรวจยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการ ให้ระบบของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมหลายๆ ชิ้น ที่อาจจะมาจากผู้ผลิตต่างแบรนด์ สามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ (standardized communication) ซึ่งในปัจจุบัน อุปกรณ์ต่างแบรนด์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถทำได้

            นอกจากนี้ อีไอซียังประเมินแนวโน้มในอนาคต 4 เทรนด์หลักที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดสมาร์ทโฮมทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย ได้แก่

  1. การบำรุงรักษาแบบคาดคะเน (Predictive maintenance) หรือการแจ้งเตือนประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์สมาร์ทโฮมว่ามีอะไรบกพร่อง หรือถึงเวลาที่ต้องซ่อมบำรุง
  2. การสั่งงานด้วยเสียง (Voice command)
  3. การคาดการณ์แนวโน้มพฤติกรรม (Behavior prediction) เป็นการการประยุกต์ใช้ Artificial Intelligence (AI) เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย โดยพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำมารวมกันเป็นกลุ่ม และจัดระบบเป็นไทม์ไลน์ในการทำงาน เช่น หากเจ้าของบ้านขับรถเข้าถึงปากซอย อาจจะมีการแจ้งเตือนมาทางสมาร์ทโฟนว่าเจ้าของบ้านมีความต้องการที่ จะเปิดไฟหน้าบ้าน และเปิดเครื่องปรับอากาศในพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกใช้งาน และอื่นๆ
  4. สมาร์ทโฮมราคาที่จับต้องได้ (Affordable Smart home) การเข้ามาในตลาดสมาร์ทโฮมของผู้เล่นรายใหญ่จากจีน เช่นXiaomi และAlibaba กำหนดราคาสินค้าส่วนใหญ่เพียงหลักร้อย หรือหลักพัน ทำให้ตลาดสมาร์ทโฮมเข้าถึงง่าย การแข่งขันด้านราคา จะทำให้ตลาดขยายตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากผลสำรวจข้อมูลผู้บริโภคของอีไอซี จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 7,701 คน พบว่าสมาร์ทโฮมจะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญมากขึ้น ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยุคใหม่ และเมื่อวิเคราะห์ถึงประเภทของอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคสนใจพบว่าราว 77% ของผู้ตอบแบบสำรวจ อยากให้มีระบบเตือนภัยอัจฉริยะภายในที่พักอาศัย ในขณะที่ 73% ต้องการให้มีระบบช่วยควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าและจัดการพลังงานภายในบ้าน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ในอนาคตสมาร์ทโฮมจะกลายเป็น new normal จะเห็นนวัตกรรม ถูกนำมาใช้มากขึ้นในตลาดไทย อุปกรณ์สมาร์ทโฮมกำลังจะก้าวผ่านการเป็นเพียงอุปกรณ์ยอดฮิตอย่าง Smart TV และ กล้องวงจรปิด ไปสู่อุปกรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com – https://www.terrabkk.com/news/195166