จับตา Smart City เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลก

Share

Loading

COVER SSM IS10

ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี
คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)

จากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอันเป็นผลพวงจากปัญหาโลกร้อนกำลังเป็น ปัญหาที่สร้างความวิตกกังวลให้กับสังคมโลกเป็นอย่างยิ่ง ซ้ำเติมด้วยความไม่สงบ และภัยก่อการร้ายที่กำลังทวีความรุนแรงและแพร่กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเช่นกัน ทำอย่างไรจึงจะสามารถรับมือกับมหันตภัยที่กำลังถาโถมเข้ามาเหล่านี้ได้…นี่คือโจทย์ใหญ่ของผู้นำระดับสูงของทุกประเทศที่ต้องช่วยกันหาทางออก และทางออกของปัญหาที่มีการพูดถึงกันมากในเวลานี้คือ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City)

เมืองอัจฉริยะ คือนิยามเมืองใหม่แห่งอนาคต ที่ไม่เพียงตอบโจทย์ในด้านความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์ในด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า การดูแลผู้สูงอายุ และรวมถึงเรื่องความปลอดภัยของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วย และแม้วันนี้ประเทศไทยจะยังไม่มีโมเดลเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่จากการได้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เชื่อแน่ว่าอีกไม่นาน เราจะเห็นเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นแน่นอน แต่กว่าจะถึงวันนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจากหลายภาคส่วน และที่สำคัญต้องมี “ผู้จุดประกาย” ความร่วมมือให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

กว่าจะเป็น…สมาร์ทซิตี้
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นสถาบันการศึกษาหนึ่งในไม่กี่แห่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการปลุกปั้นเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับนิตยสาร Security Systems ถึงบทบาทของ สจล. กับการสร้างเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

“ในมิติของสถาบันการศึกษา เรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีผลงานวิจัยเกิดขึ้นมากมาย โจทย์ของเรา คือ เราจะนำความรู้เหล่านี้ไปช่วยพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการคิดที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในประเทศไทย”

“ในมุมมองของผม คำว่า เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ คือ สถานที่ที่มีระบบ มีเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รู้สึกถึงความปลอดภัย และสะดวกสบาย ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ปราศจากมลพิษ ดังนั้น สมาร์ทซิตี้จึงเกี่ยวข้องกับหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย สุขภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยทุกอย่างทำงานบนระบบที่มีการออกแบบและบูรณการแล้วเป็นอย่างดี จึงจะทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย สามารถควบคุมเวลา หรือบริหารจัดการชีวิตทุกอย่างได้ง่ายดาย และต้องตอบสนองต่อการทำธุรกิจหรือการทำงานด้วย”

ณ วันนี้ ผู้คนอาจจะยังไม่เห็นภาพของสมาร์ทซิตี้ว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรแต่ในความเป็นจริงมันกำลังคืบคลานเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ในอนาคตอันใกล้นี้ การควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือระบบซีเคียวริตี้ภายในบ้านผ่านสมาร์ทโฟน จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา เฉกเช่นที่ประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระบบนี้มานานแล้ว หรือระบบเนวิเกเตอร์ ที่จะไม่ใช่แค่อุปกรณ์นำทาง แต่จะกลายเป็นผู้ช่วยแสนฉลาด สามารถวิเคราะห์สภาพการจราจร แนะเส้นทางเลี่ยง และคำนวณเวลาให้เสร็จสรรพ เป็นต้น ที่กล่าวมาเป็นเพียงเศษเสี้ยว หนึ่งของสมาร์ทซิตี้

pic3

“สำหรับประเทศไทย ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก กล่าวคือ แต่ละเมืองก็แค่มีอย่างละเล็กอย่างละน้อยขึ้นอยู่กับว่าใครจะให้น้ำหนักและความสำคัญกับงานด้านไหน และโดยทั่วไปจะให้ความสำคัญกับงานด้านความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก จะสังเกตได้ว่าตามเมืองใหญ่เริ่มติดตั้งระบบและเครือข่ายกล้องวงจรปิดกันมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเรียกว่าสมาร์ทซิตี้ได้ ซึ่งในส่วนของผมเองก็กำลังทำต้นแบบสมาร์ทบิวดิ้ง แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสมาร์ทซิตี้เช่นกัน”

องค์ประกอบของสมาร์ทซิตี้
สมาร์ทซิตี้ หรือ เมืองอัจฉริยะ คือการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารจัดการเมือง สิ่งแวดล้อม การศึกษา การบริการชุมชน ลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน และช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

