GPSC คิกออฟโรงงานผลิต ‘แบตเตอรี่ SemiSolid’ แห่งแรกในอาเซียน @ EEC พร้อมปลดล็อคไทยสู่ผู้นำนวัตกรรมพลังงานแห่งภูมิภาค

Share

Warning: Undefined array key "postid" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 24

Warning: Undefined array key "increase" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 25

Warning: Undefined array key "show_views_today" in /home/securitysy/domains/securitysystems.in.th/public_html/wp-content/plugins/page-views-count/src/pvc_widget.php on line 26

Loading

อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-CURVE) ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เหล่านี้เป็นเพียงอุตสาหกรรมตัวอย่าง ที่ได้รับอานิสงส์จากการเดินเครื่องโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid หรือ ‘แบตเตอรี่ SemiSolid’ แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เท่านั้น

เพราะในอนาคต จากกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี จะขยายเป็น กำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี และในวันนั้น นวัตกรรมพลังงานของกลุ่ม ปตท. จะนำพาประเทศให้ก้าวสู่ผู้นำด้านแบตเตอรี่เทคโนโลยีและโซลูชั่นการบริหารจัดการพลังงานแบบครบวงจร

และด้วยความสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนป้อนกลุ่มโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และ SME ควบคู่ไปกับการต่อยอดแผนการผลิตแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต ทำให้ประเทศไทยเป็น Hub หรือ ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตได้ไม่ยาก

โดยล่าสุด GPSC ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid หรือ ‘แบตเตอรี่ SemiSolid’ แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ขึ้น โดยในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดผ่านระบบออนไลน์จากทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย

และในโอกาสนี้ วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC และ รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC ได้เปิดเผยข้อมูลรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับ การเดินเครื่องโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid หรือ ‘แบตเตอรี่ SemiSolid’ โดยเฉพาะในประเด็นเจาะลึกของ “นวัตกรรมพลังงาน” ที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เองนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

ชี้โอกาสของไทยในการยกระดับ นวัตกรรมพลังงาน พร้อมกับการเกิดขึ้นของโรงงานผลิต ‘แบตเตอรี่ SemiSolid’ ของ GPSC

วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวถึงความตั้งใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับนวัตกรรมพลังงานของไทยว่า

“GPSC พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและการลดช่องว่างของระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งมีคุณสมบัติอันโดดเด่นและนำไปปรับใช้ได้จริงในหลากหลายอุตสาหกรรม”

โดยการเกิดขึ้นของ ‘แบตเตอรี่ SemiSolid’ ซีอีโอ GPSC อธิบายว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ตอบโจทย์ การสร้างสรรค์ ‘นวัตกรรมพลังงาน’ ของไทยในหลากมิติ ดังนี้

  • เปิดศักราชผลิต แบตเตอรี่ SemiSolid นวัตกรรมพลังงานขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ ในไทย

นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid เป็นเทคโนโลยีการผลิตของ บริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง GPSC ได้รับสิทธิ หรือ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย เมื่อ 7 ปี ที่แล้วที่ GPSC นำเข้ามา และ ยังเป็นเทคโนโลยีในห้องแล็บเท่านั้น

แต่ในวันนี้ ใช้เดินเครื่องการผลิตได้จริง 30 MWh ต่อปี ซึ่งสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ในแผนการลงทุนต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับดีมานด์ที่จะใช้ในแอปพลิเคชันต่อไปในอนาคต โดยมีต้นแบบแบตเตอรี่ที่ได้พัฒนาให้ไปในรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า หรือ รถเมล์ไฟฟ้า (E-Bus) แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูงและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมกับแอปพลิเคชันที่หลากหลาย และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทั้งในส่วน Mobility และ Stationary

รวมถึงการผลิตเพื่อป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรม สถานีอัดประจุ ธุรกิจขนส่ง อาทิ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า และการประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล หรือยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573 ซึ่งมักจะนิยมใช้แบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide)

ในเบื้องต้นบริษัทฯ สามารถนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเดียวกัน โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่ GPSC ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการได้เช่นกัน

  • ส่งมอบ นวัตกรรมแบตเตอรี่อัจฉริยะ ที่ดีทั้งต่อใจผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม

จากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเดิมที่สามารถชาร์จได้ 1,000 ครั้ง แต่ แบตเตอรี่ G-Cell 1 ก้อน หรือ 1 แผง สามารถชาร์จได้กว่า 4,000 ครั้ง นอกจากนั้น แบตเตอรี่ G-Cell ยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

  • ไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ Products Innovation แต่ยกระดับสู่การสร้าง Process Innovation

