เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต ร่วมกับเวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี เปิดงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018

Share

กรุงเทพฯ เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต นิวเอร่า  บิสซิเนส มีเดีย ร่วมกับ เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี ผนึกกำลังพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน เปิดงาน ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 ที่ฮอลล์ 103 -104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกับงาน ไทยแลนด์ ไลท์ติ้ง แฟร์ 2018 และ ไทยแลนด์ บิลดิ้ง แฟร์ 2018  ภายใต้แนวคิด สมาร์ทซิตี้ เซฟซิตี้ ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน ศกนี้ เวทีเดียวที่รวบรวมแบรนด์เทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยชั้นนำจากนานาประเทศกว่า 250 แบรนด์ นำเสนอสุดยอดเทคโนโลยีความปลอดภัยล่าสุดและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI  พร้อมนำเสนอโซลูชั่นส์และกรณีศึกษาจากทั่วโลก

 

            งานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 ซึ่งปีนี้นับเป็นการจัดงานในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 6 โดยงานมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการตื่นตัวและตระหนักในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เมืองปลอดภัยหรือ สมาร์ทซิตี้ เซฟซิตี้ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

IMG_0856

พิธีเปิดงาน ซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 ได้รับเกียรติจาก นายสมภาคย์ สุขอนันต์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี โดยกล่าวว่า “การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครอัจฉริยะหรือ Smart City และมหานครแห่งความปลอดภัยหรือ Safe City อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ซึ่งการสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครปลอดภัย คือประเด็นยุทธศาสตร์แรก โดยเฉพาะในด้านการป้องกันอัคคีภัยซึ่งประเด็นที่ต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เนื่องด้วยกรุงเทพฯ มีสถิติการเกิดอัคคีภัยสูงสุดถึง 1,625 ครั้ง ในปี 2560 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และคุณภาพชีวิต และค่าใช้จ่ายในช่วงการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูบูรณะ นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังตระหนักถึงภัยคุกคามทางโลกไซเบอร์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรด้วยการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี Smart Health หรือบริการด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ ภาวะประชากรผู้สูงอายุที่สมบูรณ์ ในปี 2563 ที่จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคน”

IMG_0841

นายฮูเบิร์ต ดูห์ กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ แฟรงค์เฟิร์ต นิว เอร่า บิสซิเนส มีเดีย ในฐานะผู้จัดงาน กล่าวว่า “การพัฒนาสมาร์ทซิตี้ และ เซฟ ซิตี้ เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนในประเทศไทยกำลังให้ความตระหนักทั้งภาครัฐและเอกชนที่พยายามคัดสรรเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมาใช้ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองปลอดภัยตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งเราทราบดีว่าในขั้นตอนการเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาใช้นั้นมีความท้าทายอย่างมาก เราจึงมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันภารกิจดังกล่าว โดยเป็นสื่อกลางในการจัดเวทีนานาชาติที่ได้คัดสรรแบรนด์เทคโนโลยีชั้นนำที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยที่ใช้โซลูชั่นซึ่งใช้เทคโนโลยีไอโอทีและปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวขับเคลื่อนมาจัดแสดงให้กับผู้เข้าชมงานในปีนี้”

 

นายศิระพัฒน์ เกตุธาร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เวิลด์เด็กซ์ จี.อี.ซี. จำกัด กล่าวว่า “คาดว่าตลาดกล้องวงจรปิดจะเติบโตต่อเนื่องปีละ 10-15% โดยเติบโตจาก 6,000 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 10,000 ล้านบาทภายในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาลที่เร่งผลักดันให้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองปลอดภัย อีกทั้ง โครงการด้านการคมนาคมขนส่งที่ต้องการระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมสูงสุด อาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ก็จะเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมหรือ สมาร์ท แฟคตอรี่ ด้วยเช่นกัน 

“จากปัจจัยสนับสนุนที่เกิดจากโครงการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เซฟซิตี้ของภาครัฐ ทำให้สัดส่วนตลาดกล้องวงจรปิดในประเทศไทยระหว่างตลาดภาครัฐกับภาคเอกชนอยู่ที่ 60%-40% โดยภาคเอกชนจะเน้นการติดตั้งกล้องวงจรปิดในอาคาร ห้างสรรพสินค้า และโรงเรียนเป็นหลัก โดยมีการพัฒนาซอฟท์แวร์หรือโซลูชั่นส์เพื่อให้กล้องมีความชาญฉลาดมากขึ้นและตอบโจทย์การใช้งานด้านอื่นนอกเหนือจากเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย อาทิ กล้องวงจรปิดเฝ้าระวังความปลอดภัยที่เสริมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งกล้องวงจรปิดที่สามารถระบุการระบุตัวตนไบโอเมตริกซ์ เป็นต้น”

 

            ดร.สมชาย ฉินสกลธนากร อุปนายกสมาคมกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย และผู้อำนวยการโปรแกรม ฝ่ายบริหารคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. กล่าวว่า “สมาคมระบบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะไทย ชื่อเดิม คือ CCTV Consortium มีจุดกำเนิดในปี 2556 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สวทช . หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สมาคมฯ ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนา สร้าง CCTV Analytics ของประเทศ รวมถึงการสร้างมาตรฐาน มุ่งหวังลดต้นทุนการนำเข้าและสามารถ Customize โปรแกรม ให้เหมาะสมกับการใช้งานภายในประเทศ เราจะใช้เวทีซีเคียวเทค ไทยแลนด์ในการทำพิธีเปิดตัวสมาคมอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ เพื่อตอกย้ำถึงเป้าหมายที่สอดคล้องกันในด้านการรักษาความปลอดภัยและความแพร่หลายในการนำเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ นอกจากใช้เพื่อสร้างความปลอดภัย อาทิ ด้านการควบคุมการจราจร ด้านการค้าปลีก และรวมไปถึงการนำไปใช้เพื่อเป็นโซลูชั่นส์เพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ  การได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดจากบริษัทผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่มาจัดแสดงภายในงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ จะช่วยเพิ่มโลกทัศน์ให้กับผู้ประกอบการได้ก้าวทันกับวิวัฒนาการระดับโลก อาทิ ด้าน AI และ IoT ที่เข้ามามีบทบาทและถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยมากขึ้น” ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติม

            ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานซีเคียวเทค ไทยแลนด์ 2018 กล่าวว่า “ สมาร์ทซิตี้ เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามขับเคลื่อน digital transformation ของประเทศไทย โดยดีป้าเตรียมการกำหนดมาตรฐานสมาร์ทซิตี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี ๒๕๖๒ โดยหนึ่งในภารกิจของดีป้า คือ การให้คำแนะนำและให้บริการในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการวางแผนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

“ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัล และบิ๊กดาต้า มีการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ การกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแบบก้าวกระโดดทั้งด้านการส่งเสริมธุรกิจด้านสมาร์ทซิตี้ การวางโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในเมืองอัจฉริยะ ๗ เมือง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มี Digital Park Thailand และเกิด Smart EEC ในพื้นที่ ๑,๐๐๐ ตร.กม. โดยรอบ ควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม รถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้น และได้จับมือกับเอกชนในเครือข่าย Smart City Alliance และบริษัทพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล รองรับการพัฒนาเมืองเป็นสมาร์ทซิตี้”