บทบาทของสถาบันการศึกษากับภารกิจขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

Share

Loading

มทร.ธัญบุรี กับการพัฒนาพลเมืองอัจฉริยะ

ถ้าหากเราจะกล่าวถึงพื้นฐานของการพัฒนาสังคมหรือประเทศชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือเรื่องการศึกษา เพราะ “คน” ถือเป็นต้นทางที่จะก่อให้เกิดการสร้างสรรค์หรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมือง ชุมชน หรือสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งแน่นอนว่าหน่วยงานที่จะเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือสถาบันการศึกษานั้นเอง

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือ มทร.ธัญบุรี ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ภายใต้ชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา จนกระทั้งในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ผศ.ดร.สมหมาย กล่าว…

ปัจจุบันนี้ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล มีอยู่ด้วยกัน 9 แห่ง โดยบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระไม่ได้ขึ้นตรงต่อกัน และมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือโดยมี มทร.ธัญบุรี เป็นศูนย์กลาง

“เรามีภาคีมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชมงคลทั้ง 9 แห่งในทุก ๆ เดือน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายของนายกสภามหาวิทยาลัยของ 9 ราชมงคล โดยจะประชุมกันทุก ๆ 2 เดือน เพื่อที่จะประสานความร่วมมือ ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเรื่องของวิชาการ และเรื่องของโครงการต่าง ๆ”

ซึ่งตลอดระยะเวลา 46 ปีที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ถือเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความเชี่ยวชาญ (high skill) ในสาขาอาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นกำลังพลสำคัญในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“ปัจจุบัน เรามีคณาจารย์อยู่ 1,014 ท่าน มีบุคลากรสนับสนุน 1,126 ท่าน และมีนักศึกษาที่อยู่ในระหว่างศึกษาในระดับปริญญาตรี โท เอก รวมกันแล้วกว่า 26,000 คน”

สถาบันการศึกษาแห่งนวัตกรรม อันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

 “เรามีเป้าหมายในการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม หรือ Innovative Universities ซึ่งจะมุ่งเน้นที่การสร้างบัณฑิตให้เป็น นวัตกร เพื่อออกไปสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาประเทศชาติต่อไป ดังนั้น ทุกคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น คณาจารย์ บุคลากร ตลอดจนนั้นศึกษา จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเรียน การสอน งานวิจัย และการช่วยเหลือชุมชน”

สำหรับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาออกไปนั้น มทร.ธัญบุรี จะมุ่งเน้นในทักษะที่สอดคล้องกับนโยบายของการพัฒนาประเทศ อันได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีอยู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ โดยหลักสูตรการสอนต่าง ๆ ก็ได้มีการปรับปรุงใหม่เพื่อเท่าทันสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น หลักสูตรบริหารงานก่อสร้าง รวมถึงยังมีการเน้นทักษะในเรื่องของภาษาต่างประเทศ และทักษะด้าน IT

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเองยังได้มีการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างคณะต่าง ๆ เพื่อให้เกิดหลักสูตรใหม่ ๆ ที่เท่าทันต่อโลกแห่งการทำงานจริง และยังมีการสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อส่งนักศึกษาออกไปฝึกประสบการณ์ในการทำงานเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา

สถาบันการศึกษา กับการ พัฒนาชุมชน

 ถ้ามองในแง่ของภารกิจขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะนั้น ผศ.ดร.สมหมาย กล่าวว่า…

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในส่วนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตลอดจนในภาคอุตสาหกรรม และการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะทำโครงการอันสนับสนุนให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ลงไปพัฒนาชุมชน

 “เรามีโครงการที่น่าสนใจอยู่โครงการหนึ่ง ที่มีชื่อว่า U2T – หนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย โดยเราได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ในการที่จะเอาองค์ความรู้และเทคโนโลยีลงไปพัฒนาตำบลต่าง ๆ โดยในส่วนของ มทร.ธัญบุรี เราได้ส่งนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อลงไปพัฒนาชุมชนต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัย โดยเราจะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิทัศน์ การจัดการสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาคนในชุมชน ภายใต้การดูแลของคณะสถาปัตยกรรมที่จะบูรณาการร่วมกับคณะอื่น ๆ”