“จริงๆ แล้ว สาระสำคัญของสมาร์ทซิตี้ คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานของเมือง” ผศ.ดร.คมสัน กล่าว และอธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของสมาร์ทซิตี้ว่า “อย่างแรกคือเรื่องระบบความปลอดภัย สองคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green City, Green Building, Green Devices) สามคือประชาชนต้องเข้าถึงระบบบริการสาธารณะได้ไม่ยาก อาทิเช่น การเรียกใช้บริการรถสาธารณะ ต้องมารับอย่างรวดเร็ว และส่งถึงที่หมายอย่างปลอดภัย และบริหารจัดการเรื่องเวลาได้ เป็นต้น”

บทบาทสถาบันการศึกษากับสมาร์ทซิตี้
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งสู่การเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สจล. สั่งสมผลงานด้านการวิจัยและพัฒนามากมายหลายสาขา และหนึ่งในนั้นคืองานวิจัยเพื่อสนับสนุนการสร้างเมืองอัจฉริยะ

“ที่ สจล.เรามีการทำวิจัยเพื่อสนับสนุนสมาร์ทซิตี้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และสุขภาพ อาทิ Green Building โดยทีมอาจารย์ได้ทำวิจัยเรื่อง Smart Meter ในรูปแบบไร้สาย พัฒนาระบบวิเคราะห์พฤติกรรมของคนผ่านกล้องวงจรปิด พัฒนาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ไซร่า (CIRA )หุ่นยนต์ช็อปปิ้งเพื่อผู้พิการ รวมถึงการพัฒนาวีลแชร์สำหรับผู้พิการแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เป็นต้น โดยเราพยายามผลักดันให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับอาจารย์ ขณะเดียวกันก็พยายามเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคเอกชนหลายแห่ง เพื่อให้เกิดกระบวนการนำความรู้ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาแมทชิ่งกัน เพื่อให้เกิดผลงานนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง”

ตัวอย่างความร่วมมือที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ภายใน สจล. ได้แก่ ร่วมมือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดตั้ง True Lab เพื่อใช้เป็นศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่, ร่วมมือกับบริษัท พานาโซนิคประเทศไทย จำกัด จัดตั้งศูนย์วิจัยการเฝ้าระวังอัจฉริยะ (Smart Surveillance Research Center หรือ SSRC) เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีการเฝ้าระวัง เช่น กล้องวงจรปิด ตัวเซ็นเซอร์วัดแรงสั่นสะเทือน ที่ใช้เตือนภัยพิบัติกรณีเกิดนน้ำท่วมหรือแผ่นดินไหวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น, ร่วมกับบริษัทมิตซูบิชิ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานภายในอาคารและล่าสุด ร่วมมือกับ บริษัท ดิจิตอลโฟกัส จำกัด ในการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับระบบ Smart Home Smart City ให้กับประชาชน

“ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนเป็นโมเดลที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ ประเทศ และเป็นรูปแบบของความร่วมมือที่ก่อให้เกิดการต่อยอดจาก งานวิจัยในห้องทดลองให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง” ผศ.ดร.คมสัน กล่าว

P19Z6VTYQ0

สมาร์ทซิตี้ เทรนด์ขับเคลื่อนโลก
วันนี้สมาร์ทซิตี้ได้กลายเป็นเมกะเทรนด์ของโลกไปแล้ว จะเห็นได้ว่า เมืองสำคัญๆ ของโลก อย่าง นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก อัมสเตอร์ดัม โคเปนเฮเกน ซานดิเอโก้ สต็อกโฮม แม้กระทั่งโตเกียว และอีกหลายๆ เมือง ได้พัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับประเทศไทย ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จังหวัดไหนจะถูกยกระดับให้เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเต็มรูปแบบได้ก่อน แต่ที่แน่ๆ วันนี้ ผศ.ดร.คมสัน บอกว่า เรายังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน เกี่ยวกับสมาร์ทซิตี้ว่าจะมีระบบอะไรที่มาช่วยทำให้ชีวิตเขามีความปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร และต่อไปนี้เชื่อว่าด้วยนโยบายของรัฐ จะทำให้คนไทยรู้จักและกล่าวถึงสมาร์ทซิตี้มากขึ้น เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลยุคนี้เช่นเดียวกัน

“ผมเชื่อว่าไม่เกิน 5 ปี สมาร์ทซิตี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอน เพราะปัจจุบันระบบและเทคโนโลยีถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และราคาถูกลง ปัจจุบันมีเมืองและหมู่บ้านหลายแห่งเริ่มที่จะวางโครงสร้างหรือระบบสำหรับรองรับสมาร์ทซิตี้แล้ว เพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะหากจะให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ที่สมบูรณ์จริงๆ จะต้องมีระบบสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า มีระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดวางสภาพแวดล้อมที่ดีเยี่ยม ไปพร้อมๆ กับการทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้นด้วย” ผศ.ดร.คมสัน กล่าวทิ้งท้ายด้วยความมั่นใจ