GPSC ยกระดับนวัตกรรมพลังงานของไทย จากการเป็นแค่ Products Innovation สู่การเป็น Process Innovation ด้วย เทคโนโลยี Semisolid ที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิต เพราะสามารถตัดขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยากออกไปได้

เพราะขั้นตอนการผลิตแบตเตอรี่ชนิดเติมน้ำกลั่น (Conventional Battery) แบบเดิม ที่ต้องนำมาเคลือบ เป่าให้แห้ง จากนั้นจึงเอา อิเล็กโทรไลต์ ใส่ลงไป แต่สำหรับ แบตเตอรี่ Semisolid ตัดขั้นตอนความยุ่งยากเหล่านั้นออกไปได้เลย เพราะเป็นเทคนิคการผลิตแบตเตอรี่แบบ กึ่งแข็งกึ่งเหลว ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของ Semisolid ทำให้ขั้นตอน หรือ Process ในการผลิตสั้นลงได้กว่าการผลิต Conventional Battery แบบเดิมอย่างเห็นได้ชัด

  • ปลดล็อคขีดความสามารถของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน GPSC ที่ทำได้ถึง 3 ระดับ

สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงานแห่งนี้ มีขีดความสามารถผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับ คือ

1 G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell

2 G-Pack ที่มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (Mobility Application – Light Duty and Heavy Duty) อาทิเช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application)

3 G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน สำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply หรือ  UPS)  และระบบกักเก็บพลังงาน  (Energy Storage System หรือ ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี  IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ  Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้า ตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เดินหน้าเทรนด์พลังงานสะอาด เป็นขุมพลังพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย

นอกเหนือจากข้อมูลด้านการสร้างนวัตกรรมพลังงานที่เป็นปรากฎการณ์ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยได้แล้ว ทาง รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ GPSC ยังได้เผยถึงแผนการตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid เฟสแรก และแผนการขยายโรงงานในเฟสต่อไป รวมถึงการจัดตั้ง R&D Center ซึ่งจะเกิดขึ้นในพื้นที่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศอย่าง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ด้วย

“ในตอนนี้ โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid ตั้งอยู่ในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งทาง GPSC มีแผนการขยายโรงงาน เพิ่มการผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ในระดับ “1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี” ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ด้วย”

“เพราะ EEC คือ ศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนั้น โรงงานผลิตแบตเตอรี่อัจฉริยะ และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จึงควรอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อประหยัดค่าขนส่ง หรือค่าโลจิสติกส์ นอกจากการขยายโรงงานแล้ว ทาง GPSC ยังมีแผนที่จะจัดตั้ง R&D Center ในพื้นที่เดียวกันกับโรงงานด้วย”

จากนั้น วรวัฒน์ ซีอีโอของ GPSC ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการดำเนินการผลิตเพื่อตอบโจทย์เทรนด์พลังงานสะอาด ว่า

“วิสัยทัศน์ของทุกองค์กร ที่อยู่ภายใต้ กลุ่ม ปตท. มีความชัดเจนว่า เราจะมุ่งเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่โลกอนาคต และพลังงานในโลกอนาคตต้องเป็นพลังงานที่สะอาด ดีต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และนี่ก็คือทิศทางของ GPSC และทุกหน่วยงานในกลุ่ม ปตท. กำลังดำเนินไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ความพยายามที่จะทำให้เกิด Eco-system ของการผลิต ยานยนต์ EV อย่างในบทบาทของ GPSC ที่ทำอยู่ คือ การเป็นแกนนำทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ที่ตอบโจทย์เทรนด์พลังงานสะอาด ซึ่งเรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป”

“โดยการเปิดตัวโรงงานผลิตแบตเตอรี่อัจฉริยะ ของ GPSC ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ S-curve Business ที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Eco-system โดยเฉพาะการใช้พลังงานที่เราเชื่อมั่นว่าโลกกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางนั้น อย่างหลักการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแนวทางการลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด”

“อย่างเทคโนโลยี 24 M เป็นเทคโนโลยีที่ทาง GPSC ได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว จนมาในวันนี้ เราได้พิสูจน์แล้วว่าแนวคิดนี้สามารถนำมาใช้ได้จริง โดย 24M เป็นแบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันเหตุไฟฟ้าลัดวงจรจากภายในเซลล์แบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี

ด้วยโครงสร้างที่มีชั้นฟิล์มพิเศษห่อหุ้มภายใน Unit Cell และด้วยสูตรการผลิตแบบ SemiSolid ลดขั้นตอนการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่ G-Cell ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะป้อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปด้วย”

“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำ (Energy Management Solution Provider) ของประเทศ” วรวัฒน์ กล่าวในที่สุด

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/07/22/gpsc-semisolid-industry-in-eec/