โครงการที่ยั่งยืน... การพัฒนาที่ยั่งยืน

 “เราวางแผนเอาไว้ว่า โครงการต่าง ๆ นั้น เราจะทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าชุมชน จะมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น ในบางชุมชนที่เราลงไป ถ้าเขามีปลาเยอะ เราจะส่งเสริมองค์ความรู้ในการแปรรูป เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งอาจจะมีการใช้เทคโนโลยี ใช้การขายออนไลน์ หรือการสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดเป็นระบบอุตสาหกรรมภายในชุมชนขึ้น โดยเราจะสอนให้คนในชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ บนพื้นฐานของความรู้และเทคโนโลยี”

“โครงการเหล่านี้จะต้องอาศัยความร่วมมือ และทำความเข้าใจกับชุมชนเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยในช่วงเริ่มต้นนั้น มหาวิทยาลัยจะเข้าไปช่วยสนับสนุน ทั้งองค์ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่หลังจากนั้นแล้ว คนในชุมชนจะต้องเรียนรู้ และดำเนินงานด้วยตัวเอง โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน หรือเป็นที่ปรึกษา ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะชุมชนจะต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้ จึงจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

บทบาทของ คณะสถาปัตยกรรม

 อ.ณัฏฐกฤษฏ์ ศุภกรพินธคุปต์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการด้าน Smart City ซึ่ง มทร.ธัญบุรี กำลังดำเนินการอยู่

โดย อ.ณัฏฐกฤษฏ์ กล่าวว่า…”สำหรับโครงการ Smart City ที่มหาวิทยาลัยได้ลงไปทำกับชุมชนนั้น เราเริ่มต้นจากความร่วมมือกันของ 8 คณะในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะทำโครงการพัฒนาชุมชน ชุมชนเคหะคลองรังสิตและตลาดริมคลอง ภายใต้ชื่อโครงการ ธัญบุรี ชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะ รื่นรมย์”

โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่าต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว สร้างทัศนียภาพที่ดีให้กับชุมชน โดยเริ่มต้นจากบริเวณริมคลองรังสิตซึ่งมีความยาวตลอดแนว รวมถึงจะมีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แม่น้ำลำคลองมีความสะอาด และจะนำวัชพืชมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

รวมถึง โครงการดังกล่าวยังเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ ทำให้กับนักศึกษาได้มีโอกาสลงไปสัมผัสและทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ด้านการทำงาน ตลอดจนรู้จักการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ไปบูรณาการเพื่อใช้งานจริง

แนวทางส่งเสริม Smart City ในอนาคต

 “สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ผมได้เสนอท่านอธิการบดีในเรื่องของการส่งเสริมให้ มทร.ธัญบุรี ก้าวไปสู่การเป็นต้นแบบของ Smart University หรือมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Security เป็นต้น”

“โดยในช่วงเริ่มแรกนั้น เราอาจจะทำเรื่องเดียวก่อนก็ได้ และเมื่อเราทำในมหาวิทยาลัยสำเร็จแล้ว เราก็จะมีการขยายผลไปที่ชุมชนท้องถิ่น อย่างตอนนี้เราก็มี ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ซึ่งคณะเทคโนโลยีการเกษตรดูแลอยู่ เราก็สามารถที่จะประสานความร่วมมือกันในการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรหรือ Smart Farm เพราะเป็นสิ่งที่สอดคล้องบริบทของชุมชนโดยรอบ เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานียังถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีการทำเกษตรอยู่เป็นจำนวนมาก”

นอกจากนี้ ในส่วนของจังหวัดปทุมธานีเอง ก็มีนโยบาย Smart Learning City เพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็น ศูนย์กลางอาณาจักรแห่งการเรียนรู้ เพราะพื้นที่แห่งนี้ในอนาคตจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถาบันการด้านศึกษาและหน่วยงานด้านวิชาการหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี พิพิธภัณฑ์บัว พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า บึงพระรามเก้า พิพิธภัณฑ์ข้าว พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ กรมพลศึกษา วัดปัญญานันทาราม ร้านกาแฟชายทุ่ง รวมถึงสวนสัตว์นานาชาติแห่งใหม่ที่จะเปิดในอนาคต

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าจังหวัดปทุมธานีจะกลายเป็นอาณาจักรแห่งการเรียนรู้ระดับประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีก็จะเข้าไปเชื่อมต่อนโยบายเพื่อสร้างความร่วมมือ และสนับสนุนในด้านองค์ความรู้หรือนวัตกรรม โดยจะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนา Smart City ให้เกิดขึ้นจริงได้ และภารกิจดังกล่าวนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งจะนำพาสังคมไปสู่ความเข้มแข็ง และเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน